คิริน ยักษ์ใหญ่เบียร์ญี่ปุ่น ยุติสัมพันธ์บริษัทเมียนมาคู่สัญญา หลังกองทัพรัฐประหารซูจี
คิริน โฮลดิงส์ ผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่จากญี่ปุ่น แถลงเมื่อวันศุกร์ (5 ก.พ.) ว่ากำลังยกเลิกสัญญาการเป็นพันธมิตรกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของเมียนมาชื่อ เมียนมา อีโคโนมิก โฮลดิงส์ หลังจากกองทัพเมียนมารัฐประหารรัฐบาลที่มีนางออง ซาน ซูจี เป็นผู้นำ เมื่อวันจันทร์ (1 ก.พ.)
"สถานการณ์ในปัจจุบัน เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยุติการร่วมทุนในขณะนี้กับเมียนมา อีโคโนมิกส์ โฮลดิงส์ เพราะบริษัทนี้ให้บริการการจัดการกองทุนสวัสดิการแก่กองทัพเมียนมา" คิริน ระบุ
ก่อนหน้านี้ องค์การสหประชาชาติเคยระบุว่า เจ้าของบริษัทเมียนมาแห่งนี้ ที่มีอยู่หลายคน เป็นสมาชิกกองทัพเมียนมาทั้งสิ้น เหตุนี้ทำให้ที่ผ่านมา คิรินได้รับแรงกดดันให้ยุติการเป็นพันธมิตรกับ เมียนมา อีโคโนมิก โฮลดิงส์ มาโดยตลอด
แม้แต่ก่อนการรัฐประหาร กลุ่มด้านสิทธิมนุษยชน อย่างเช่น แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ก็เรียกร้องให้คิรินและบริษัทอื่นๆ ตัดสัมพันธ์กับเมียนมา อีโคโนมิก โฮลดิงส์ แล้ว ซึ่งคิรินก็ตอบสนองด้วยการจ้างผู้ตรวจสอบภายนอกมาประเมินธุรกิจ ก่อนแถลงเมื่อเดือน พ.ย. 2563 ว่าจะหยุดจ่ายค่าตอบแทนที่ได้จากบริษัทร่วมทุนดังกล่าวให้กับ เมียนมา อีโรโนมิก โฮลดิงส์ แต่ไม่ได้ตัดสินใตว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรต่อไป
ยังไม่หนีเมียนมา
ถึงอย่างนั้น คิรินก็แถลงเมื่อวันศุกร์ (5 ก.พ.) ว่าการยุติสัญญาการเป็นพันธมิตรกับเมียนมา อีโคโนโนมิก โฮลดิงส์ ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะออกจากตลาดเมียนมา
แม้เมียนมาจะทำยอดขายให้คิรินได้ไม่ถึง 5% แต่ก็เป็นตลาดเบียร์เพียงไม่กี่ตลาดที่ยอดขายของคิรินเติบโต ขณะที่ยอดขายในประเทศญี่ปุ่นกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะประชากรที่มีอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
"เราตัดสินใจลงทุนในเมียนมาเมื่อปี 2558 เพราะเชื่อว่า เราจะมอบสิ่งดีๆ ให้กับผู้คนและเศรษฐกิจของเมียนมาผ่านธุรกิจของเรา และตอนที่เข้ามาลงทุนในขณะนั้นเพราะมองว่าเมียนมากำลังกลายเป็นประชาธิปไตย"
"เราหวังว่าจะหาวิธีที่จะทำให้เรายังได้รับใช้เมียนมาและชาวเมียนมาในอีกหลายปีต่อจากนี้เช่นเดิม" คิริน ระบุ