อินเดียจ่อแขวนคอหญิงคนแรกรอบ 66 ปี เหตุฆ่าญาติดับ 7 ศพ ฉุนกีดกันแต่งงานกับคนรัก

อินเดียจ่อแขวนคอหญิงคนแรกรอบ 66 ปี เหตุฆ่าญาติดับ 7 ศพ ฉุนกีดกันแต่งงานกับคนรัก

อินเดียจ่อแขวนคอหญิงคนแรกรอบ 66 ปี เหตุฆ่าญาติดับ 7 ศพ ฉุนกีดกันแต่งงานกับคนรัก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นางสาวชาบนาม อาลี ครูอายุ 38 ปี ชาวรัฐอุตตรประเทศ กำลังจะกลายเป็นผู้หญิงคนแรกของอินเดียในรอบ 66 ปี ที่ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ หลังจากร่วมมือกับคนรักชื่อ นายซาลีม ฆ่าญาติของตัวเองถึง 7 คน เมื่อปี 2551

ก่อนเกิดเหตุ นายซาลีมและนางสาวซาบนามกำลังจะมีลูกด้วยกัน จึงต้องการแต่งงานกัน แต่ครอบครัวของนางสาวชาบนามขัดขวาง เพราะเห็นว่านายซาลีมไม่สมฐานะกับครอบครัว

ทั้งคู่มีความผิดด้วยการวางยาพ่อ แม่ พี่ชาย 2 คน และภรรยาพี่ชายทั้ง 2 ของนางชาบนาม จากนั้นใช้ขวานสับจนเสียชีวิต

จากนั้นก็บีบคอหลานอายุ 10 เดือน คนขาดใจตาย รวมฆ่าไปทั้งสิ้น 7 คน

ลูกอายุ 12 หาทางช่วยแม่พ้นเพชฌฆาต

ขณะนี้ ลูกของทั้ง 2 คน ซึ่งก็คือ เด็กชายตัจ วัย 12 ปี พยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตแม่เอาไว้ ด้วยการอุทธรณ์ไปยังผู้ว่าการรัฐอุตตรประเทศและประธานาธิบดีอินเดีย นายราม นาถ โกวินท์ ให้เมตตาและอภัยโทษแม่ของตน

เด็กชายตัจเกิดออกมาระหว่างที่นางสาวชาบนามถูกคุมขัง และหลังจากอายุครบ 6 ปี ก็ต้องออกไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ตามกฎหมายอินเดีย แต่เมื่อมีโอกาสมาเยี่ยมนางสาวชาบนามที่เรือนจำก็ตัดสินใจอุทธรณ์คำสั่งประหารชีวิต

"ตอนผมเจอแม่เมื่อวันอาทิตย์ แม่บอกให้ผมเรียนหนังสือให้เก่งแล้วเป็นคนดี" เด็กชายตัจเผยต่ออาหรับนิวส์

ขึ้นแท่นหญิงถูกประหารคนที่ 2

นางสาวชาบนามและนายซาลีมได้รับการพิพากษาประหารชีวิตเมื่อปี 2553 จากนั้นทั้งคู่ก็สู้คดีต่อหลายครั้งแต่ก็ไม่เป็นผล ต่อมาเมื่อปี 2559 นายประนาบ กุมาร มุขรจี ประธานาธิบดีอินดียในขณะนั้น ก็ปฏิเสธคำร้องขออภัยโทษ

ถ้าหากนางสาวชาบนามถูกแขวนคอ ก็จะกลายเป็นผู้หญิงคนที่ 2 ของประเทศที่ถูกประหารชีวิต หลังจากอินเดียได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2490 

ด้านนายอุซมัน ไซฟี เพื่อสมัยมหาวิทยาลัยของนางสาวชาบนามที่อุปถัมภ์เด็กชายตัจ บอกว่า เมื่อไม่นานมานี้นางสาวชาบนามเพิ่งบอกเป็นครั้งแรกว่าตัวเองไม่ได้ฆ่าญาติ เจ้าหน้าที่ควรสอบสวนเรื่องราวให้ดีกว่านี้

"ชาบนามเพิ่งพูดถึงคดีครั้งแรก แต่ตอนที่ถามเมื่อปี 51 เธอไม่ยอมพูดอะไร" นายอุซมัน เผย

เอี่ยวประเด็นศาสนา?

อย่างไรก็ตาม การเตรียมประหารชีวิตครั้งนี้ถูกพูดถึงอย่างมากในอินเดีย ขณะที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ามีประเด็นเกี่ยวกับศาสนามาเกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะนางสาวชาบนามนับถือศาสนาอิสลาม ขณะที่พรรครัฐบาลอินเดีย คือ พรรคภารัติยชนตา ที่มีฐานเสียงเป็นผู้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดุ มักใช้นโยบายชาตินิยมด้วยการปลุกกระแสศาสนา 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook