Body Shaming คืออะไร ในดราม่า “ลิซ่า BlackPink” และ #LisaApologizeToLiangSen
โลกโซเชียลถึงคราวลุกเป็นไฟอีกครั้ง เมื่อศิลปินชื่อดัง “ลิซ่า BlackPink” ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีที่เธอล้อเลียน “เหลียงเซิน” หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันรายการ Youth With You Season 3 ที่ต้องโกนผมทั้งศีรษะ โดยชาวเน็ตส่วนใหญ่มองว่า การที่ลิซ่าล้อเลียนรูปลักษณ์ หรือ Body shaming เหลียงเซิน เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม นำไปสู่แฮชแท็ก #LisaApologizeToLiangSen เรียกร้องให้ศิลปินไอดอลชื่อดังผู้นี้ออกมาขอโทษเหลียงเซินทันที
Body Shaming คืออะไร
Body shaming คือการเหยียด ล้อเลียน หรือวิพากษ์วิจารณ์ลักษณะทางกายภาพของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นความอ้วน ความผอม น้ำหนัก ผมหรือขนตามร่างกายที่มีมากเกินไปหรือไม่มีเลย สีผม หน้าตา หรือแม้กระทั่งการสักหรือเจาะตามร่างกาย รวมทั้งโรคต่างๆ ที่ทิ้งร่องรอยแผลเป็นบนร่างกาย เป็นต้น ซึ่งมักเกิดจากทัศนคติของสังคมที่สร้าง “มาตรฐานความงาม” แบบใดแบบหนึ่งขึ้น เช่น ผู้หญิงสวยต้องมีผิวขาว รูปร่างดี ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป หรือผู้ชายต้องมีรูปร่างกำยำ ไม่อ้วน เป็นต้น ทำให้ผู้ที่มีรูปร่างหน้าตาไม่ตรงกับมาตรฐานความงามดังกล่าวมักจะถูกด้อยค่า ล้อเลียน กลายเป็นตัวตลก ถูกมองข้าม และอาจถูกเลือกปฏิบัติในบางกรณี
ผลกระทบจาก Body Shaming
การล้อเลียนหรือวิจารณ์รูปร่างหน้าตาสามารถส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ที่ถูกล้อเลียน ทำให้ความภาคภูมิใจในตัวเองลดลง และก่อให้เกิดโรคทางจิตเวชต่างๆ เช่น พฤติกรรมการกินผิดปกติ โรคซึมเศร้า โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อผู้ที่ถูกกระทำรู้สึกว่าร่างกายของตัวเองไม่ตรงกับมาตรฐานของสังคม ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำและการทำงาน และอาจนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง
นอกจากนี้ แม้จะมีการเรียกร้องให้หยุดการเหยียดรูปร่างหน้าตา และยอมรับในความแตกต่างของแต่ละบุคคลมากขึ้น แต่การที่สื่อต่างๆ รวมทั้งโซเชียลมีเดีย มักจะผลิตซ้ำภาพบุคคลที่มีรูปร่างหน้าตาที่สังคมบอกว่าสวยงาม แม้ไม่ได้มีเจตนาจะสร้างแรงกดดันให้กับคนในสังคม แต่นั่นก็อาจทำให้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะวัยรุ่น พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองมีรูปร่างที่เรียกว่า “ดี” ในสายตาของคนทั่วไป ซึ่งอาจนำไปสู่โรคทางจิตเวชได้เช่นกัน
หยุด Body shaming ทำอย่างไร
- ยอมรับความแตกต่างของรูปร่างของคนแต่ละคน ระลึกไว้เสมอว่า การวิจารณ์รูปร่างหน้าตาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน สามารถทำให้ผู้ฟังรู้สึกอับอาย และเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรทำ
- พยายามไม่ทักทายผู้อื่นด้วยคำพูดที่เกี่ยวข้องกับรูปร่างหน้าตา เช่น “อ้วนขึ้นนะ” “ทำไมหน้ามีแต่สิว” รวมทั้งเลิกใช้คำชมหรือพูดคุยเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาของผู้อื่น
- เลิกคิดว่าการวิจารณ์รูปร่างคือการแสดงความห่วงใยเรื่องสุขภาพ เพราะความเชื่อที่ว่าการลดน้ำหนักจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต มักจะมีพื้นฐานมาจาก body shaming ขณะเดียวกัน การวิจารณ์รูปร่างไม่ได้ช่วยให้คนเราอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่กลับทำให้รู้สึกแย่ลง