แนวนโยบายแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญไทย เป็นเรื่องเพ้อฝันที่ไร้ประโยชน์

แนวนโยบายแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญไทย เป็นเรื่องเพ้อฝันที่ไร้ประโยชน์

แนวนโยบายแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญไทย เป็นเรื่องเพ้อฝันที่ไร้ประโยชน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การกำหนดกรอบการทำงานและดำเนินการของรัฐบาลไว้ในรัฐธรรมนูญดูออกจะเป็นเรื่องประหลาดเนื่องจากกรอบของการทำงานนั้นเปลี่ยนแปลงได้เสมอดังนั้นเมื่อกำหนดกรอบการทำงานของรัฐบาลไว้ล่วงหน้านานๆ ในรัฐธรรมนูญ ก็คือการแช่แข็งการบริหารของรัฐบาลนั่นเอง

กล่าวคือรัฐบาลต้องบริหารตามแบบเดิมๆ ตามที่กำหนดกรอบเอาไว้ในรัฐธรรมนูญนั่นเองซึ่งความพยายามที่จะกำหนดกรอบการดำเนินงานให้แก่รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ความจริงไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมา 70 กว่าปีแล้วโดยรู้จักกันในชื่อ "แนวนโยบายแห่งรัฐ" ซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492

ส่วนในต่างประเทศนั้น แนวคิดเรื่องนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนี ฉบับ ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461) หรือที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญไวมาร์ ซึ่งสะท้อนถึงอิทธิพลของแนวคิดสังคมนิยมที่เห็นว่ารัฐควรมีบทบาททางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนเยอรมนี

ต่อมาแนวคิดนี้ได้แพร่ไปยังรัฐธรรมนูญอีกเพียง 7 ประเทศจากประเทศทั้งหมดในโลกร่วม 200 ประเทศ คือไอร์แลนด์ อินเดีย บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ กานา ในจีเรีย รวมถึงประเทศไทยด้วยเท่านั้น แบบว่าประเทศเหล่านี้นิยมการแช่แข็งวิธีการทำงานและดำเนินการโดยห้ามรัฐบาลคิดทำอะไรใหม่หรือแปลกออกไปขึ้นมาได้เลย

ดังนั้นหลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 แล้วรัฐธรรมนูญฉบับถาวรทุกฉบับของไทยหลังจากนั้นต่างก็มีบทบัญญัติเรื่อง "แนวนโยบายแห่งรัฐ" นี้ตลอดมา และทุกๆ ครั้งที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่แนวนโยบายแห่งรัฐเหล่านี้ก็ต้องแข่งขันกันให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกฉบับไปเป็นแบบน้ำท่วมทุ่งลงไปถึงเรื่องปลีกย่อยที่ไม่สำคัญถึงขั้นต้องกำหนดในรัฐธรรมนูญ

ในขณะที่รัฐธรรมนูญเองก็กำหนดว่าบทบัญญัติในส่วนแนวนโยบายแห่งรัฐนี้เป็นเพียง แนวทางในการตรากฎหมายและกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องรัฐจึงทำให้แนวนโยบายแห่งรัฐไม่ต่างอะไรกับข้อความที่แบบพล่ามเพ่อไร้สาระไม่สามารถที่จะนำมาปฏิบัติได้ ทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับนับตั้งแต่ พ.ศ. 2492  เป็นต้นมายืดยาวจนเกินไปและเปล่าประโยชน์โดยสิ้นเชิง

เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 จึงได้มีความพยายามแก้ไขปัญหานี้ เป็นต้นว่าได้ตัดทอนจำนวนนโยบายลงให้เหลือเฉพาะเรื่องที่สำคัญจริงๆ แล้วเรียกชื่อใหม่ว่า "แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ"

ทั้งยังตัดข้อความที่แสดงว่าไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายออกและได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติม เช่น การให้สิทธิประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อดำเนินตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ กำหนดให้นโยบายของรัฐบาลต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รวมถึงการจัดตั้งองค์กรเพื่อติดตามการดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นต้น และรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550 ก็ยังคงบทบัญญัติแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐนี้ไว้ด้วย โดยมีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย

แต่ในความเป็นจริงแม้จะมีการเสนอกฎหมายโดยประชาชนไปเกือบ 50 ฉบับ แต่มีเพียง 8 ฉบับเท่านั้นที่ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาจนประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ แต่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขจนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายนั้นจำแทบไม่ได้ว่าเป็นกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอขึ้นไป

ประเทศไทยเคยมีการรัฐประหารมาแล้วทั้งสิ้น 13 ครั้ง โดย 9 ครั้งได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้นทั้งฉบับ

การรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อกลางปี 2557 มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 เลือกใช้คือการอาศัยบทบัญญัติว่าด้วย แนวนโยบายแห่งรัฐ กำหนดให้มีการจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน และกำหนดให้มีกลไกควบคุมทางการเมืองอื่น ๆ อีกหลายประการเพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติมีผลบังคับได้จริง

ปัจจุบันมีการตราพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 20 ปี โดยกำหนดให้แผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติที่ประกาศใช้แล้วมีผลผูกพันต่อการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐทั้งหลาย ซึ่งรวมถึงรัฐสภา ศาล องค์กรอิสระรวมทั้งองค์กรอัยการด้วย รวมทั้งผูกพันต่อจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ต้องสอดคล้องกับแผนแม่บท

นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการติดตามตรวจสอบการไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยกำหนดความรับผิดแก่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้น ๆ ทั้งในทางอาญาและวินัยอีกด้วย

ครับ! ก็ปรากฏว่าใช้การไม่ได้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ที่ผ่านมา  ผู้เขียนจึงอยากเสนอว่าให้ตัดเรื่องแนวนโยบายแห่งรัฐออกจากรัฐธรรมนูญเสียเพื่อที่จะไม่ทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยืดยาวมากจนเป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวเป็นอันดับ ที่ 5 ของโลกเท่านั้นแหละครับ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook