ทนายเตรียมหาหลักทรัพย์กว่า 1.3 ล้าน ประกันตัวกะเหรี่ยงบางกลอย 22 คน
จากกรณีเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2564 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองเคลื่อนย้ายชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจำนวน 85 คน ที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านใจแผ่นดิน (ที่ดินบรรพบุรุษชาวกะเหรี่ยง) กลับลงมายังพื้นที่ที่อุทยานฯ จัดให้
ในปฏิบัติการดังกล่าวมีการจับกุมชาวบ้านจำนวน 22 คนตามหมายจับซึ่งออกมาทั้งหมด 30 คน ในข้อหาบุกรุกป่าแก่งกระจานด้วยการแผ้วถางทำไร่จำนวน 30 แปลง เนื้อที่รวมกว่า 157 ไร่ ตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ปี 2562 โดยเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวทั้ง 22 คนนำส่งฝากขังที่เรือนจำกลาง จ.เพชรบุรี
ค่าประกันคนละ 60,000
วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความของชาวบ้าน จากสมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวกับ ‘วอยซ์’ ว่า วันจันทร์ที่ 8 มี.ค.นี้ทนายความเตรียมนำหลักทรัพย์ยื่นประกันตัวชาวบ้านทั้งหมดรวม 1,320,000 บาท ตอนนี้กำลังรวบรวมหลักทรัพย์
“ชาวบ้านที่ถูกจับกุมมีชาย 15 คน หญิง 7 คน ผู้ชายอายุเยอะสุด 58 ปี คือลูกชายของปู่คออี้ อดีตผู้นำจิตวิญญาณของชาวบ้าน และผู้หญิงอายุเยอะสุด 57 ปี ทำให้ต้องรีบหาหลักทรัพย์ไปประกันตัวออกมาสู้คดี” วราภรณ์กล่าว
ล่าสุดวันนี้ (6 มี.ค. 64) เพจเฟซบุ๊ก สมาคมนักกฎหมายสิทธิชน ขอความร่วมมือจาก “นักวิชาการ/อาจารย์” โดยด่วน และไม่จำกัดจำนวน เพื่อใช้ตำแหน่งประกันตัวชาวกะเหรี่ยงบางกลอยทั้งหมด ในวันจันทร์ที่ 8 มีนาคม 2564 เวลา 09.00 น. ณ ศาลจังหวัดเพชรบุรี
หากนักวิชาการหรืออาจารย์ท่านใดประสงค์จะให้ความช่วยเหลือ สามารถติดต่อวราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความ ได้ที่เบอร์ 092-472-5511ที่เหลือกลับไปอยู่ที่ที่อุทยานฯ จัดให้
ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) หนึ่งในคณะทำงานแก้ปัญหาบางกลอย (ภาคประชาชน) กล่าวกับ ‘วอยซ์’ ว่า ชาวบ้านที่เหลือ 55 คนซึ่งมีทั้งผู้ใหญ่และเด็กนั้น มีชาวบ้านที่เป็นผู้ใหญ่อย่างน้อย 27 คนถูกดำเนินคดีตามมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 เข้าไปในเขตอุทยานฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่ปรับเงินคนละ 500 บาทแล้วปล่อยตัวกลับไปอยู่ที่ที่อุทยานฯ จัดให้ ส่วนเด็กและเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเจ้าหน้าที่ปล่อยตัว
มี 3 ครอบครัว เด็กถูกพรากจากพ่อแม่
ประยงค์กล่าวอีกว่า มีกรณีที่น่าเป็นห่วงคือมี 3 ครอบครัวที่เด็กเล็กขาดพ่อแม่ดูแล เนื่องจากพ่อแม่ถูกดำเนินคดี และมี 1 ครอบครัวที่มีลูกอายุ 9 เดือนต้องไปอยู่กับครอบครัวอื่น
เตรียมสู้คดีอยู่มาก่อนประกาศเขตอุทยานฯ
ประยงค์ กล่าวว่า แม้เจ้าหน้าที่อุทยานจะอ้างว่าชาวบ้านบุกรุกป่าอุทยาน แต่ในมุมของชาวบ้าน ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนที่รัฐจะประกาศเขตอุทยานฯ
“หากสู้คดีในศาล คงนำประเด็นเรื่องชาวบ้านอยู่มาก่อนประกาศเขตอุทยานฯ ต่อสู้ รวมถึงสิทธิชนเผ่า ชาติพันธุ์ในที่ดินดั้งเดิมแก้ต่าง เพราะชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่บังคับให้อพยพลงมาตั้งแต่ปี 2539 ไล่มาปี 2554 และปีล่าสุด 2564 แล้วเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดูแล เยียวยา จัดหาที่ดินที่เหมาะสมและมั่งคงให้กับชาวบ้าน” ประยงค์กล่าว
ภาพชาวกะเหรี่ยงบางกลอยดั้งเดิมที่รับจ้างหาของป่าหารายได้ในอดีต
รัฐไม่พิสูจน์สิทธิที่ดินชาวบ้าน ตาม มติ ครม. ปี 2541 และ 2553
ประยงค์กล่าวด้วยว่า หนึ่งในประเด็นที่สำคัญที่ชาวบ้านและภาคประชาชนจะนำไปต่อสู้ในศาล คือเรื่องที่ชาวบ้านบางกลอยไม่ได้รับการพิสูจน์สิทธิในที่ดินจากรัฐเหมือนชาวกะเหรี่ยงและชนเผ่าในในเขตอุทยานและป่าสงวนอื่นๆ ทั่วประเทศไทยกว่า 4,100 ชุมชน เนื้อที่รวม 4,200,000 ไร่ ซึ่งในบางพื้นที่ชาวบ้านได้สิทธิอาศัยและทำกินในเขตป่า หากรัฐตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นผู้ยากจน ไร้ที่ดิน
“มติ ครม. ทั้ง 2 ครั้งระบุไว้ชัดว่าให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยเข้ารับการพิสูจน์สิทธิในที่ดินดั้งเดิม แต่เจ้าหน้าที่ไม่ทำ อีกทั้งยังอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ ตรงนี้ทำให้ชาวบ้านเสียสิทธิในการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิตามกฎหมาย” ประยงค์กล่าว
ประยงค์กล่าวยืนยันว่า ชาวบ้านไม่ได้มีเจตนาที่จะบุกรุกป่าตามที่ทางการแจ้งข้อกล่าวหา แต่ชาวบ้านต้องการเข้าไปอยู่อาศัย ทำกินในพื้นที่บรรพบุรุษดั้งเดิมเท่านั้น พวกเขาอยู่กันมาตั้งแต่ปี 2455 อ้างอิงจากภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร
“คนเหล่านี้ไม่ควรอยู่ในสถานะผู้บุกรุก เนื่องจากเขาอยู่มาก่อน และอุทยานแก่งกระจานก็เพิ่งมาประกาศเมื่อปี 2524 ดังนั้นรัฐควรพิสูจน์สิทธิและคืนสิทธิให้ชาวบ้านโดยเฉพาะแปลงที่ดินและที่ตั้งชุมชนดั้งเดิม” ประยงค์กล่าว
ทั้งนี้กรณีดังกล่าวเป็นเหตุสืบเนื่องจากเมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยล่าง ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจัดไว้ให้ ตัดสินใจอพยพกลับไปที่หมู่บ้านดั้งเดิมในเขตอุทยานฯ หลังสถานการณ์โควิด-19 ระบาดทำให้บางส่วนไร้อาชีพ-ขาดรายได้ และส่วนใหญ่ไม่สามารถทำเกษตรในพื้นที่จัดสรรได้เพราะสภาวะแห้งแล้ง
จากนั้นเจ้าหน้าที่อุทยานและทหารจึงเตรียมปฏิบัติการนำคนเหล่านี้ออกจากพื้นที่ดั้งเดิม โดยอ้างว่ามีภาพถ่ายทางอากาศว่าชาวบ้านเผาทำลายป่าแก่งกระจานกว่า 100 ไร่ ขณะที่ชาวบ้านยืนยันไม่ได้บุกรุกทำลายป่าอย่างที่รัฐกล่าวหาแต่เป็นการทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชาวกะเหรี่ยงในที่ไร่ดั้งเดิมเท่านั้น