นักศึกษาวิจิตรศิลป์ มช. บุกวางชักโครกหน้าห้องคณบดี ประท้วงปมคุกคามผลงานศิลปะ

นักศึกษาวิจิตรศิลป์ มช. บุกวางชักโครกหน้าห้องคณบดี ประท้วงปมคุกคามผลงานศิลปะ

นักศึกษาวิจิตรศิลป์ มช. บุกวางชักโครกหน้าห้องคณบดี ประท้วงปมคุกคามผลงานศิลปะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักศึกษาวิจิตรศิลป์ มช. บุกวางชักโครกหน้าห้องคณบดี ปมคุกคามผลงานศิลปะ ด้านคณบดีออกแถลงชี้หมิ่นเหม่ทางการเมืองจึงต้องยึด หวั่นเกิดผลกระทบต่อคณะ

(23 มี.ค.64) เวลา 13.30 น. กลุ่มนักศึกษา​คณะ​วิจิตร​ศิลป์​ มหา​วิทยาลัย​เชียงใหม่​ รวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้าตึกคณะ นำกระดาษมาปิดทับป้ายชื่อคณะ เปลี่ยนชื่อเป็น “ขณะวิจิตรสิ้น” และร่วมกันนำถุงขยะสีดำ ที่มีการติดป้ายกระดาษ ระบุว่า “มอบให้คณบดีและพวกเพื่อใช้ปฏิบัติหน้าที่” ช่วยกันทำความสะอาดเก็บกวาดพื้นที่คณะ ก่อนรวบรวมสิ่งของที่เก็บใส่ถุงดำมาวางกองรวมกันไว้ที่บริเวณหน้าป้ายคณะ

จากนั้นเวลาประมาณ 14.50 น. กลุ่มนักศึกษาพากันเดินขึ้นไปที่ห้องสำนักงานอธิการบดีบนชั้นสอง เพื่อขอเข้าพบกับ รศ.อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดี​คณะ​วิจิตร​ศิลป์​ แต่ปรากฏว่าทางคณบดีไม่อยู่ในพื้นที่ และไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนแสดงตัวหรือมาพบปะกับทางกลุ่มนักศึกษา ทางกลุ่มจึงแสดงออกเชิงสัมภาษณ์ด้วยการนำถุงดำที่มีการติดป้ายกระดาษ ระบุว่า “มอบให้คณบดีและพวกเพื่อใช้ปฏิบัติหน้าที่” มามอบให้กับทางคณบดีและเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งทีการนำโถส้วมชักโครกมาวางไว้ยังบริเวณหน้าห้อง ก่อนที่ทั้งหมดจะสลายตัวเดินทางกลับอย่างสงบ

นอกจากนี้ทางกลุ่มนักศึกษายังบอกว่าจะมีการรวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือทวงถามเหตุผล​กับทางอธิการบดี​ มหาวิทยาลัย​เชียงใหม่​ และ คณบดี​คณะ​วิจิตร​ศิลป์​มหา​วิทยาลัย​เชียงใหม่​ อีกครั้ง

นายวิทญา อายุ 23 ปี นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์​ มช. ปี 4 ซึ่งเป็นบุคคลที่นอนขวางรถตามที่ปรากฎภายในคลิปเหตุการณ์ ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวก็เป็นพื้นที่ทำงานของนักศึกษา แม้ว่าจะดูสกปรกรกตาบ้าง แต่ก็เป็นการทำงานของนักศึกษา และ ไม่ใช่เรื่องที่จะมาอ้างว่าต้องรักษาความสะอาด การที่จะเข้ามาทำแบบนี้ไม่สมควร อย่างน้อยก็ควรจะมีหนังสือชี้แจงหรือหลักฐานชัดเจน  

สำหรับผลงานของตนเองและผลงานของนักศึกษาคนอื่นๆ ที่ถูกเก็บไปนั้น เป็นผลงานศิลปะการเมือง ก็ไม่แน่ใจว่างานศิลปะเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับใครยังไง รวมไปถึงมีใครรับคำสั่งมาหรือยังไง แต่ผลงานเหล่านี้ถือเป็นเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษา และการที่กลุ่มคนดังกล่าวเข้ามากระทำการลักษณะเช่นนี้ก็ถือเป็นการคุกคามเสรีภาพของนักศึกษาในการแสดงออกด้วย ยืนยันว่าพื้นที่สาขา “Media Art and Design” เป็นคนละพื้นที่กับการจัดแสดงงานในหอศิลป์อยู่แล้ว และ เป็นพื้นที่ที่นักศึกษาใช้ในการเรียนรู้ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องขออนุญาตในการนำผลงานมาจัดวางไว้

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ทางคณะวิจิตรศิลป์​ มหา​วิทยาลัย​เชียงใหม่​ โดย รศ.อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดี​ คณะ​วิจิตร​ศิลป์​มหา​วิทยาลัย​เชียงใหม่ ได้มีการออกหนังสือแถลงการณ์​เกี่ยวกับ​เหตุการณ์​ที่เกิดขึ้น​ ระบุว่า

ตามที่มีกลุ่มบุคคลใช้พื้นที่บริเวณ​คณะวิจิตรศิลป์​ และได้ปรากฏ​ข่าวในสื่อสังคมออนไลน์​นั้น ทางคณะวิจิตร​ศิลป์​ขอชี้แจงว่า เมื่อวันจันทร์​ที่ 22 มีนาคม​ 2564 เวลาประมาณ​ 14.00 น. ทางคณะวิจิตรศิลป์​ ได้เข้าเตรียม​พื้นที่​บริเวณ​หอศิลปวัฒนธรรม​มหาวิทยาลัย​เชียงใหม่​ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบ​ของคณะวิจิตรศิลป์​ เพื่อจัดเตรียมแสดงงานนิทรรศการ​ศิลปนิพนธ์​ของนักศึกษาสาขาวิชาต่างๆ ทั้งของคณะวิจิตรศิลป์​มหา​วิทยาลัย​เชียงใหม่​ และสถาบัน​การศึกษา​อื่น ซึ่งจะจัด​ขึ้น​ระหว่างเดือน มีนาคมถึงพฤษภาคม​ 2564

จากการเจ้าไปดำเนินการในพื้นที่ ได้พบวัสดุ​อุปกรณ์​ บริเวณ​ด้านหลัง​หอศิลป​วัฒนธรรม​ จากการสอบถามนักศึกษา​บริเวณ​นั้นแจ้งว่า ไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใด และไม่มีผู้ใดรับเป็นเจ้าของ คณะวิจิตร​ศิลป์​ จึงได้ตรวจสอบ​วัสดุ​อุปกรณ์​ดังกล่าว พบว่าวัสดุ​บางรายการที่หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย​ (ธงชาติ​ไทย​ที่ถูกดัดแปลงและมีข้อความไม่เหมาะสม)​ ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดผลกระทบ ต่อนักศึกษา​และคณาจารย์​ของคณะวิจิตรศิลป์​ โดยรวม จึงได้เก็บรวบรวมวัสดุอุปกรณ์​ทั้งหมด เพื่อรอมารับคืนต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์​ประจำสาขาสื่อศิลป​ะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์​ มหาวิทยาลัย​เชียงใหม่​ ซึ่งเป็น​อาจารย์​ที่ปรากฎ​ตัวในคลิปวิดีโอ​ กล่าวว่า ที่ออกมาปกป้องนักศึกษา​เพราะว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่มีความชอบธรรม​ที่จะมากีดกันหรือบอกว่านักศึกษา​ทำอะไรไม่ได้ ศิลปะ​คือเสรี​ภาพในการแสดงออก ไม่มีสิทธิ์​ไปบอกว่าใครทำผิดทำถูก  

พฤติกรรมแบบนี้​เป็นการคุกคามในรั้วมหาวิทยาลัย​ ทั้งที่ควรจะเป็นพื้น​ที่เสรีภาพ​ให้นักศึกษา​ แสดงความคิดเห็นและแสดงออก และ สิ่งที่พูดไปเมื่อวานว่า ศิลปะ​ไม่ได้เป็นนายใครหรือ ทำเพื่อรับใช้ใคร เพราะว่าปัจจุบัน​มีศิลปินหรือนักศิลปะหลายคน ใช้ผลงานศิลปะ​เป็นบันใดในการก้าวขึ้นไปหายศถาบรรดาศักดิ์​ สร้างความชอบธรรม​ให้ตนเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ชื่อเสียง รางวัล และ เกียรติยศ​ต่างๆ ตรงนี้ทำให้เขาหลงทาง นำมาซึ่งการขาดความเคารพตนเอง เขาต้องการพยายามจะทำให้ศิลปะของเขานั้นสูงส่งกว่าของคนอื่น และอาจไปทำงานรับใช้คนนั้นคนนี้

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook