"ทูตเมียนมา" กล่าวสุนทรพจน์กลางที่ประชุมยูเอ็น เรียกร้องนานาชาติต่อต้านรัฐประหาร
เมื่อวันศุกร์ จอ โม ตุน ทูตเมียนมาประจำองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เรียกร้องให้นานาชาติไม่ยอมรับการก่อรัฐประหารในเมียนมา และใช้ “วิธีที่จำเป็นใดๆ ก็ตาม” เพื่อต่อต้านกองทัพเมียนมา และคุ้มครองความปลอดภัยและความมั่นคงต่อชาวเมียนมา
ทั้งนี้ จอ โม ตุน กล่าวในฐานะคณะกรรมการตัวแทนสมัชชาแห่งสหภาพ ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับการเลือกตั้งจากพรรคสันนิบาติเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ พรรคเอ็นแอลดี ของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำเมียนมาโดยพฤตินัย ผู้ถูกกองทัพโค่นอำนาจ
ทูตเมียนมากล่าวว่า เขาเป็นตัวแทนของพรรคเอ็นแอลดี ซึ่งเป็น “รัฐบาลจากการเลือกตั้งอย่างชอบธรรมและเหมาะสม” และไม่ได้เป็นตัวแทนของกองทัพที่ยึดอำนาจ โดยเขาระบุว่า การก่อรัฐประหารนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและ “ไม่สามารถยอมรับได้ในโลกสมัยใหม่นี้”
เขากล่าวหากองทัพเมียนมาว่า กองทัพกดขี่ประชาชนเป็นเวลาหลายสิบปี โดยใช้ “วิธีการรุนแรงที่ไม่สามารถกล่าวถึงได้” โจมตีกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย และ “การกระทำเหล่านี้เป็นอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างไม่ต้องสงสัย”
จอ โม ตุน กล่าวว่า กองทัพเมียนมายังคงใช้ความรุนแรงต่อไป โดย “โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยิงและสังหารผู้ประท้วงโดยสันติตามท้องถนน ก่ออาชญากรรมต่อพลเรือนโจมตีรถพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมจับกุมสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ออกหมายจับโดยไม่มีเหตุทางกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของชาวเมียนมา”
ทูตเมียนมาขอให้นานาชาติเดินหน้ากดดันรัฐบาลทหารเมียนมาต่อไป และไม่ยอมรับหรือร่วมมือกับทางกองทัพ รวมทั้งสนับสนุนสมาชิกรัฐสภาเมียนมาที่มาจากการเลือกตั้งด้วย
สหรัฐฯ ประณามการทำรัฐประหาร - ชื่นชมทูตเมียนมา
ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ ทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็นคนใหม่ ประณามการทำรัฐประหารและชื่นชม จอ โม ตุน ว่า สุนทรพจน์ของเขานั้น “กล้าหาญ” โดยเธอระบุว่า สหรัฐฯ มีจุดยืนร่วมกับผู้ประท้วงในเมียนมาที่เรียกร้องให้มีรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยอย่างสันติ
ซาแมนธา พาวเวอร์ อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็นชื่นชมทูตเมียนมาผ่านทางทวิตเตอร์ด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า การเรียกร้องให้นานาชาติต่อต้านการทำรัฐประหารในประเทศของเขานั้นมีความเสี่ยงมาก
คริสทีน ชราเนอร์ เบอร์เกเนอร์ ทูตพิเศษของยูเอ็นประจำเมียนมา สรุปสถานการณ์ของเมียนมาต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ โดยเธอประณามการกระทำของกองทัพเมียนมา และระบุด้วยว่า เธอได้พูดคุยกับผู้บัญชาการกองทัพของเมียนมาเกี่ยวกับแผนเดินทางเยือนเมียนมาเพื่อประเมินสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ทางกองทัพเมียนมาขอให้เธอกำหนดการเยือนใดๆ ออกไป
ชราเนอร์ เบอร์เกเนอร์ ระบุว่า การที่กองทัพยังไม่ให้ความร่วมมือให้เธอเดินทางเยือนเมียนมานั้น “แลดูเหมือนว่าพวกเขาต้องการจับกุม (ผู้เห็นต่าง) ครั้งใหญ่ต่อไป และบังคับให้ผู้คนเป็นพยานเพื่อกล่าวหาพรรคเอ็นแอลดี” เธอยังระบุด้วยว่า การกระทำดังกล่าว “โหดร้ายและไม่มีมนุษยธรรม”
เจ้าหน้าที่ยิงปืนขู่ผู้ประท้วง
เมื่อวันศุกร์เช่นกัน ตำรวจและกองกำลังความมั่นคงในนครย่างกุ้ง ยิงปืนขู่เพื่อสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงราว 1,000 คนที่รวมตัวที่ห้างสรรพสินค้าในคืนก่อนหน้าเพื่อประท้วงต่อต้านเจ้าที่รัฐที่รัฐบาลทหารเมียนมาแต่งตั้ง
ผู้ประท้วงถือป้ายและตะโกนคำขวัญต่อต้านการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ แม้ว่ากองกำลังความมั่นคงจะนำเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงมาเตรียมไว้ในบริเวณดังกล่าวก็ตาม
สื่อทางการของเมียนมาและพยานระบุว่า ตำรวจปราบการจลาจลราว 50 นาย เข้าโจมตีผู้ประท้วงและจับกุมผู้ประท้วงอย่างน้อยหนึ่งคน
มีรายงานด้วยว่า ยูกิ คิตะซูมิ ผู้สื่อข่าวอิสระชาวญี่ปุ่น ถูกจับกุมและคุมขังเป็นการชั่วคราว ในขณะที่มีการประท้วงในนครย่างกุ้งเมื่อวันศุกร์ ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา โดย คิตะซูมิ นี้ เป็นผู้สื่อข่าวต่างชาติรายแรกถูกควบคุมตัวนับตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร
ธนาคารโลกระบุเมื่อวันพฤหัสบดีว่า จะไม่จัดสรรงบประมาณให้เมียนมาเนื่องจากมีการยึดอำนาจโดยกองทัพ
เมื่อวันพฤหัสบดี ผู้สนับสนุนกองทัพหลายร้อยคนในนครย่างกุ้งเข้าโจมตีผู้ประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหาร โดยมีการยิงหนังสติ๊กและขว้างปาก้อนหิน ขณะที่พวกเขาเดินหน้าไปยังสภานีรถไฟหลักในตัวเมือง
มีการประท้วงทั่วเมียนมาทุกวันนับตั้งแต่นางซูจีและสมาชิกของรัฐบาลพลเรือนคนอื่นๆ ถูกกองทัพควบคุมตัวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยทางกองทัพเมียนมาอ้างว่า มีการโกงเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งไปอย่างถล่มทลาย
ยูเอ็นระบุว่า มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 150 คนในกรุงเนปิดอว์เมื่อวันจันทร์ โดยสตีเฟน ดูจาร์ริค โฆษกของยูเอ็นระบุว่า ทีมงานของยูเอ็นกำลังติดตามเจ้าหน้าที่การเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ นักเคลื่อนไหว สมาชิกภาคประชาสังึม ผู้สื่อข่าว พระสงฆ์ และนักเรียนนักศึกษากว่า 900 คนที่ถูกควบคุมตัว โดยยูเอ็นเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวกลุ่มบุคคลดังกล่าวในทันที
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศเป็นเวลาหนึ่งปี โดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ระบุว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่เพื่อนำมาซึ่ง “ประชาธิปไตยที่แท้จริงและเป็นระเบียบ” แต่ไม่ได้ระบุว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมายังปฏิเสธข้ออ้างของกองทัพเมียนมาที่ระบุว่ามีการโกงเลือกตั้งเกิดขึ้น