หน่วยข่าวกรองสหรัฐ เผย มกุฎราชกุมารซาอุฯ เป็นผู้อนุมัติปฏิบัติการฆ่าโหด "คาช็อกกี"
รายงานโดยหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ ที่ได้การเผยแพร่ออกมาในวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น ยืนยันว่า มกุฎราชกุมารซาอุดิอาระเบีย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) คือผู้อยู่เบื้องหลังการสังหาร นายจามาล คาช็อกกี (Jamal Khashoggi) นักข่าวของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เมื่อปี ค.ศ. 2018
คาช็อกกี ชาวซาอุฯ ซึ่งมีสถานะเป็นผู้เข้ามามีถิ่นที่อยู่ถาวรชอบด้วยกฎหมายของสหรัฐฯ และมีผลงานเขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์ เดอะ วอชิงตัน โพสต์ นั้น เป็นผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของ มกุฎราชกุมารซาอุฯ ที่มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า MbS อย่างรุนแรงเสมอ
จนกระทั่งถูกสังหารและศพถูกหั่นเป็นชิ้นๆ โดยฝีมือของกลุ่มปฏิบัติการที่มีความเชื่อมโยงกับตัว มกุฎราชกุมารซาอุ ที่สถานกงสุลของซาอุฯ ในนครอิสตันบูล เมื่อปีเกือบ 3 ปีก่อน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกรุงริยาร์ด เฝ้าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวมาโดยตลอด
แต่สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุในรายงานที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของตนว่า “เราประเมินว่า มกุฎราชกุมารซาอุดิอาระเบีย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดิอาระเบีย อนุมัติปฏิบัติการในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เพื่อจับตัว หรือสังหาร จามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวชาวซาอุฯ”
รายงานยังระบุด้วยว่า “เราทำการประเมินดังกล่าวโดยอ้างอิงถึงการที่มกุฎราชกุมารทรงมีอำนาจควบคุมกระบวนการตัดสินใจทั้งหมดในราชอาณาจักรแห่งนี้ และการที่พระองค์มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับที่ปรึกษาหลักและบรรดาสมาชิกทีมรักษาความปลอดภัยของพระองค์เอง รวมทั้งการที่พระองค์ให้การสนับสนุนการใช้มาตรการรุนแรงเพื่อปิดปากผู้ที่เห็นต่างซึ่งอยู่ต่างประเทศ ที่รวมถึง คาชอกกี ด้วย”
ทั้งนี้ การที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน อนุมัติให้รายงานฉบับดังกล่าวเปิดเผยสู่สาธารณะได้ เป็นการแสดงจุดยืนตรงกันข้ามกับอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ปฏิเสธจะเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ทั้งยังเป็นการสะท้อนความเต็มใจของสหรัฐฯ ที่จะท้าทายซาอุดิอาระเบีย ในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ประเด็นสิทธิมนุษยชน ไปจนถึง เรื่องสงครามในเยเมน
รายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้วางแผนการเปิดเผยรายงานออกมาครั้งนี้ไว้อย่างดี ด้วยการให้ ประธานาธิบดีไบเดน โทรศัพท์พูดคุยกับกษัตริย์ซัลมาน พระราชบิดาของมกุฎราชกุมารผู้ทรงอิทธิพล เพื่อยืนยันความเป็นพันธมิตรระหว่างกันที่ยืนยาวมานับทศวรรษ และสัญญาที่จะเดินหน้าร่วมมือกันในหลายๆ ด้านต่อไป ซึ่งเป็นพยายามประคองความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และ ซาอุฯ ไว้ไม่ให้เสียหาย
ขณะที่รัฐบาลกรุงวอชิงตันมุ่งพลิกฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำไว้กับอิหร่านเมื่อปี ค.ศ. 2015 และเดินหน้าหาทางแก้ปัญหาต่างๆ เช่น การเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวรุนแรงชาวมุสลิม รวมทั้งการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างชาติอาหรับและอิสราเอลให้รุดหน้ายิ่งขึ้น
ประธานาธิบดีไบเดน ได้รับปากไว้ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วว่า ตนจะทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุฯ สืบเนื่องจากการฆาตกรรมนายคาช็อกกี และตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ได้สั่งระงับการขายอาวุธให้แก่กองทัพซาอุฯ ที่อาจนำไปใช้ในเยเมนไปแล้วด้วย