“ก๊อต จิรายุ” กับงานศิลปะจากสภาวะจิต “Transience”
สำหรับคอละครไทย ณ เวลานี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ก๊อต จิรายุ ตันตระกูล” นักแสดงหนุ่มที่ฝากผลงานการแสดงระดับคุณภาพไว้ในละครและภาพยนตร์หลายเรื่อง โดยเฉพาะผลงานสร้างชื่ออย่างบทบาท “ออกหลวงสรศักดิ์” จากละคร “บุพเพสันนิวาส” หรือ “มานพ” ชายผู้ออกสังหารผู้คนเพื่อล้างแค้น ในภาพยนตร์ทริลเลอร์ “คืนยุติ-ธรรม” แต่น้อยคนจะรู้ว่า ชายหนุ่มใบหน้าคมเข้มผู้นี้ มีความสนใจและมีฝีมือทางด้านศิลปะที่น่าจับตามองมากทีเดียว
ที่ผ่านมา ผลงานศิลปะของคุณก๊อตได้ไปปรากฏโฉมในงานประมูลและงานอีเวนต์หลายครั้ง แต่ล่าสุด เขาได้มีนิทรรศการศิลปะเป็นของตัวเองครั้งแรก โดยใช้ชื่อว่า “Transience” ที่สะท้อนเส้นทางชีวิตและการทำงานของนักแสดงหนุ่มผู้นี้ได้อย่างน่าสนใจ
ภาพและเส้นคือภาษาส่วนตัว
หากมองย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของความสนใจในศิลปะอย่างเป็นทางการ คุณก๊อตเล่าว่า เขาเคยเรียนศิลปะในมหาวิทยาลัย 1 ปี ก่อนที่จะออกมาเดินตามความฝันในวงการบันเทิง อย่างไรก็ตาม ศิลปะยังคงอยู่ในชีวิตเขาตลอดเวลา เพียงแต่มาในรูปแบบ “ภาษาส่วนตัว” ที่เขาใช้ในการอ่านบทละครก่อนถ่ายทำจริง
“เวลาเราจำบท หรือการทำการบ้าน เราจะสื่อสารด้วยภาพและเส้น มันเป็นภาพที่เราร่างตามความรู้สึกเรา ความรู้สึกมันเป็นอย่างไร เส้นสายจะเป็นตัวบอก มันทำให้การพูดใน 1 บทพูด มันมีความเป็นจริงเยอะมาก เพราะเวลาเราพูดด้วยอารมณ์จริงๆ” คุณก๊อตอธิบายพร้อมวาดภาพประกอบ
เมื่อชั่วโมงบินในฐานะนักแสดงมีมากขึ้น และบทบาทก็มีความซับซ้อนหลากหลายขึ้น การทำการบ้านด้วยเส้นสายจึงเริ่มขยายขอบเขตออกไป กลายเป็นการบันทึกสภาวะภายในจิตใจที่ไร้กรอบกำหนด ขณะเดียวกัน พื้นที่หน้ากระดาษก็ไม่เพียงพอให้นักแสดงผู้นี้ใช้บอกเล่าอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละช่วงเวลาอีกต่อไป สิ่งที่จะมาทดแทนได้ก็คือ “ผืนผ้าใบ” เพื่อนำมาบันทึกสภาวะภายในที่ไม่มีรูป ไม่มีเสียง ผ่านรูปแบบเส้นสายที่เป็นอิสระ นั่นทำให้ผลงานของเขาเป็นศิลปะนามธรรม (Abstract) เป็นส่วนใหญ่
“Transience” สภาวะชั่วคราว
“เมื่อหยั่งลึกลงไปสู่มิติแห่งจิต จึงเห็นว่าจิตนี้เปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา” ข้อความตอนหนึ่งในสูจิบัตรของนิทรรศการ “Transience” นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของคุณก๊อต ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่บุคคลคนหนึ่งแนะนำให้เขาลองจัดนิทรรศการศิลปะแสดงผลงานของตัวเอง เพื่อแบ่งปันความสุขให้กับผู้อื่น นิทรรศการครั้งนี้เป็นการแสดงภาพสภาวะภายในจิตใจของคุณก๊อต ที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว โดยใช้เทคนิคสีอะคริลิก ทราย และน้ำ และใช้เวลาถึง 3 เดือน กว่าผลงานทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์
“Transience คือสภาวะภายในที่เกิดและดับรวดเร็วมาก แต่ด้วยความที่เวลาที่จิตมันหยั่งลึกลงไปในสมาธิ มันจะเหมือนถ่างความรวดเร็วนั้นให้ช้าลง จนเราเห็นความเปลี่ยนแปลง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนั้นสลับสับเปลี่ยนกันรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น รูปทั้งหมดจึงเป็นภาพของการเปลี่ยนแปลงสภาวะจิต ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงจากการฝึกสมาธิมากกว่า 700 – 800 ชม. ของการที่เรานั่งสมาธิทุกวัน วันละ 2 ชม.”
สำหรับคนทั่วไป การนั่งสมาธิอาจหมายถึงการปฏิบัติธรรม แต่คุณก๊อตกลับเรียกการทำสมาธิว่า “การเฝ้าสังเกตตัวเอง” และค้นพบว่าจิตของเขาสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อจัดแสดง
“ถ้าเราเฝ้าสังเกตตัวเองตามความเป็นจริง สิ่งที่มันเป็น แล้วมันจึงพบความจริงที่เกิดขึ้นในตัว ว่าสภาวะทั้งหมดทั้งมวล แม้บางวินาทีเป็นวินาทีแห่งความแข็งกร้าว วินาทีแห่งความอ่อนโยน วินาทีหนึ่งเป็นความสว่าง วินาทีหนึ่งเป็นความมืดมิด วินาทีหนึ่งเป็นอารมณ์นั้น อารมณ์นี้ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของจิตไวมาก รวดเร็วมาก แล้วเราก็ทำงาน พอเราทำงาน เราเห็นงาน มันลิ้งก์เข้ากับสภาวะทางจิตที่เคยเกิดขึ้นกับเรา เราเลยสรุปเลยว่าชิ้นนี้เสร็จ ไป เก็บ ลงสีเสร็จ ไม่รู้สึกอะไรเลย ย้อนแย้ง กลบ ทำใหม่ เพราะฉะนั้นจะเห็นหลายรูปหนามาก” คุณก๊อตพูดพร้อมหัวเราะเสียงดัง
อย่างไรก็ตาม คุณก๊อตไม่ได้เฝ้าสังเกตตัวเองเพื่อเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเท่านั้น แต่เขากลับใช้แนวทางนี้ในการดำเนินชีวิตด้วย
“เราสังเกตตัวเองเพื่อที่จะเข้าใจธรรมชาติของตัวเองอันเป็นไปเพื่อดำรงชีวิตอยู่ในความผันผวน ถ้าเรามีอุปกรณ์ชิ้นหนึ่ง เช่น เราเอารถที่ดีที่สุดไปอยู่ในยุคเมื่อ 300 ปีก่อน คนยุค 300 ปีก่อนจะไม่ได้ประโยชน์จากรถ เพราะไม่เข้าใจวิธีการใช้อุปกรณ์นั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถ้าเรามีชีวิตอยู่แล้วไม่เข้าใจคุณภาพของชีวิต ไม่เข้าใจร่างกาย ไม่เข้าใจจิตใจ เราจะไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด สุดท้ายเราก็จะกลายเป็นทาสของสิ่งเสพ ดังนั้น การเข้าใจตัวเองจึงเป็นหัวข้อหลักหัวข้อแรก คนหาทางออกของชีวิตไม่ได้ ไม่ต้องพยายามหาทางออก หาทางเข้าให้ได้ เข้าใจชีวิตอย่างที่มันเป็น แล้วเราจะเจอทางออก”
ไม่ต้องเข้าใจ แต่อยากให้รู้สึก
ขณะที่ศิลปะนามธรรมไม่ใช่แนวทางที่เป็นที่นิยมมากนักในสังคมไทย เนื่องจากคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นศิลปะที่เข้าใจยาก และหลายครั้งก็ถูกปรามาสว่าเป็นงานศิลปะที่ต้อง “ปีนบันไดดู” ทว่าคุณก๊อตกลับเลือกที่จะถ่ายทอดผลงานในรูปแบบนามธรรม โดยให้เหตุผลว่า เขาทำแล้วมีความสุขที่สุด
“ภาษามีขีดจำกัดในการอธิบายสภาวะภายใน เสียงก็มีขีดจำกัด เสียงมีมิติมากกว่าภาษา แต่สี เส้น และพื้นผิว มีหลายมิติมากกว่าภาษา ลองอธิบายรสชาติเปรี้ยวเป็นภาษาให้ฟังหน่อย ยากไหม” คุณก๊อตย้อนถาม
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่เขาคาดหวังจากผู้ชมมากที่สุด จึงไม่ใช่การดูแล้วเข้าใจ แต่เป็นความรู้สึกของผู้ที่เข้ามาชมนิทรรศการ จากบรรยากาศ กลิ่น แสง เสียง และภาพวาดเชิงนามธรรมที่เขาและทีมงานบรรจงจัดวางอย่างตั้งใจ
“เราเติบโตมากับการมีตรรกะ ทุกอย่างต้องอธิบายได้ ต้องเข้าใจได้ เวลาที่เราดูเมฆ สวยงามมาก แสงตัดผ่าน ข้างล่างเป็นสีออกชมพู ข้างบนเป็นสีส้ม เถิบขึ้นไปเป็นสีม่วงๆ เราพูดแค่ประโยคเดียวเอง ‘โคตรสวย’ เราปล่อยให้ตัวเองซึมซับความสวยตรงนั้น โดยไม่ตั้งคำถามว่า ทำไมท้องฟ้าปั้นเมฆให้เป็นแบบนี้ แต่พอเป็นงานศิลปะที่ทำจากคน เราต้องการคำอธิบาย แต่คนที่เสพศิลป์อยู่แล้ว เขาจะใช้ตาคู่ที่มองท้องฟ้ามองงานศิลป์ เขาจะไล่ไปทีละรายละเอียด ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราจะเสพงานศิลป์ไปทีละนิด ทีละนิด” คุณก๊อตอธิบาย
สายตาของผู้เสพงานศิลปะ
ในฐานะที่เป็นผู้เสพงานศิลปะตัวยงคนหนึ่ง คุณก๊อตได้เล่าถึงวิธีการมองสิ่งต่างๆ ของนักเรียนศิลปะและคนที่เสพศิลปะว่า คนกลุ่มนี้จะมีทักษะในการสังเกตส่วนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ รวมไปถึงอิริยาบถต่างๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดความละเอียดอ่อนในการเห็นสิ่งต่างๆ
“เหมือนเราเห็นรถ รถไม่ได้มีอยู่จริง แต่เป็นคำสมมติของการนำอุปกรณ์หลายชนิดมารวมกัน จึงเรียกว่ารถ ถ้าแยกออกเป็นชิ้นๆ ก็ไม่เหลือรถแล้ว คนก็เป็นแบบนั้น การนำอวัยวะทั้งหมดมาหล่อหลอมรวมกัน จึงสมมติว่าสิ่งนี้เรียกว่าคน ก็เลยทำให้เราไม่ตัดสินสิ่งที่เห็น เพราะเรารู้ว่าการเห็นของเรามันฉาบฉวย”
นอกจากนี้ การมองอย่างผู้เสพงานศิลปะยังมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่นักแสดงของคุณก๊อตด้วย โดยคุณก๊อตเล่าว่า เขาจะสังเกตคนอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา และจดบันทึกเกี่ยวกับคนเหล่านี้ไว้ เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงในการสร้างตัวละครต่างๆ
“หน้าที่ของเราคือเล่นเป็นมนุษย์ ไม่สังเกตมนุษย์แล้วจะเล่นเป็นใคร พอเราสังเกตมนุษย์ เราจึงได้คาแรกเตอร์ใหม่ๆ ซึ่งเราจะเอาไปใส่ในเรื่องที่เราเล่น นี่ยังไม่รวมเสียงอีกนะ สีหน้าอีก อิริยาบถใหญ่คือยืน เดิน นอน นั่ง อิริยาบถย่อยคือกะพริบตา หัน เหลือบตาขึ้น มือ บางคนอธิบายด้วยมือ เวลาพูดอะไรก็แล้วแต่ อันนี้จะทำให้ตัวละครไม่สุขุม แต่ถ้าเราใช้มือน้อยหน่อยในการอธิบาย ตัวละครตัวนี้จะเปลี่ยนภาพเลย เพราะฉะนั้น การสังเกตจะทำให้เราเห็นรายละเอียดของแต่ละคน”
สำหรับคุณก๊อต ศิลปะเป็นพื้นที่ที่ให้ความสุข สุนทรียภาพ และอิสรภาพ แต่งานศิลปะกลับยังมีน้อยเกินไปในสังคมไทย
“งานศิลปะมันมีน้อยไปด้วยซ้ำ สำหรับผม มันควรจะมีมากกว่านี้ ถ้าทุกคนมีศิลปะ การออกแบบเสื้อก็จะเปลี่ยนไป การออกแบบรถก็จะเปลี่ยนไป ทุกคนจะออกแบบสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ แต่เราโตมาในเผ่าพันธุ์ที่ยึดทุกอย่างเป็นแพทเทิร์น ถ้าฉันหลุดออกจากแพทเทิร์น ฉันจะรู้สึกแตกต่าง ไม่ปลอดภัย เรากลัวการถูกขับออกจากกลุ่ม แต่ศิลปินเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีอิสรภาพทางความคิด”
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ