สัมมนาวุฒิค้านแก้รธน. อ้างไม่เกิดสมานฉันท์
สัมมนาวุฒิถกแก้รธน.ใครได้ใครเสีย"ส.ว.-อดีตส.ส.ร.-อดีตคมช."ค้านแก้รธน. อ้างไม่เกิดสมานฉันท์ฯ ด้านพท.แจงเหตุกลับลำ เพราะรัฐบาลแทงกั๊ก
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมาธิการการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน และคณะกรรมาธิการสามัญศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 วุฒิสภา ร่วมกับมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดสัมมนาเรื่อง "แก้ไขรัฐธรรมนูญ : ใครได้ใครเสีย" โดยมีส.ว.และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนเข้าร่วมรับฟัง
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา และอดีต ส.ส.ร. 50 กล่าวว่า ใน 6 ประเด็นที่กรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฎิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอ มีเพียงประเด็นเดียวที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน คือมาตรา 190 อีก 5 ประเด็น ที่เหลือเกี่ยวข้องกับการแก้กฎเกณฑ์กติกาที่เกี่ยวกับนักการเมือง แก้เสร็จแล้วนำไปสู่การยุบสภา ไปเลือกตั้งใหม่ เพื่อหวังเข้ามายึดครองอำนาจรัฐ ไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องการสมานฉันท์ และประชาชนไม่ได้อะไรเลย
ส.ส.ร.40 ระบุทำประชามติเป็นแค่ปรารถนาดีของนายกฯ
นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีต ส.ส.ร.40 กล่าวว่าการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้มั่วผิดปกติ นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เจ้ากี้เจ้าการอยากให้มีการแก้ไข แต่กลับให้ส.ส.และส.ว.เป็นผู้ดำเนินการ เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดในการแบ่งอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ นอกจากนั้นการที่เสนอให้มีการทำประชามติ ก็เป็นเพียงความปรารถนาดีส่วนตัวของนายกฯ ทั้งที่มติของกรรมการสมานฉันท์ฯ ไม่ได้ระบุไว้ และไม่ได้ผูกมัดคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภาเลย ที่สำคัญการใช้งบถึง 2 พันล้านบาทในภาวะเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง จะคิดถึงความรู้สึกของประชาชน และประโยชน์ที่ได้จะคุ้มค่าหรือไม่
นายบุญเลิศ กล่าวอีกว่า ถือเป็นยุทธศาสตร์ของนายกฯ ที่ดึงความสนใจของประชาชนทั้งประเทศให้สนใจกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ลืมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีปัญหา ที่สำคัญการหากมีการทำประชามติจะต้องใช้เวลาที่ยาวนาน โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็จะใช้เวลานานออกไปอีก อย่างไรก็ตาม 6 ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญของกรรมการสมานฉันท์ฯ ไม่มีทางที่จะทำให้บ้านเมืองสมานฉันท์ได้ เพราะมูลเหตุเกิดจากวิกฤติจากรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกทำปฎิวัติ
ขณะนี้เมื่อวิปฝ่ายค้านถอนตัวออกมาจากวิป 3 ฝ่ายแล้วเหลือเพียงวิปรัฐบาลและวิปวุฒิสภา วุฒิสภาก็ควรที่จะหารือกันว่าจะปล่อยให้รัฐบาลนายอภิสิทธ์เดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปได้ เรื่อยๆ หรือจะระงับ ตนคิดว่ารัฐบาลจะต้องยุติความคิดในการแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น ล้มเลิกความคิดที่จะทำประชามติเพื่อประหยัดงบประมาณ และเลิกใช้รัฐธรรมนูญปี 40 มาเป็นเกมทางการเมืองเพื่อกลบเกลื่อนปัญหาให้ตัวเองอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ
ย้ำรธน.ปี50เหมาะที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัส ดิ์ อดีตรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานข่าวกรองแห่งชาติ และกลุ่มสยามสามัคคี กล่าวว่ารัฐธรรมนูญปี 40 เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจกับรัฐบาลค่อนข้างมาก ทั้งนี้มีบุคคลบางกลุ่มที่เอารัฐธรรมนูญที่ได้มาไปใช้ในทางป้องกันการตรวจสอบ ซึ่งการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 40 ทำให้ส.ส.ไม่เห็นความสำคัญของการประชุมรัฐสภา ต่างไปจากรัฐธรรมนูญปี 50 ทำให้ส.ส.เห็นความสำคัญของการประชุม ตนมองว่ารัฐธรรมนูญปี 50 จะทำให้ความใกล้ชิดของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมากว่าปี 40 และกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกมาอุดรอยรั่วของรัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งรัฐธรรมนูญ 50 ถือว่าเหมาะสมที่สุดที่จะมาปรับใช้ในปัจจุบัน
ส่วนประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเพราะว่าถูกกดดัน แต่ท้ายที่สุดเชื่อว่าจะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่นอน สิ่งสำคัญคือการใช้รัฐธรรมนูญปี 40 มาเป็นเครื่องมือของฝ่ายค้านในการหาเสียงเพื่อให้เกิดความแตกแยก เช่นเดียวกับการถวายฎีกาของพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ทำขึ้นเพื่อสร้างความแตกแยก
คมช. ยันแก้รธน.50 ไม่ทำให้ชาติได้ประโยชน์
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตหัวหน้าสำนักงานอดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช .) กล่าวว่า ที่มาของส.ส.และส.ว.ในปัจจุบัน มาจากรัฐธรรมนูญ 50 แต่ในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญนั้นคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก็ไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวกับเนื้อหาใดๆ เพียงแต่เข้าไปปรับบางส่วนเท่านั้น มีหลายข้อที่ไม่ได้ปรับและแก้ไข ซึ่งเราก็พยายามจะเปลี่ยนเผด็จการให้เป็นประชาธิปไตย สิ่งที่อยากให้แก้คือที่มาของนายกฯ เพราะไม่อยากกำหนดให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง เพราะว่านักเลือกตั้งจะเตะคนดีออกนอกอเวจี เพราะคนดีเหล่านี้จะไม่ซื้อเสียง ซึ่งจะเห็นว่านักการเมืองดี ๆ ในสภา มีไม่มากเท่าไหร่นัก ถ้าอยากให้เป็นประชาธิปไตยจริง ๆ นายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากการเป็นส.ส. เพราะฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนเห็นด้วยถ้าหากแก้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ แต่หากแก้เพื่อให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือพรรคใดพรรคหนึ่งให้ได้ประโยชน์ก็ไม่ควรแก้
"คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอ 6 ประเด็นนั้นผมยังไม่เห็นว่ามีข้อใดทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์ อย่างเช่นการแก้ไขมาตรา 237 ผมไม่เห็นด้วยที่มองว่าใครทำผิดก็ลงโทษเฉพาะตัวบุคคล อย่าไปเหมารวมยุบทั้งพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค เพราะคิดว่าพรรคการเมืองถือเป็นส่วนสำคัญหากไม่สนับสนุนเรื่องเงิน นักการเมืองก็ไม่สามารถซื้อเสียงได้ ดังนั้นมาตรานี้จึงเป็นการแก้ไขให้นักการเมืองที่เข้ามาเป็นส.ส.โดยไม่สุจริต เพราะฉะนั้นหากจะแก้ควรแก้เกี่ยวกับนักการเมืองที่ซื้อเสียง โดยให้ประหารชีวิตทางการเมือง โดยห้ามลงเลือกตั้งตลอดชีวิต รัฐธรรมนูญเดิมที่ระบุให้นักการเมืองที่ทำผิดต้องตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีน้อยไป บุคคลเหล่านี้ไม่ควรอยู่ได้นาน เพราะ 5 ปีไม่สามารถแก้สันดานนักการเมืองเลวๆ ได้ ที่สำคัญกรรมการบริหารพรรคเป็นตัวสำคัญยิ่งที่จะต้องลงโทษ " พล.อ.สมเจตน์ กล่าว
กลุ่ม 40สว.ชี้รัฐบาล-ฝ่ายค้าน เล่นเกมการเมือง
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ตนเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญวิปทั้ง 2 ฝ่าย ควรหารือกันให้รู้เรื่องก่อน ไม่ใช่มาเล่นเกมการเมืองช่วงชิงประโยชน์กันเอง เพราะจุดประสงค์จริง ๆ ของฝ่ายค้านก็เพียงเพื่อต้องการให้มีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ขณะที่รัฐบาลก็ต้องการเป็นรัฐบาลนานๆ ดังนั้นจึงยังไม่สามารถหาทางออกได้
ต้านรธน.ปี50มาใช้ปี40แค่กลลวง
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สสร.50 กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 50 ถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานของการแก้ปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ในฐานะที่ร่วมร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 40 มีข้อดีมาก ขณะนี้มีบางฝ่ายพยายามต่อต้านรัฐธรรมนูญปี 50 เพื่อให้กลับมาใช้รัฐธรรมนูญปี 40 นั้นแค่เป็นกลลวง ความจริงไม่ได้ต้องการ มีนักการเมืองบางคนปากบอกว่าไม่ชอบรัฐธรรมนูญปี 50 แต่ตัวเองก็ยังใช้อยู่ ถ้าไม่ชอบจริง ๆ ก็อย่าหน้าด้านใช้
ทั้งนี้รัฐธรรมนูญมีปัญหาจากคนใช้ จนทำให้บ้านเมืองต้องวุ่นวาย รัฐสภากลายเป็นระบอบเผด็จการ อย่างไรก็ตามตนอยากให้รัฐบาล และรัฐสภาหันมาให้ความสำคัญกับการออกกฎหมายสำคัญๆ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาสังคม แทนที่จะใช้เวลาเพื่อหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของนักการเมืองเพียงอย่างเดียว เพราะตนเชื่อว่าไม่ว่าจะมีรัฐธรรมนูญกี่ฉบับ หากนักการเมืองไม่เปลี่ยนคงไม่สามารถสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นได้
เพื่อไทยยันท่าทีรัฐบาลแก้รธน.ไม่ชัดเจน
ขณะที่นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นด้วยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้เกิดปัญหามาก โดยต้นตอเป็นเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการรัฐประหาร ดังนั้นเมื่อต้องการให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น 2 ระยะ โดยให้มีการแก้ไขใน 6 ประเด็นก่อน ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ามีแต่ผลประโยชน์ของนักการเมือง แต่ทั้งนี้อยากอธิบายว่าเมื่อนักการเมืองได้ก่อน ประชาชนก็จะได้ประโยชน์ต่อมา
นอกจากนี้เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ จะต้องเปิดโอกาสให้มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ก็จะทำให้ตัดปัญหาเรื่องที่มาของรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม อย่างไรก็ตามสาเหตุ ที่พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนใจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นท่าทีความไม่ชัดเจนของรัฐบาล ดังนั้นจึงเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญ 40 กลับมาใช้แทน อีกทั้งขอยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแน่นอน