ยื้ออีกยก! มติรัฐสภา 366 ต่อ 315 ส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้หรือไม่
ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสามารถตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับหรือไม่ โดย ส.ส.ไพบูลย์ นิติตะวัน ยืนยันว่าทำได้เพียงแก้ไขรายมาตราเท่านั้น
วันนี้ (9 ก.พ.) ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอเสนอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) เกี่ยวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นญัตติที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอ
ล่าสุดเมื่อเวลา 14.24 น. ที่ผ่านมา ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติ 366 เสียง ต่อ 315 เสียง เห็นชอบให้ส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมีสมาชิกรัฐสภา 15 คนที่งดออกเสียง จากผู้ร่วมประชุมทั้งสิ้น 696 คน
โดยหลังจากนี้ ประธานรัฐสภาจะส่งคำร้องของนายไพบูลย์และนายสมชาย ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป
"ไพบูลย์" ย้ำ รธน.ไม่เปิดทางร่างฉบับใหม่ ทำได้เพียงแก้รายมาตรา
ก่อนหน้านี้ ส.ส.ไพบูลย์ เสนอเหตุผลว่า การยื่นญัตติในครั้งนี้ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งหลังจากที่ตนเองได้ทำหน้าที่เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาก่อนรับหลักการ ก็พบประเด็นข้อกฎหมายว่า รัฐสภาจะมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 256 ไม่ได้บัญญัติให้รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราเท่านั้น ขณะเดียวกันก็มีข้อโต้แย้งกัน
ตนจึงเห็นว่าหากไม่มีการดำเนินการให้ชัดเจนว่ารัฐสภามีอำนาจหรือไม่ ตนเป็นห่วงว่าจะมี ส.ว. อาจจะเกรงว่ามีปัญหา เมื่อไม่ชัดเจนในการลงมติวาระ 3 ก็อาจจะไม่กล้าที่จะให้ความเห็นชอบอาจงดออกเสียง ทำให้ได้เสียงเห็นชอบในการผ่านร่างรัฐธรรมนูญไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ นายไพบูลย์ ยังกล่าวอีกว่า แม้จะมีสมาชิกรัฐสภาหลายท่านไม่เห็นด้วยในการส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่บอกว่าให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญหลังจากพิจารณาวาระ 3 เสร็จแล้ว ซึ่งจะต้องไปทำประชามติ ตนก็เห็นว่าต้องไปส่งศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดีแต่จะต้องเสียเงิน 3,000 ล้านบาท หากศาลวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดำเนินการไม่ได้ ดังนั้นการที่ยื่นญัตติฉบับนี้ก็เพื่อทำความชัดเจน ก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนการทำประชามติ
ดังนั้นเมื่อรัฐสภามีมติญัตตินี้แล้วขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ และก่อนหน้านี้มีบันทึกความเห็นของกรรมการกฤษฎีกา ต่อผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีความเห็นให้ยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18-22/2555 และคำวินิจฉัยที่ 15-18/2556 ดังนั้นกรณีที่เป็นปัญหาจึงควรส่งญัตติให้วินิจฉัยโดยด่วน ทั้งนี้ ญัตตินี้ไม่ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองชั่วคราวหรือให้ชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังดำเนินต่อไปได้
“หากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าทำได้ จะทำให้ ส.ว.สบายใจ และการลงมติวาระ 3 ไม่มีปัญหา แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจจัดทำฉบับใหม่ และแก้ไขได้เพียงรายมาตราเท่านั้น ผมเสนอให้ตั้ง กมธ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ของรัฐสภา ซึ่งจะแก้ไขกว่า 100 มาตราได้ เชื่อว่าจะไม่เสียเวลาและงบประมาณจำนวนหมื่นล้านบาท” นายไพบูลย์ กล่าว