ผู้หญิงมีสิทธิแค่ไหน ภายใต้กฎหมายทำแท้ง 4 ประเทศทั่วโลก
กว่า 45% ของการทำแท้งทั่วโลก คือ “การทำแท้งไม่ปลอดภัย” และมีปัจจัยมาจากหลาย ๆ สาเหตุ เช่น กฎหมายที่เอาผิดผู้หญิง, การเข้าไม่ถึงบริการที่ปลอดภัย หรือการตีตราของสังคม ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ผู้หญิงต้องเผชิญหน้ากับอันตรายจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตของผู้หญิงทั่วโลก
ด้วยเหตุนี้ ในหลายประเทศจึงเริ่มมีกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้อย่างปลอดภัย แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่จำกัดสิทธิการทำแท้งของผู้หญิงมากขึ้น Sanook จึงรวบรวม 4 ประเทศล่าสุดที่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องกฎหมายการทำแท้ง เพื่อดูว่าผู้หญิงมีสิทธิในการเลือกทางเดินชีวิตของตัวเองมากแค่ไหน ภายใต้กฎหมายทำแท้งของประเทศนั้น ๆ
โปแลนด์
ประเทศโปแลนด์มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และถือเป็นประเทศที่มีกฎหมายห้ามทำแท้งเข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป โดยอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถขอยุติการตั้งครรภ์ได้เพียง 2 กรณีเท่านั้น คือการตั้งครรภ์ที่เกิดจากการกระทำผิดทางเพศ ซึ่งต้องมีคำสั่งของอัยการ และการตั้งครรภ์นั้นได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ หากไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น การทำแท้งทุกกรณีถือว่าผิดกฎหมาย
กฎหมายของโปแลนด์ไม่ได้ระบุโทษของผู้หญิงที่ทำแท้ง แต่มีโทษสำหรับผู้ที่จ่ายยา หรือทำแท้งให้กับผู้หญิง ซึ่งโทษสูงสุดคือการจำคุก กฎหมายที่เข้มงวดในประเทศจึงทำให้ผู้หญิงโปแลนด์เดินทางไปทำแท้งที่ต่างประเทศ หรือเลือกทำแท้งผิดกฎหมาย มากกว่า 200,000 คนต่อปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญของโปแลนด์ได้มีคำวินิจฉัยว่า การทำแท้งในกรณีที่ทารกในครรภ์มีความพิการรุนแรงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ส่งผลให้ประเทศโปแลนด์กลายเป็นประเทศที่ “ห้ามทำแท้งเกือบทุกกรณี”
ผู้หญิงโปแลนด์หลายหมื่นคนออกมาประท้วงกฎหมายดังกล่าว ซึ่งกลายเป็นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งกฎหมายดังกล่าวได้ และล่าสุด รัฐบาลโปแลนด์ก็ประกาศบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา
อาร์เจนตินา
ประเทศอาร์เจนตินามีผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมากกว่า 92% ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้การทำแท้งถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ขัดกับคำสอนของศาสนา ขณะที่กฎหมายก็อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ ในกรณีที่ถูกข่มขืน หรือมีความเสี่ยงต่อชีวิตของมารดาเท่านั้น โดยผู้ฝ่าฝืนกฎหมายอาจถูกตัดสินจำคุกสูงถึง 4 ปี ทว่าในแต่ละปี ผู้หญิงอาร์เจนตินาราว 500,000 คน เลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์แบบผิดกฎหมาย
หลังจากการต่อสู้มาอย่างยาวนาน และความพยายามยื่นร่างกฎหมายอนุญาตทำแท้งถูกกฎหมายในปี 2018 ถูกตีตกไป วุฒิสภาของอาร์เจนตินาก็มีมติ 38 ต่อ 29 เสียง ผ่านร่างกฎหมายทำแท้ง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมปีที่แล้ว โดยกฎหมายฉบับนี้ ระบุให้การทำแท้งสามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากอายุครรภ์ไม่เกิน 14 สัปดาห์ และรัฐบาลได้ประกาศบังคับใช้กฎหมายเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา
การตัดสินใจผ่านร่างกฎหมายทำแท้งของอาร์เจนตินา สร้างความยินดีให้กับผู้หญิงในประเทศที่ใช้ “สีเขียว” เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้เรียกร้องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ ยังเป็นสัญญาณแห่งความหวังให้กับประเทศในแถบลาตินอเมริกา ต่อประเด็นเรื่องการทำแท้งถูกกฎหมายอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม อาร์เจนตินาไม่ใช่ประเทศเดียวในแถบลาตินอเมริกาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเรื่องกฎหมายทำแท้ง แต่ในประเทศโคลอมเบีย ชิลี และเม็กซิโก ก็กำลังขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
สหรัฐอเมริกา
การทำแท้งในสหรัฐฯ สามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย หลังจากคดี Roe v Wade ซึ่งเป็นคำตัดสินสำคัญของศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ในปี 1973 โดยรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ คุ้มครองเสรีภาพของหญิงตั้งครรภ์ในการเลือกทำแท้งได้โดยไม่ละเมิดข้อห้ามทางกฎหมาย และให้สิทธิแก่ผู้หญิงในการเลือกทำแท้ง จนกว่าตัวอ่อนในครรภ์จะสามารถมีชีวิตนอกมดลูกได้ หรือประมาณ 24 สัปดาห์
แม้รัฐธรรมนูญของประเทศจะอนุญาตให้สามารถทำแท้งได้โดยถูกกฎหมายในทุกรัฐ และกำหนดให้ต้องมีคลินิกให้บริการทำแท้งอย่างน้อยรัฐละ 1 แห่ง ทว่าแต่ละรัฐก็มีกฎหมายเรื่องการทำแท้งที่แตกต่างกันไป โดยจะระบุช่วงอายุครรภ์ที่สามารถทำแท้งได้ หรือปัจจัยอื่น ๆ ในการขอเข้ารับบริการทำแท้ง เป็นต้น ซึ่งในหลาย ๆ รัฐก็มีความพยายามที่จะทำให้การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ในสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เขาได้อนุมัตินโยบายลดเงินสนับสนุนของรัฐบาลกลางสำหรับการทำแท้ง เช่นเดียวกับห้ามนำงบประมาณนโยบายวางแผนครอบครัวไปสนับสนุนองค์กรที่ให้บริการทำแท้ง พร้อมกันนี้ ทรัมป์ยังขยายนโยบาย Mexico City หรือ Global Gag Rule ที่ยกเลิกงบประมาณจากรัฐบาลในการสนับสนุนกลุ่มที่ให้บริการทำแท้งต่างชาติ ขณะเดียวกัน เขาก็เสนอชื่อ “เอมี บาร์เร็ตต์” ขึ้นเป็นผู้พิพากษาศาลสูงคนใหม่ ซึ่งเธอมีชื่อเสียงเรื่องการต่อต้านการทำแท้ง จึงสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายว่า กฎหมายทำแท้งของสหรัฐฯ จะถูกพลิกกลับ
อย่างไรก็ตาม หลังจากโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาได้ลงนามในคำสั่งยกเลิกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งของทรัมป์ และระบุว่า เขาจะให้ความสำคัญกับสิทธิเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง
ไทย
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และ 305 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา วุฒิสภาก็ได้ผ่านร่างกฎหมายทำแท้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดให้หญิงที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่หากอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ผู้หญิงจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ หากอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ และหญิงยืนยันจะทำแท้ง สามารถทำได้หลังจากเข้าไปตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดขึ้นมาตามคำแนะนำของแพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายป้องกันการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น
แม้กฎหมายทำแท้งของไทยจะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อย และมีราชกิจจานุเบกษา โปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2564 ให้อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้ ตามหลักเกณฑ์มาตรา 305 ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 แต่หลายฝ่ายที่ทำงานขับเคลื่อนในประเด็นเรื่องการทำแท้ง และสิทธิมนุษยชนก็มองว่า กฎหมายทำแท้งของไทยยังไม่เคารพสิทธิของผู้หญิงอย่างเพียงพอ เนื่องจากการทำแท้งที่ยังคงกำหนดโทษอยู่ ไม่ได้ให้อำนาจในการตัดสินใจแก่ผู้หญิงอย่างแท้จริง พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่เอาผิดผู้หญิงไปเลย
“การทำให้การทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทำให้การทำแท้งดูเป็นเรื่องแย่ การแก้กฎหมายเปิดเพดานให้ผู้หญิงทำแท้ง แต่ยังทำให้ผู้หญิงเป็นอาชญากร ส่งผลให้การเข้าถึงการทำแท้งเป็นเรื่องที่ซับซ้อน อีกทั้งยังเป็นการจำกัดสิทธิเนื้อตัวร่างกายและจำกัดการตัดสินใจเรื่องสุขภาพของผู้หญิง” เอมิลี่ ประดิจิต ผู้อำนวยการมูลนิธิมานุษยะ กล่าวในงานเสวนา “มองการทำแท้งด้วยสิทธิมนุษยชน” เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา