คุยกับ ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ เจาะลึกภารกิจ NT ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ประเทศดิจิทัล

คุยกับ ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ เจาะลึกภารกิจ NT ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ประเทศดิจิทัล

คุยกับ ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ เจาะลึกภารกิจ NT ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ประเทศดิจิทัล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปลายปีที่ผ่านมา ประเด็นที่กลายเป็น Talk of the town ในวงการไอทีคงหนีไม่พ้นเรื่องการควบรวมสองหน่วยงานโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และ  บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ  TOT เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ส่งผลให้เป็นบริษัทที่มีโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรมากที่สุดและมีมูลค่าสินทรัพย์มากถึง 300,000 ล้านบาท ยังเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถือหุ้น 100% โดยกระทรวงการคลัง จดทะเบียนบริษัทอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 7 ม.ค. 64

ควบรวมเพื่ออะไร ใครได้ประโยชน์ รวมไปถึงประเด็นการถือครองโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรที่สุดจะขับเคลื่อนและผลักดันการสื่อสารและดิจิทัลในประเทศไทยให้ก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดได้อย่างไร ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT อธิบายถึงความจำเป็นในการควบรวมครั้งนี้ก็เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนของภาครัฐ เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และตั้งเป้าให้ NT เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนนโยบายของรัฐในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและความมั่นคงของประเทศ  

“เดิมทีทั้งสององค์กรเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ให้บริการด้านโทรคมนาคมและดิจิทัลเหมือนกัน ซึ่ง CAT จะมุ่งเน้นไปที่การให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ในขณะที่ TOT เน้นที่การสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศ เมื่อเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง ขอบเขตการให้บริการของสององค์กรเริ่มทับซ้อนกัน ในเมื่อมีผู้ถือหุ้นรายเดียว การควบรวมย่อมเกิดประโยชน์มากกว่า อย่างแรกคือ การลงทุนของภาครัฐก็ลดความซ้ำซ้อน การผนึกรวมโครงสร้างก็นำมาซึ่งผลดีแก่ผู้ใช้บริการ หน่วยงานรัฐหรือองค์กรที่เราให้บริการก็ได้รับบริการที่ดีขึ้น เสถียรภาพในการให้บริการย่อมดีขึ้น”  

“การควบรวมที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ หลายธุรกิจถูก Disrupt และหายไป ธุรกิจที่มองเห็นโอกาสและพร้อมจะทรานส์ฟอร์มก็รอด ทั้ง TOT และ CAT เล็งเห็นว่านี่เป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะทรานส์ฟอร์มทั้งสององค์กรให้แข็งแกร่งขึ้น สามารถฝ่ากระแสการถูก Disrupt หรือแม้แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วงนี้และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การควบรวมเป็น NT เปรียบเสมือนการปรับตัวครั้งสำคัญ เพื่อสร้างบทบาทของผู้เล่นในตลาดให้สามารถกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยให้ขับเคลื่อนและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปได้

การควบรวมครั้งนี้ NT ยังคงเป็นหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.ดนันท์ กล่าวถึงรูปแบบการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรที่หลอมรวมจุดแข็งของสององค์กรให้กลายเป็น DNA ที่ชัดเจนในแบบของ NT

“เรื่องบุคลากรถือเป็นเรื่องที่ท้าทายในการควบรวมสององค์กร เนื่องจาก TOT และ CAT เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่ทั้งคู่ จำนวนบุคลากรเยอะ และต่างก็มีพื้นฐานที่ดี มีจุดแข็งและสิ่งดีๆ ที่ต้องรักษาไว้ ช่วงแรกมีการส่งตัวแทนพนักงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน มาศึกษาวิธีการทำงานซึ่งกันและกัน เพื่อเรียนรู้ระบบงาน แลกเปลี่ยนทักษะที่ดีของทั้งสององค์กร อีกทั้งในปัจจุบันมีเครื่องมือสำหรับการติดต่อสื่อสารเปรียบเสมือน Magnet ที่อำนวยความสะดวกในการประสานงานรูปแบบ Innovation Learning เน้นการสร้างระบบงานที่มีความยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองต่อปัจจัยและการแข่งขันภายนอกอย่างรวดเร็ว  เน้นให้พนักงานสร้างการเรียนรู้ในธุรกิจ เพื่อความคล่องตัว เพิ่มประสิทธิภาพ และร่วมกันช่วยเสริมสร้างการทำงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นทีมเวิร์กมากยิ่งขึ้น” 

“วัฒนธรรมองค์กรยังต้องสอดคล้องไปกับวิสัยทัศน์ของ NT นั่นคือ การเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนและยกระดับการสื่อสารและดิจิทัลให้กับประเทศ เพราะฉะนั้นวิสัยทัศน์ที่ปักธงไว้ จึงเป็นเป้าหมายในการร้อยเรียงให้เกิดเป็น DNA ของคนในองค์กร เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

จนถึงปัจจุบัน NT ไม่เพียงเดินหน้าวางโครงสร้างพื้นฐานภายในองค์กรให้แข็งแกร่ง แต่ได้เริ่มดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนและยกระดับการสื่อสารแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่

ช่วงแรกเริ่มตั้งแต่วันควบรวมเริ่มกิจการ (7 ม.ค. 64)

  • จัดทำโครงสร้างองค์กร NT เน้นการทำงานอย่างต่อเนื่องจากก่อนการควบรวมกิจการเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับผู้ใช้บริการ
  • ออกแบบระบบการให้บริการร่วมกันในบางส่วนซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน และเกี่ยวข้องกับลูกค้าโดยตรง อาทิ ระบบ Contact Center เพื่อการให้บริการ/การอำนวยความสะดวก และการแจ้งเหตุขัดข้องในการให้บริการ , ระบบการชำระเงิน โดยจุดให้บริการบางส่วนได้ดำเนินการรวมระบบเพื่อให้บริการรับชำระค่าบริการทั้งบริการ CAT และ TOT เดิมได้ ประกอบไปกับจุดให้บริการที่สามารถส่งผ่านข้อมูลการรับชำระถึงกันเพื่อสะดวกต่อการติดต่อชำระค่าบริการของลูกค้าได้ทั้งศูนย์บริการของ CAT และ TOT
  • เปิดตัว NT Official Branding ซึ่งมีเป้าหมายเป็นแบรนด์ของผู้ให้บริการดิจิทัลหลักของไทยที่มีความพร้อมต่อการให้บริการในทุกเซกเมนต์ ทั้งผู้ใช้บริการรายย่อย กลุ่มธุรกิจ และการให้บริการกับภาครัฐเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจไทย
  • การสื่อสารภายในองค์กร สร้างขวัญกำลังใจเพื่อ พนักงานและผู้บริหารทั้งสององค์กรเกิดความร่วมแรงร่วมใจในการเดินหน้าธุรกิจร่วมกันในนาม NT

ช่วงที่ 2 ระยะเวลาประมาณ 9 เดือนหลังวันเริ่มกิจการ

  • บริหารการเปลี่ยนแปลงขององค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความพร้อม สำหรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ เน้นการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ช่วงที่ 3 เป็นช่วงการควบรวม NT โดยสมบูรณ์ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี นับจากวันควบรวม

  • แผนงานที่วางได้แก่ ควบรวมสินทรัพย์ และปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อความเหมาะสม, ควบรวมระบบบัญชี ระบบ IT ระบบ HR กฎระเบียบข้อบังคับ, ปรับกระบวนการทำงาน, หล่อหลอมวัฒนธรรมของทั้ง 2 องค์กร และใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงฐานลูกค้าในปัจจุบันให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ดร.ดนันท์ ยังกล่าวถึงการให้บริการของ NT ในอนาคตว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมกับคู่ค้า, หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเหล่าลูกค้าแน่นอน เพราะ NT จะรับโอนกิจการ, สิทธิ์, หนี้สิน, ความรับผิดชอบ และสินทรัพย์ของ CAT และ TOT มาทั้งหมด โดย NT จะพร้อมสานต่อการดำเนินอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้บริการลูกค้าเดิมตามปกติ

สิ่งที่จะได้เห็นแน่นอนคือความพร้อมในการให้บริการที่หลากหลายเพิ่มขึ้นและสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องในทุกบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการด้าน Voice service อาทิ บริการโทรศัพท์ประจำที่ บริการ Business fixed line บริการ IP Phone บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศผ่านรหัส 001, 007, 008, 009 และบริการ Cloud PBX ที่สามารถตอบโจทย์การทำงานในช่วง Work from home ลดความเสี่ยงจาก COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดย NT จะเร่งพัฒนาบริการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นทั้งคุณภาพบริการ ราคา ความสะดวก และพื้นที่ที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพความเร็วที่มากกว่าและเร็วกว่า พร้อมให้บริการควบคู่กับ Innovation รูปแบบใหม่ ซึ่งไม่ได้ให้บริการเพียงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านไฟเบอร์ ออปติก 100% (FTTx) อย่างเดียวเท่านั้น”  

“NT Broadband จะเป็นจุดเริ่มการสร้างศักยภาพในการให้บริการที่แข็งแกร่งที่สุด โดยเฉพาะบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ที่ให้บริการบนเกตเวย์ (Gateway) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย”

ประเด็นสุดท้ายที่เกี่ยวโยงกับภารกิจหลักของ NT คือ เมื่อ NT ถือครองโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรที่สุดและยังมาพร้อม 7 จุดเด่นที่เหนือชั้น ได้แก่ 1. เสาโทรคมนาคมกว่า 25,000 ต้น ทั่วประเทศ  2. เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศเชื่อมต่อไปยังทุกทวีป 3. ถือครองคลื่นความถี่หลักเพื่อให้บริการรวม 6 ย่านมีปริมาณ 600 เมกะเฮิรตซ์  4. ท่อร้อยสายใต้ดินมีระยะทางรวม 4,600 กิโลเมตร 5. สายเคเบิลใยแก้วนำแสง 4 ล้านคอร์กิโลเมตร  6. Data Center 13 แห่งทั่วทุกภูมิภาค และ 7. ระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เข้าถึงจากทุกประเทศทั่วโลก ไร้ข้อจำกัดแบบเดิม เชื่อมโยงโลกการสื่อสารเข้าด้วยกัน ทั้งหมดนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนและผลักดันการสื่อสารและดิจิทัลในประเทศไทยให้ก้าวสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างไร

จะเห็นว่าที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนภาครัฐด้วยดิจิทัล อาทิ แอปฯ เป๋าตัง เราชนะ มาช่วยซัพพอร์ตนโยบายต่างๆ การมีดิจิทัลรองรับนโยบายเพื่อให้บริการแก่ประชาชน ประชาชนก็สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ได้บริการที่รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น หน้าที่สำคัญของ NT คือสร้างบริการที่ดีเพื่อให้คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง หากคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น มีผลต่อ GDP ก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการสร้างงาน หารายได้ด้วยตัวเองจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ตลาด e-commerce เติบโตขึ้น และสถานการณ์โควิด-19 ก็เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทุกวันนี้ WFH ต้องใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในการทำงาน หรือนักเรียนต้องเรียนออนไลน์ การที่ NT เข้ามาช่วยผลักดันตรงนี้ก็ยิ่งมีโอกาสขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น” 

“ตอนนี้ NT พยายามผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Digital Hub ของภูมิภาคเอชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นจากโครงการที่ทำไปอย่าง Digital Park Thailand มีการดำเนินการที่ศรีราชา ตั้งใจที่จะสร้างเมืองดิจิทัล ดึงนักลงทุนเข้ามา มีการจ้างงานมากขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ให้ได้”  

“การขับเคลื่อนไปสู่ดิจิทัล ไม่ใช่แค่เอาดิจิทัลมาใช้แล้วเราจะเป็น Digital Transformation เลย มันเป็นการเปลี่ยนกระบวนการ เปลี่ยนวัฒนธรรม และต้องได้รับความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนจากทุกองค์กร การที่รัฐบาลจะก้าวไปสู่ดิจิทัล ความเชื่อมโยงของแต่ละหน่วยงานต้องเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี่ยังเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงาน จึงต้องใช้เวลาเพื่อจะก้าวไปพร้อมๆ กัน วันนี้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงแล้ว เริ่มเห็นโครงการต่างๆ ของรัฐบาล เช่น Thailand National Single Window ซึ่ง NT เป็นผู้ดำเนินการในการนำเข้า ส่งออก ปัจจุบันระบบทั้งหมดของกรมศุลกากรเป็นอิเล็กทรอนิกส์หมดแล้ว จากนี้หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ก็จะนำมาปรับใช้มากขึ้น เมื่อมากขึ้นจนถึงจุดหนึ่ง จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Network Effect ใครไม่เข้ามาอยู่ก็จะได้รับผลกระทบ เพราะทุกคนอยู่ในระบบที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์หมดแล้ว”

ดร.ดนันท์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากนี้ไป NT จะกลายเป็น Digital Transformation ของภาครัฐ เสริมศักยภาพให้ประเทศไทยแข็งแกร่งสู่กับนานาประเทศได้ “เพราะเราปฎิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของสื่อสารโทรคมนาคม เรื่องดิจิทัล เป็นโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ที่ทำให้ประเทศขับเคลื่อนและมีศักยภาพมากขึ้น สำคัญที่สุดคือ ต้องไม่ละเลยพื้นฐานนั่นคือ ดูแลประชาชน ทำอย่างไรให้คนไทยทุกคนเข้าถึงบริการด้านการสื่อสารและเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง”

[Advertorial] 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook