“กลุ่มชายขอบ” ในเมียนมาลุกฮือ “ต่อต้านรัฐประหาร” หลังมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากการชุมนุม
วันเสาร์ที่ผ่านมา (20 ก.พ.) สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศเมียนมาได้ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านต่างร่วมกันหาวิธีแก้ไขวิกฤตดังกล่าว โดยประเทศอินโดนีเซียเสนอตัวจัดประชุมเพื่อหาทางออกและฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศเมียนมา
การประท้วงต่อต้านรัฐประหารที่โค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเกิดขึ้นทั่วประเทศเมียนมา ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 แม้ว่ากองทัพเมียนมาจะให้สัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ และส่งมอบอำนาจให้กับผู้ชนะการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม การประท้วงเริ่มรุนแรงขึ้น และมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมเสียชีวิต 1 ราย ในวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังโดนยิงเข้าที่ศีรษะระหว่างที่เข้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม ในกรุงเนปิดอว์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ขณะนี้ ผู้ชุมนุมในประเทศเมียนมาออกมาเรียกร้องให้ใช้รัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง ปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี และยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2008 ซึ่งให้กองทัพมีบทบาทสำคัญทางการเมือง ไม่เพียงเท่านั้น ผู้นำเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์นาคา (Naga) เผยว่า ผู้ชุมนุมยังเรียกร้อง “ระบบรัฐบาลกลาง” ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากประเทศเมียนมายังอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ
เช่นเดียวกับ กลุ่มชาติพันธุ์ชีน (Chin) ก็ออกมาแสดงจุดยืน 4 ข้อเรียกร้อง นั่นคือ ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2008 ยกเลิกการปกครองเผด็จการ จัดตั้งระบบรัฐบาลกลาง และปล่อยตัวผู้นำทุกคน
นอกจากนี้ยังมีสมาชิกของกลุ่ม LGBTQ+ ของเมียนมามาร่วมชุมนุมประท้วงในครั้งนี้อีกด้วย โดยใช้วิธีการประท้วงที่สร้างสรรค์ เช่น การแต่งตัว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร แคนาดา และนิวซีแลนด์ ได้ประกาศคว่ำบาตรประเทศเมียนมาเป็นที่เรียบร้อย โดยพุ่งเป้าไปที่ผู้นำทหาร ซึ่งรวมทั้งการห้ามเดินทางเข้าประเทศและระงับทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศนั้น ๆ ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นและอินเดีย ก็ร่วมกันเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนโดยเร็ว
ทางด้านกองทัพเมียนมา ก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาตอบกลับมาตรการคว่ำบาตรของต่างประเทศ โดยโฆษกของกองทัพระบุว่ามีการคาดการณ์การคว่ำบาตรไว้แล้ว
ทั้งนี้ สำนักข่าวซินหัว ได้รายงานว่า นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีนก็ต่อสายตรงถึงนายเรทโน มาร์ซูดิ รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศอินโดนีเซีย เพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์ในประเทศเมียนมา พร้อมให้การสนับสนุนข้อเสนอของอินโดนีเซีย ที่พร้อมจะดำเนินงานประสานงานกับประเทศในอาเซียนเพื่อลดสถานการณ์ที่กำลังบานปลาย