“พาสปอร์ตวัคซีน” วันนี้ที่รอคอยของนักเดินทาง
หลังจากที่โลกต้องเผชิญกับ “วิกฤตโควิด-19” มานานกว่า 1 ปี ขณะนี้เราก็เริ่มมองเห็นแสงรำไรที่ปลายอุโมงค์ เนื่องจากประชากรโลกหลายล้านคนได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้ว และพร้อมที่จะกลับสู่วิถีชีวิตปกติ ที่มาพร้อมกับ “ความปกติใหม่” ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “พาสปอร์ตวัคซีน” ที่ใช้เป็นหลักฐานการได้รับวัคซีนสำหรับผู้ต้องการเดินทางระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวก็สร้างความกังวลเรื่อง “ความไม่เท่าเทียม” ให้กับหลายภาคส่วนเช่นกัน
พาสปอร์ตวัคซีนคืออะไร
“พาสปอร์ตวัคซีน” คือ เอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 ตามกำหนด ซึ่งทำหน้าที่เหมือน “วีซ่า” หรือใบอนุญาตสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ แต่ถูกนำมาใช้ในสถานการณ์โรคระบาด โดยแนวคิดเรื่องพาสปอร์ตวัคซีนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก่อนหน้านี้มีการใช้ในบางกรณี เช่น โรคไข้เหลือง ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่ต้องการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดต้องได้รับการฉีดวัคซีนก่อน และจะได้รับ “สมุดเหลือง” เป็นหลักฐานยืนยัน เป็นต้น
แนวคิดเรื่องพาสปอร์ตวัคซีนสำหรับโควิด-19 ก็คล้ายกับการฉีดวัคซีนไข้เหลือง แต่หลายภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็นว่าควรมีการจัดการที่ทันสมัย และมีความปลอดภัยมากกว่าการทำเป็นรูปเล่ม ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลของหลายประเทศและบริษัทเอกชนทั่วโลก จึงได้จัดทำแอปพลิเคชันสำหรับผู้เดินทาง ที่สามารถอัพโหลดหลักฐานการฉีดวัคซีน รวมถึงข้อมูลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และข้อมูลสุขภาพอื่น ๆ ที่สำคัญของผู้เดินทางมารวมไว้ในแอปเดียว
แอปพลิเคชัน “พาสปอร์ตวัคซีน”
แอปพลิเคชั่นพาสปอร์ตวัคซีนได้รับการพัฒนาขึ้นจากหลายบริษัททั่วโลก เช่น กลุ่มบริษัทเทคโนโลยี Mvine ในสหราชอาณาจักร ได้เริ่มทดสอบ “iProov” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มพาสปอร์ตวัคซีนที่ออกแบบมาเพื่อให้ตรงกับแนวทางการจัดการวิกฤตสุขภาพของประเทศ เช่นเดียวกับ The Commons Project Foundation องค์กรไม่แสวงหากำไรที่สร้างแพลตฟอร์มข้อมูลดิจิทัลสำหรับภาคประชาชน ที่พัฒนาแอปพลิเคชัน “CommonPass” ขึ้น โดยจะนำไปใช้ในสายการบิน Jet Blue, Lufthansa และ United
ทางด้านสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association หรือ IATAS) ก็ได้พัฒนาแอปพลิเคชันพาสปอร์ตวัคซีนที่ชื่อว่า “IATA Travel Pass” สำหรับผู้เดินทาง ขณะที่บริษัท IBM ก็พัฒนา “IBM Digital Health” ซึ่งมีจุดประสงค์สำหรับการกลับไปทำงานในออฟฟิศและการเดินทาง
นอกจากบริษัทผู้ผลิตแอปพลิเคชันแล้ว ในหลายประเทศก็มีแผนการที่จะพัฒนาพาสปอร์ตวัคซีนของตัวเองเช่นกัน โดยสหภาพยุโรปกำลังหารือเรื่องดังกล่าวอยู่ ซึ่งจะพัฒนา “Digital Green Pass” เพื่อเป็นหลักฐานของผู้ที่ผ่านการฉีดวัคซีนโควิด-19 เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ประเทศอิสราเอล ซึ่งได้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปกว่า 39% แล้ว ก็พัฒนาพาสปอร์ตวัคซีนที่มีชื่อว่า “green pass” ขึ้น และอนุญาตให้ประชาชนสามารถเข้ายิม คอนเสิร์ต และร้านอาหารได้
พาสปอร์ตวัคซีนกับความไม่เท่าเทียม
แม้การมีพาสปอร์ตวัคซีนจะเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่าบุคคลนั้นได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เรียบร้อยแล้ว แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ไม่ได้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าการฉีดวัคซีนจะสามารถป้องกันการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ได้ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาที่ชี้ชัดในด้านนี้ และ วัคซีนโควิด-19 ยังมีอยู่อย่างจำกัด การพัฒนาพาสปอร์ตที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนจะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมที่มากขึ้น
ขณะเดียวกัน หลายภาคส่วนก็แสดงความกังวลว่า พาสปอร์ตวัคซีนจะทำให้เกิด “กลุ่มคนรวยที่ได้ฉีดวัคซีน” ที่จะตอกย้ำความไม่เท่าเทียมในสังคม และส่งผลให้กลุ่มคนที่มีฐานะยากจนถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งถูกปฏิเสธการให้บริการและไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศได้
ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมในสังคมกลายเป็นปัญหาที่หนักขึ้นอย่างมากในช่วงวิกฤตโรคระบาด โดยเชื้อโควิด-19 ได้เผยให้เห็นปัญหาการเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนผิวสีในประเทศพัฒนาแล้ว เช่นเดียวกับประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีสวัสดิการรองรับ ขณะที่นักวิชาการก็มองว่า มีความเสี่ยงที่พาสปอร์ตวัคซีนจะก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ซึ่งมาสาเหตุจากเชื้อชาติ สัญชาติ และการเข้าถึงโทรศัพท์สมาร์ทโฟน นอกจากนี้ อาจสร้างความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวเช่นกัน
พาสปอร์ตวัคซีนของประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงในวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา หลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยระบุว่า คณะกรรมการได้มีมติเห็นชอบเรื่อง เอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือ “พาสปอร์ตวัคซีน” โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามกำหนดแล้ว สถานพยาบาลที่ฉีดวัคซีนให้จะออกเอกสารรับรองเพื่อใช้ภายในประเทศ
สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศ จะต้องนำเอกสารรับรองมาขอ “สมุดเล่มเหลือง” ที่รับรองการฉีดวัคซีน โดยมีค่าธรรมเนียมเล่มละ 50 บาท และรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 50 บาท เบื้องต้นจะมีอายุ 1 ปี โดยจะมีการออกประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการออกสมุดเล่มเหลือง อย่างไรก็ตาม การนำไปใช้เดินทางในต่างประเทศยังต้องรอข้อตกลงระดับสากลก่อน ทั้งนี้ การใช้พาสปอร์ตวัคซีนของไทยจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ศบค.ชุดใหญ่ และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป