“The Wildbook for Whale Sharks” ฐานข้อมูลอนุรักษ์ฉลามวาฬ ด้วยเทคโนโลยีของ NASA

“The Wildbook for Whale Sharks” ฐานข้อมูลอนุรักษ์ฉลามวาฬ ด้วยเทคโนโลยีของ NASA

“The Wildbook for Whale Sharks” ฐานข้อมูลอนุรักษ์ฉลามวาฬ ด้วยเทคโนโลยีของ NASA
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ฉลามวาฬ” ถือเป็นสัตว์ขวัญใจนักดำน้ำทั่วโลก และได้รับการคุ้มครองในหลายประเทศ ทว่าในช่วง 75 ปีที่ผ่านมา ประชากรฉลามวาฬลดลงกว่า 50% และตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ เนื่องจากอุตสาหกรรมประมงในทะเล ที่มีการล่าฉลามวาฬและอุบัติเหตุจากการทำประมง รวมถึงการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การถูกเรือพุ่งชน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ คนหลายพันคนทั่วโลกสามารถมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์เจ้ายักษ์ใหญ่ใจดีชนิดนี้ ผ่านการถ่ายภาพฉลามวาฬและส่งเข้าไปยังฐานข้อมูลออนไลน์ ซึ่งช่วยให้นักวิจัยสามารถเก็บข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ของประชากรฉลามวาฬและเส้นทางการอพยพของพวกมัน

The Wildbook for Whale Sharks ฐานข้อมูลภาพถ่ายฉลามวาฬออนไลน์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2003 เพื่อรวบรวมภาพถ่ายของฉลามวาฬในแต่ละพื้นที่ โดยฝีมือของสมาชิกที่ประกอบด้วยประชาชนทั่วไป นักวิทยาศาสตร์ และผู้จัดทัวร์ชมฉลามวาฬ โดยขณะนี้มีการป้อนข้อมูลเข้ามายังฐานข้อมูลมากกว่า 70,000 ครั้ง จากกว่า 50 ประเทศ ถือเป็นหนึ่งในโครงการอนุรักษ์ที่ระดมข้อมูลจากผู้คนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

แบรด นอร์แมน นักชีววิทยาทางทะเลที่ศึกษาเรื่องฉลามวาฬมานานกว่า 25 ปี ผู้ร่วมก่อตั้ง The Wildbook for Whale Sharks กล่าวว่า ภาพฉลามวาฬที่ส่งเข้ามาจะถูกวิเคราะห์โดยอัลกอริธึม จากการสแกนจุดและลวดลายบนผิวหนังของฉลามวาฬ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวเหมือนลายนิ้วมือของมนุษย์ อัลกอริธึมจะระบุตัวตนของฉลามวาฬ และค้นหาในฐานข้อมูล เพื่อหาลายที่ตรงกัน และสามารถระบุที่อยู่และเส้นทางการอพยพของเหล่าฉลามวาฬได้

อัลกอริธึมดังกล่าวพัฒนามาจากเทคโนโลยีขั้นแรกของโครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลของ NASA ซึ่งสามารถทำงานกับฉลามวาฬได้อย่างดี เนื่องจากลวดลายบนผิวหนังของฉลามวาฬมีลักษณะเหมือนดวงดาวบนท้องฟ้า นอกจากนี้ นอร์แมนยังกล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่และเส้นทางการอพยพของฉลามวาฬจะช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การจัดการการคุ้มครองสัตว์ และความร่วมมือจากประชาชนก็เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับโครงการนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook