สธ.แถลงการเสียชีวิต "หมอปัญญา" คาดรับเชื้อจากน้ำลายผู้ป่วย แทรกซึมหน้ากากอนามัย
สธ.แถลงการเสียชีวิต "หมอปัญญา" คาดรับเชื้อจากน้ำลายผู้ป่วย ขอให้เป็นกรณีศึกษาของบุคลากรทางการแพทย์ ให้ระวังตัวเองอย่างเข้มงวด
(18 ก.พ.64) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยรายละเอียดการเสียชีวิตของ นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ แพทย์เกษียณอายุ 66 ปี ที่ติดเชื้อโควิด-19 จากการตรวจรักษาคนไข้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จากกลุ่มคลัสเตอร์งานเลี้ยงโต๊ะแชร์ ซึ่งมารับการรักษาที่คลินิกในจังหวัดมหาสารคาม โดย นพ.ปัญญา มีโรคประจำตัว คือ มะเร็งต่อมลูกหมาก ไขมันในเลือดสูง ถุงลมปอดโป่งพอง ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยดูแลตัวเองมาตลอด โดยการเปิดคลินิกเพื่อรักษาผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยไตเทียม
สำหรับไทม์ไลน์การป่วยของ นพ.ปัญญา มีดังนี้
- 13 – 28 ม.ค.64 ตรวจรักษาผู้ป่วยที่คลินิก โดยที่ไม่ทราบว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 คน มารับการตรวจด้วย เนื่องจากขณะนั้น ผู้ป่วยยังไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อและไม่ได้แจ้งว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อ
- 28 ม.ค.64 ช่วงเย็น ทราบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มารักษาที่คลินิก นพ.ปัญญา จึงปิดคลินิกและกลับบ้านทันที โดยแยกกักตัวเพื่อป้องกันเชื้อแพร่ไปยังคนอื่น
- 29 ม.ค.64 ไปตรวจหาเชื้อครั้งแรก แต่ไม่พบเชื้อ จึงกลับมากักตัวที่บ้านต่อ
- 31 ม.ค.64 เริ่มมีอาการป่วย ครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะเป็นไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- 1 ก.พ.64 ไปตรวจหาเชื้ออีกครั้ง พบว่าติดเชื้อโควิด-19
- 2 ก.พ.64 เข้ารับการรักษาที่ รพ.มหาสารคาม ผลเอ็กซเรย์พบว่าปอดยังไม่อักเสบ ทีมแพทย์จึงรักษาตามอาการ และให้ยาฆ่าเชื้อไวรัส ซึ่งตอนแรก นพ.ปัญญามีอาการดีขึ้น
- 3 ก.พ.64 อาการทรุดลง มีไข้ ปอดอักเสบ มีอาการไตวาย ต้องฟอกเลือด
- 7 ก.พ.64 มีอาการปอดอักเสบ ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ อาการทรุดลงเรื่อยๆ จนต้องส่งไปรักษาต่อที่ รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ทั้งปอด ไต ตับ ทำงานแย่ลง
- 16 ก.พ.64 เริ่มมีการติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อรา บ่งบอกว่าผู้ป่วยมีภูมิต้านทานไม่ดี ระบบปอดทำงานแย่ลง ปอดทำงานหนักขึ้น ระบบหัวใจเต้นผิดจังหวะและหัวใจล้มเหลว
- 18 ก.พ.64 นพ.ปัญญา เสียชีวิต คณะแพทย์ลงความเห็นว่า เสียชีวิตจากโควิด-19 และมีภาวะแทรกซ้อนจากระบบหายใจ หลอดเลือดล้มเหลว
รองอธิบดีกรมการแพทย์ ย้ำว่า กรณีของ นพ.ปัญญา จะเป็นบทเรียนให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป เพราะทราบจากภรรยาของ นพ.ปัญญา ว่า ปกติ นพ.ปัญญาจะใส่หน้ากากอนามัยและเฟซชิลด์ขณะตรวจรักษาคนไข้ แต่เนื่องจากมีผู้ป่วยโควิด 1 คนที่มารับการตรวจ เพราะมีไข้หลายวัน จึงจำเป็นต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียด เช่น ให้คนไข้อ้าปากเพื่อดูการอักเสบในคอ ให้ร้องเสียงอา เพื่อดูการเคลื่อนไหวของลิ้นไก่ ให้หายใจแรงๆ เพื่อดูว่ามีภาวะปอดอักเสบหรือไม่ ทำให้อาจมีละอองฝอยหรือน้ำลายของผู้ป่วยสัมผัสหรือแทรกซึมระหว่างรอยต่อของหน้ากากอนามัย
ดังนั้น จึงเป็นบทเรียนให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ไม่ว่าจะปฎิบัติงานที่ไหน จะต้องระวังตัวเองอย่างเข้มงวด เช่น การสวมชุดป้องกัน การสวมหน้ากากอนามัยและการใส่เฟซชิลด์ให้มิดชิด รวมทั้งสถานที่ตรวจโรคต้องมีการระบายอากาศและการเว้นระยะห่างกับผู้ป่วย
ส่วนประชาชนทั่วไป ก็ถือเป็นบทเรียนว่า หากตัวเองมีความเสี่ยงไปในที่มีผู้ติดเชื้อ หรือใกล้ชิดสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ จะต้องแจ้งประวัติกับแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์อย่างตรงไปตรงมา ไม่ปิดบัง รวมทั้งต้องระวังสุขภาพของตัวเอง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว พร้อมกันนี้ ทีมสาธารณสุข ได้แสดงความเสียใจ พร้อมขอบคุณภรรยาและครอบครัวของ นพ.ปัญญา ที่อนุญาตให้เปิดเผยประวัติของคุณหมอ เพื่อเป็นกรณีศึกษาสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ในการป้องกันตัวเอง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.63 ซึ่งมีการระบาดรอบใหม่ มีบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว จำนวน 36 คน โดยกระจายอยู่เกือบทุกสหวิชาชีพ ที่มากที่สุดคือพยาบาล ส่วนใหญ่มีปัจจัยจากการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อ