"ส.ส.เจี๊ยบ" ยื่นหนังสือ อธิบดีสรรพากร ตรวจสอบ ค่าน้ำ-ไฟฟ้า ของ "บิ๊กตู่"
ที่กรมสรรพากร อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล พร้อมด้วย เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.แบบแบ่งเขต จังหวัดนครปฐม และณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.แบบแบ่งเขตกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันมายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ตรวจสอบแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2557 จนถึงปัจจุบันของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าได้นําจํานวนเงินที่กองทัพบก ได้ชําระค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา มารวมคํานวณเป็นเงินได้ของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่ และในกรณีที่อธิบดีกรมสรรพากรพบว่ามีการ กระทําผิดกฎหมายก็ขอให้พิจารณาดําเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปโดยเร็ว
ทั้งนี้ ในเอกสารที่ยื่นต่ออธิบดีกรมสรรพากร ตอนหนึ่งระบุว่า จากคําชี้แจงทั้งหมด มีการยืนยันความจริงสอดคล้องกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อาศัยอยู่ในบ้านพักรับรองของกองทัพบก เลขที่ 253/54 กรมทหารราบที่ 1 ในความครอบครองดูแล และใช้ประโยชน์ในราชการของกองทัพบก นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2553 ครั้งที่ดํารงตําแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และต่อมาเมื่อเกษียณอายุราชการในตําแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2557 ยังคงพักอาศัยในบ้านพักรับรองของกองทัพบก ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยกองทัพบกสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้าและ น้ําประปาใช้งาน ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในบ้านพักรับรอง รายละเอียดตามคําวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญที่ 29/2563 ประกอบกับตามคําชี้แจงของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยวิษณุ ได้อ้างถึงกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พุทธศักราช 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรเป็นเหตุให้พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนําเงินค่า เช่าบ้านหรือเงินที่คํานวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า มาคํานวณเป็นเงินได้ นั้น
อมรัตน์ กล่าวว่า การที่กองทัพบกสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ําประปาในบ้านพักรับรองของกองทัพบกแทนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นย่อมเป็นกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคิดคํานวณราคาเป็นเงินได้ ซึ่งสามารถคิด คํานวณได้แยกต่างหากจากมูลค่าของการได้อยู่บ้านพักรับรองของกองทัพบก เนื่องจากจัดเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้เทียบตามนัยคําพิพากษาฎีกาที่ 21/2536 รายละเอียด ตามที่อ้างถึง (3) เคยได้วินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งว่า
“...ประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) ได้กําหนดชนิดของเงินที่คํานวณได้จาก มูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า และประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้ เนื่องจากการจ้างแรงงานแยกออกจากกัน ฉะนั้นในกรณีที่พนักงานโจทก์ได้อยู่บ้านที่โจทก์ให้อยู่ โดยไม่เสียค่าเช่า และโจทก์เป็นผู้จ่ายค่าไฟฟ้า ค่าน้ําประปา และค่าแก๊สที่พนักงานโจทก์ได้ใช้ สิ้นเปลืองไปนั้น ประโยชน์ที่พนักงานโจทก์ได้รับจากการใช้กระแสไฟฟ้า น้ําประปา และแก๊ส ที่ โจทก์เป็นผู้จ่ายเงินให้นี้ เป็นประโยชน์ชนิดหนึ่งต่างจากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่โจทก์จัดให้อยู่ โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าถือว่าค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ค่าน้ําประปาเป็นประโยชน์ที่พนักงานโจทก์ได้ เนื่องจากการจ้างแรงงานแยกจากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่โจทก์ให้อยู่...”
อมรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นเมื่อพิจารณาตามนัยคําพิพากษา ที่ 21/2536 พล.อ.ประยุทธ์ จึงยังมีหน้าที่ ต้องนําเงินได้จํานวนเท่ากับมูลค่าของค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ําประปาที่กองทัพบกเป็นผู้ชําระ ไปรวมคํานวณและ เสียภาษีเงินได้ อีกทั้งพล.อ.ประยุทธ์ ยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินซึ่งต้องรวมมูลค่าเงินค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ําประปาที่กองทัพบกเป็นผู้ชําระ ดังกล่าวเป็นเงินได้ที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วภายในเดือน มี.ค.ของทุกปี ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากรอีกด้วย
“การฝ่าฝืนไม่แสดงเงินได้พึงประเมินที่ได้รับโดยรวมมูลค่า เท่ากับค่ากระแสไฟฟ้าและน้ําประปาที่กองทัพบกเป็นผู้ชําระแทน ย่อมส่งผลให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาน้อยกว่าความเป็นจริง อันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการคลัง การจัดเก็บรายได้ของ ประเทศ ทั้งยังเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร” อมรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย