“นีน ตเว ยู ออง” มิสยูนิเวิร์สเมียนมา กับชัยชนะของประชาชนเหนือรัฐประหาร

“นีน ตเว ยู ออง” มิสยูนิเวิร์สเมียนมา กับชัยชนะของประชาชนเหนือรัฐประหาร

“นีน ตเว ยู ออง” มิสยูนิเวิร์สเมียนมา กับชัยชนะของประชาชนเหนือรัฐประหาร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานการณ์การเมืองในเมียนมา หลังจากการรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น ภาพความวุ่นวาย ควันไฟ ร่องรอยกระสุนปืน และการเสียชีวิตของประชาชนตัวเล็กๆ ปรากฏบนโลกออนไลน์ ทว่าท่ามกลางความรุนแรงและความเศร้าโศกนั้น ประชาชนทั่วทุกพื้นที่ในเมียนมาได้ประกาศให้โลกรู้ถึงความกล้าที่จะต่อกรกับอำนาจรัฐ แม้แต่คนมีชื่อเสียง ที่ถือว่าเป็นอภิสิทธิชน ก็เดินออกจากเกราะกำบัง มาร่วมช่วงชิงเอาประชาธิปไตยกลับคืนมา

หนึ่งในบรรดาคนดังของเมียนมาที่ออกมาร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชน คือ “นีน ตเว ยู ออง” มิสยูนิเวิร์สเมียนมา ประจำปี 2018 ที่เป็นคนแรกๆ ที่ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร และยังยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “ประชาชนต้องชนะ”

นีน ตเว ยู ออง มิสยูนิเวิร์สเมียนมา ปี 2018นีน ตเว ยู ออง มิสยูนิเวิร์สเมียนมา ปี 2018

สมัยที่เมียนมาอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย บ้านเมืองเป็นอย่างไร

ที่จริงแล้วเรายังไม่มีประชาธิปไตยเต็มใบ 100% นะ เพราะว่ายังมีข้อกฎหมายบางอย่างที่เอื้อประโยชน์ให้กับทหารอยู่ แต่ในระยะเวลา 5 ปี ภายใต้การบริหารของพรรค NLD ที่นำโดยออง ซาน ซูจี เราสัมผัสได้ว่าประชาธิปไตยจะสามารถพัฒนาประเทศของเราได้ ช่วง 5 ปีนั้น เราได้รับการพัฒนาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทัศนคติ การศึกษา วิธีคิดทางการเมือง หรือมุมมองที่เรามีต่อตัวเอง มันเปลี่ยนไปหมด

อย่างที่เห็นในการประท้วงที่เกิดขึ้นช่วงนี้ เรารู้จักดูแลกันเอง รู้จักการรักพี่น้องชาวเมียนมาด้วยกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงศาสนา เชื้อชาติ หรือชาติพันธุ์ เราต่างก็เป็นชาวเมียนมา เป็นพลเมืองของประเทศ

เหตุใดชาวเมียนมาจึงมีความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนได้ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี มีปัจจัยอะไรบ้าง

มีปัจจัยอยู่ 2 อย่าง หนึ่งคือ ออง ซาน ซูจี แสดงให้คนรุ่นใหม่เห็นว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร ที่ผ่านมา คนเจนเอ็กซ์และเจนวายไม่เคยรู้วิธีต่อสู้กับรัฐประหาร และพวกเขาก็พ่ายแพ้ แต่เจนซีจะลุกขึ้นสู้ เพราะพวกเขารู้ว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว และชาวเมียนมาแตกต่างจากคนอื่นๆ ทั่วโลกอย่างไร เราได้เห็นอะไรเยอะมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อีกปัจจัยหนึ่งคือการรัฐประหารโดยกองทัพ เราเผชิญหน้ากับความรุนแรงมากมายในช่วง 1 เดือนนี้ เรารู้ว่ากองทัพมีปัญหาอย่างไร เลวร้ายแค่ไหน ปัจจัยหนึ่งเป็นเรื่องดี อีกปัจจัยเป็นเรื่องแย่ๆ

คุณบอกว่าการรัฐประหารไม่ได้ส่งผลดีต่อประชาชน ทำไมจึงคิดเช่นนั้น

สิ่งที่เราเผชิญมาไม่ใช่แค่การรัฐประหารครั้งนี้ เมื่อราว 50 ปีก่อน ภายใต้รัฐบาลทหาร เราต้องสูญเสียโอกาสทั้งหมด และสิทธิมนุษยชน เพราะรัฐบาลกอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเองและพวกพ้อง ไม่ได้ทำเพื่อประชาชน นอกจากนี้ โลกทุกวันนี้ไม่ยอมรับการรัฐประหารอีกแล้ว การอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจะทำให้ประชาชนมีสิทธิ แต่ภายใต้ระบอบทหาร เราไม่มีสิทธิอะไรเลย

นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ประเทศของเรายังเป็นประเทศกำลังพัฒนา ทั้งที่มันควรจะพัฒนามาตั้งแต่ 50 ปีก่อนแล้ว เพราะเรามีทรัพยากรมากมาย แต่รัฐบาลกลับเอาทรัพยากรเหล่านี้ไปขายให้กับต่างชาติ โดยที่ประชาชนในประเทศไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย รัฐบาลควรจะพัฒนาการศึกษาและสาธารณสุข หรืออะไรก็ตามที่ควรทำ แต่กลับใช้ทรัพยากรที่มีมาหาประโยชน์ให้กับตัวเองและครอบครัว เราจึงยอมรับการรัฐประหารครั้งนี้ไม่ได้อีก

ในฐานะที่เป็นคนมีชื่อเสียง ทำไมถึงออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน ทั้งที่คุณก็สามารถอยู่เฉยๆ เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดก็ได้

ฉันเป็นคนพม่าที่เติบโตในเมืองเล็กๆ ในรัฐฉาน ฉานเป็นชาติพันธุ์หนึ่งในเมียนมาด้วย และคนฉานก็เกลียดทหาร สมัยที่ยังเป็นเด็ก ฉันถูกเพื่อนเหมารวมว่าคนพม่าเป็นพวกเดียวกับทหาร ทำให้ตัวฉันถูกเพื่อนเหยียดไปด้วย ถึงแม้ว่าเพื่อนๆ จะพูดไปตามประสาเด็ก แต่ฉันที่อายุแค่ 10 ขวบ ก็รู้สึกได้ว่าทหารปฏิบัติต่อคนฉานไม่ดีเลย อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เคยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งบุกเข้ามาในบ้านของฉันกลางดึก ขณะที่ทุกคนในบ้านกำลังนอนหลับ เขาเข้ามาโดยที่ไม่ถอดรองเท้า แล้วก็ปลุกพ่อของฉัน เรารู้สึกว่าเขาดูหมิ่นพวกเรา นี่ก็น่าจะเป็นบาดแผลที่ฝังใจของฉัน ทำให้ฉันไม่ชอบทหารและตำรวจ ก็เลยตั้งใจว่าจะสู้กับพวกเขา

พอโตขึ้นมา อายุประมาณ 18 ปี สิ่งที่ฉันเห็นมาตลอดก็คือ เวลาที่ทหารระดับสูงหรือนายกรัฐมนตรีจะบริจาคเงิน แม้แต่เงินจำนวนนิดเดียว ก็ต้องให้ผู้คนมาหมอบกราบเพื่อรับเงิน ส่วนพวกเขาก็นั่งอยู่บนเก้าอี้ นี่เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ทำไมต้องทำกันแบบนี้ พวกเราก็เป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน เราไม่จำเป็นต้องทำแบบนี้

ฉันเป็นมิสยูนิเวิร์สเมียนมา และประชาชนก็ควรรู้ว่าแม้แต่มิสยูนิเวิร์สยังออกมาต่อต้านรัฐประหาร ฉันไม่อาจยอมรับเรื่องนี้ได้ เพราะทหารไม่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ประชาชน แต่แสวงหาผลประโยชน์ให้กับพรรคพวกของตัวเอง เราไม่ควรยอมรับการรัฐประหาร เพราะประเทศควรเป็นของประชาชน อำนาจต้องอยู่ในมือของประชาชน ไม่ใช่รัฐบาลทหาร

คิดว่าคนดังสามารถเปล่งเสียงเรียกร้องได้ดังกว่าคนทั่วไปหรือเปล่า

ใช่ค่ะ เพราะเราเป็นบุคคลสาธารณะ ทุกคนติดตามเรา อยากฟังว่าเราจะพูดอย่างไร ประชาชนหลายคนก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราออกมาพูด ไม่ใช่แค่ฉันเท่านั้น คนที่มีชื่อเสียงมากกว่าฉันก็ควรออกมาส่งเสียงเช่นกัน เพราะพวกเขามีผู้ติดตามมากกว่า

กลัวจะถูกปลดจากงานหรือเสียคะแนนนิยมจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่

ไม่กลัวค่ะ เพราะอนาคตของเราจะไม่มีทางดีขึ้นถ้าประเทศอยู่ในมือของรัฐบาลทหาร ดังนั้น เราจะไม่มีทางประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ถ้าประเทศอยู่ในมือของทหาร ฉันเลยไม่กลัวที่จะออกมาต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้ จะสู้ต่อไปจนกว่าจะชนะ และได้ประชาธิปไตยรวมทั้งสิทธิมนุษยชนกลับคืนมา

ที่เมียนมา คนดังบางคนที่ไม่ได้ออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชนจะถูกคว่ำบาตร อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังคนหนึ่งถูกแบน เพราะว่าพ่อของเธอเป็นอดีตนายทหารระดับสูง ผู้คนต่างก็เลิกติดตามเธอไปเลย

ฉันไม่กลัวอะไรเลย ถ้าต้องติดคุกหรือถูกจับตัวไป ก็เป็นห่วงแม่มากที่สุดค่ะ แม่คงกินไม่ได้นอนไม่หลับ ฉันไม่ได้เป็นห่วงตัวเองเลย ฉันยอมรับทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่กังวลและกลัวที่สุดคือ ประชาชนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อคณะรัฐประหาร เพราะทุกสิ่งจะไม่มีทางดีขึ้นเมื่ออำนาจอยู่ในมือพวกเขา

ข้อดีของการเคลื่อนไหวแบบอารยะขัดขืนคืออะไร

การเคลื่อนไหวแบบอารยะขัดขืนเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการต่อสู้กับการรัฐประหาร โดยสันติและปราศจากความรุนแรง เราไม่จำเป็นต้องออกไปบนถนนก็ได้ อย่างไรก็ตาม อารยะขัดขืนในเมียนมายังคงอยู่ที่ 70% เท่านั้น ยังไม่ถึง 100% หากถึง 100% เมื่อไร จะไม่มีทหารหลงเหลืออยู่เลย พวกเขาต้องออกไป

สิ่งที่เราชอบมากในการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารของเมียนมา คือความคิดสร้างสรรค์ในการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการแกล้งรถเสีย หรือการที่ประชาชนเดินเก็บข้าวสารบนถนนเพื่อกีดขวางเส้นทางของทหาร

มัน “เคย” เป็นความคิดที่ดีค่ะ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันอาจจะไม่สามารถทำได้อีก เนื่องจากเราต้องสู้กลับ ถ้าเจอกับตำรวจหรือทหารตัวต่อตัว เราจะสู้กลับ แต่ถ้าทหารมาเป็นกลุ่ม และเราไม่สามารถสู้ได้ ก็ต้องวิ่งให้เร็วที่สุด ฉันเองก็คิดจะไปฝึกชกมวย เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์นี้จะยาวนานถึงเมื่อไร ก็ต้องทำตัวให้แข็งแรงเข้าไว้

เราเห็นการสไตรก์เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของเมียนมา ทั้งการปิดร้านต่างๆ ไม่ขายของให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร รวมทั้งข้าราชการเองก็ออกมาประท้วง ซึ่งถือว่าพวกคุณเสียสละอย่างมากเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งต่างจากในประเทศไทย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ประชาธิปไตยคือเหตุผลที่เราไม่สามารถยอมรับรัฐบาลทหารได้ โดยส่วนตัว ฉันคิดว่าชีวิตของคนไทยยังดีกว่าคนในเมียนมา พวกคุณยังมีโอกาสอีกมากที่จะมีความสุขกับชีวิต ขณะที่ในเมียนมา บางครอบครัวยังแทบไม่มีอะไรจะกินวันต่อวัน พวกเขาต้องดิ้นรนอย่างหนักเพียงเพื่อที่จะมีอาหารกิน ไม่รู้หรอกว่าความสุขในชีวิตคืออะไร คนเมียนมาทนทุกข์มามาก แต่คนไทยยังสามารถหาความสุขได้

 

อย่างที่เห็นว่าสถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้เริ่มบานปลายและรุนแรงขึ้น ประชาชนจำนวนมากถูกสังหาร คุณคิดอย่างไรกับสถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นตอนนี้

เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจในเมียนมาไม่ได้ทำหน้าที่ที่ตัวเองต้องทำ แต่พวกเขากลับกำลังทำแต่สิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ พวกเขามีหน้าที่ปกป้องดูแลประชาชน แต่กลับฆ่าพวกเรา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ประชาชนกว่า 20 คน ถูกฆ่าตาย และมีผู้บาดเจ็บหลายพันคนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ สิ่งที่พวกเขาทำมันน่ากลัวมาก เพราะพวกเขามีหน้าที่ต้องปกป้องเรา แต่กลับสู้กับเราด้วยปืนและอาวุธต่างๆ ที่จะทำร้ายพวกเราได้

รัฐบาลทหารมักอ้างว่าพวกเขานำความสงบมาให้แก่ประเทศ คุณเชื่ออย่างนั้นไหม

ไม่มีอะไรเป็นเหตุเป็นผลเลยค่ะ เพราะถ้ารัฐบาลทหารนำมาซึ่งความสงบ พวกเขาคงไม่ฆ่าเรา ไม่ฆ่าประชาชนของเขาเอง ทัศนคติแบบนี้มันผิดหมด แต่พวกเขากลับคิดว่าพวกเขาทำถูกแล้ว

ออง ซาน ซูจี มีความหมายอย่างไรต่อคนรุ่นใหม่

เธอคือทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นแบบอย่างที่ดีของเรา เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เราหันมาเผชิญหน้ากับการรัฐประหาร เพราะเราได้รู้จักสิทธิมนุษยชนและสิทธิอื่นๆ ก็เพราะเธอ เราแค่ต้องการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป นี่แค่ 5 ปี เอง เราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ดังนั้น เราจึงเชื่อมั่นและศรัทธาในออง ซาน ซูจี

หากประชาชนเป็นฝ่ายชนะ คนรุ่นใหม่อยากเห็นสังคมเป็นแบบไหน

ไม่ใช่ “หากชนะ” แต่ “เราจะชนะ” เราจะเป็นฝ่ายชนะในการต่อสู้ครั้งนี้ หลังจากเราชนะ เราจะเห็นอนาคตที่สดใสในมือของเรา เพราะเรารู้ว่าประชาธิปไตยจะดีกับเราอย่างไร ออง ซาน ซูจี สร้างประโยชน์ให้พวกเราอย่างไร เราจะสามารถไล่ตามความฝันของเราเองได้ และจะกลายเป็นประเทศที่ได้รับการพัฒนาในที่สุด

 

ถ้าตอนนี้คุณอยู่ที่เมียนมา ก็จะออกไปชุมนุมด้วยใช่ไหม

แน่นอนค่ะ น่าจะเป็นแกนนำด้วย เพื่อนของฉันแซวเล่นๆ ว่า ถ้าฉันเป็นแกนนำผู้ชุมนุม การรัฐประหารน่าจะจบลงภายใน 1 สัปดาห์ (หัวเราะ)

ในความเห็นของคุณ ชัยชนะของประชาชนคืออะไร

ชัยชนะของประชาชน คือการที่เราได้กลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง ประเทศกลับมาเป็นของประชาชนและทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน

อยากบอกอะไรกับสังคมโลกเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองครั้งนี้

อยากบอกว่า ประเทศของเราต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ค่ะ โดยเฉพาะจากองค์กรนานาชาติ เช่น องค์การสหประชาชาติ เราอยากให้องค์กรเหล่านี้ทำอะไรสักอย่างที่ทำได้เพื่อช่วยเหลือพวกเรา

หวังว่าเราจะชนะไปด้วยกันนะ

ไม่ใช่แค่หวัง ฉันเชื่อว่าเราจะชนะ

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ ของ “นีน ตเว ยู ออง” มิสยูนิเวิร์สเมียนมา กับชัยชนะของประชาชนเหนือรัฐประหาร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook