WHO เผย “ผู้หญิง 1 ใน 3” เคยผ่านประสบการณ์ถูกทำร้ายหรือถูกคุกคามทางเพศ

WHO เผย “ผู้หญิง 1 ใน 3” เคยผ่านประสบการณ์ถูกทำร้ายหรือถูกคุกคามทางเพศ

WHO เผย “ผู้หญิง 1 ใน 3” เคยผ่านประสบการณ์ถูกทำร้ายหรือถูกคุกคามทางเพศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยรายงานชิ้นใหม่ ระบุว่า ผู้หญิงมากกว่า 1 ใน 3 ทั่วโลกเคยผ่านประสบการณ์ถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกคุกคามทางเพศอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ซึ่งตัวเลขนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอด 10 ปีที่ผ่านมา 

รายงานดังกล่าวเป็นการศึกษาเรื่องความรุนแรงในผู้หญิงขนาดที่ใหญ่ที่สุด โดยศึกษาข้อมูลของผู้หญิงอายุตั้งแต่ 15 ปี จาก 161 ประเทศ และเก็บข้อมูลในช่วงปี 2000 - 2018 ดังนั้น จึงไม่มีปัจจัยเรื่องการระบาดใหญ่โรคโควิด-19 เข้ามาเกี่ยวข้อง แพทย์หญิงคลอเดีย กราเซีย-โมรีโน หนึ่งในผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้ ชี้ว่า ตัวเลขที่พบทำให้ทราบว่าปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงยังมีความรุนแรงมากเช่นเดิม 

ผลการรายงานพบว่า ความรุนแรงที่เกิดจากคู่ชีวิตเป็นรูปแบบความรุนแรงที่แพร่หลายมากที่สุด โดยผู้หญิงมากกว่า 1 ใน 4 ที่อยู่ความสัมพันธ์เคยผ่านประสบการณ์ถูกทำร้าย หรือถูกคุกคามทางเพศ ขณะที่ผู้หญิงมากกว่า 6% ทั่วโลกแจ้งความว่า ถูกคุกคามทางเพศจากคนที่ไม่ใช่สามี หรือคนรัก อย่างไรก็ตาม นักวิจัยระบุว่า ตัวเลขผู้ถูกคุกคามทางเพศอาจมีมากกว่านี้ แต่ไม่ได้เข้าแจ้งความ เนื่องจากเหยื่อการคุกคามทางเพศยังคงถูกตีตราในสังคม 

ขณะที่ปัญหาเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นปัญหาระดับโลก แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเท่าเทียมกัน โดยความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้ผู้หญิงในประเทศที่มีรายได้ต่ำ และประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ ได้รับผลกระทบมากกว่าผู้หญิงในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้ รายงานยังพบว่า ผู้หญิง 22% ที่อาศัยอยู่ในประเทศ “พัฒนาน้อยที่สุด” ถูกคู่ชีวิตทำร้ายในช่วง 12 เดือนก่อนทำการศึกษา ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลก คือ 13% 

รายงานดังกล่าวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายที่เลือกปฏิบัติในประเด็นเรื่องการศึกษาของผู้หญิง การจ้างงาน และสิทธิทางกฎหมาย รวมทั้งพัฒนาการเข้าถึงระบบสุขภาพของผู้หญิง และการดูแลหลังถูกข่มขืน นอกจากนี้ การป้องกันการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงยังรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลง “ภาพจำของเพศสภาพ” ซึ่งอาจเริ่มต้นจากการให้การศึกษากับเด็กตั้งแต่อายุน้อย ๆ  ยิ่งไปกว่านั้น โลกต้องมีการพูดคุยถึงปัญหานี้ให้มากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook