กะเพรา ทำไมภาษาอังกฤษถึงเรียก Holy Basil เหตุใดถึงเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์
กะเพรา, โหระพา และแมงลัก นั้นคล้ายๆ กันเมื่อผู้เขียนยังเป็นเด็กอยู่ (นานเต็มที) มักถูกคุณแม่ใช้ให้ไปซื้อโหระพาบ่อยๆ เพราะที่บ้านมักทำ ผัดมะเขือยาวโหระพาหมูสับ เป็นเมนูประจำ
แรกๆ ผู้เขียนมักจะซื้อผิดมาเป็นแมงลักบ้าง กะเพราบ้าง พอเอากลับมาบ้านคุณแม่ก็ได้แต่หัวเราะแล้วก็เปลี่ยนเมนูเป็นขนมจีนน้ำยา หรือผัดกะเพราหมูสับไปเลย จนกระทั่งผู้เขียนเปิดดิกชันนารีเป็นจึงทราบว่าฝรั่งเรียกกะเพรา, โหระพา และแมงลักนั้นว่าเบซิล (basil) เหมือนกันแต่ต่างกันตรงคำคุณศัพท์ที่แตกต่างกันคือ holy basil (กะเพรา), sweet basil (โหระพา), lemon basil (แมงลัก)
โปรดสังเกตว่ากะเพราเป็นพืชประเภทเบซิลชนิดเดียวที่มีชื่อแปลจากภาษาอังกฤษว่า "เบซิลศักดิ์สิทธิ์" ในขณะที่โหระพาแปลว่าเบซิลหวานและแมงลักแปลว่าเบซิลที่มีกลิ่นมะนาว
กะเพราทำไมจึงเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ ?
โชคดีที่ผู้เขียนมีเพื่อนอาจารย์หลายคนที่ไปเรียนที่อินเดียซึ่งส่วนใหญ่เป็นเคยพระภิกษุไปเรียนต่อทางด้านปรัชญาศาสนาแล้วกลับมาสอนวิชาปรัชญาศาสนาที่มหาวิทยาลัย
เมื่อผู้เขียนบ่นเรื่องสงสัยว่ากะเพราทำไมจึงเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ขณะที่นั่งประชุมไปและรับประทานอาหารเมนูสิ้นคิดข้าวกะเพราไข่ดาวไปด้วย เขาได้ช่วยเล่าประสบการณ์ยืนยันความเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ของกะเพราในอินเดีย จนเห็นจริงเห็นจังว่าเมื่อตอนเริ่มสร้างวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ในปี 2537 ที่ตั้งอยู่บริเวณกุสินารา อยู่ห่างจากสาลวโนทยาน สถานที่ดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ประมาณ 500 เมตร มีคนงานอินเดียในพื้นที่ประท้วงคนไทยกันยกใหญ่ด้วยเหตุที่นายช่างชาวไทยไปจับกบตัวอ้วนมาผัดกับใบกะเพรา เรื่องนี้ถึงขนาดว่าจะเอาเรื่องไปขึ้นศาลอินเดียเลยนะครับ แต่พอดีสามารถไกล่เกลี่ยกันได้เลยรอดตัวไป
นอกจากนี้เพื่อนอาจารย์บางท่านถึงขนาดอ้างในคัมภีร์สกันทปุราณะกล่าวว่า การจะกำจัดบาปได้มากน้อยนั้นขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะสามารถปลูกต้นกะเพราะได้มากน้อยเพียงใด และเชื่อกันว่า ที่ใดที่มีต้นกะเพราขึ้น ที่นั้นเปรียบได้กับที่ควรแก่การแสวงบุญ พระยมราชซึ่งเป็นเทพแห่งความตายจะไม่สามารถย่างกรายเข้ามาได้ บ้านที่ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่ที่มีต้นกะเพราขึ้น จะเป็นสถานที่ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
คนอินเดียฮินดูนิยมจุดเทียนบูชาต้นกะเพราในเวลาเย็น การสวดบูชาต้นกะเพรานั้นเปรียบดั่งได้กราบไหว้เทวดาทุกตน ในช่วงเดือนการธิกะ การบูชาหรือการปลูกต้นกระเพราจะทำให้สามารถล้างบาปที่สะสมมาหลายๆ ชาติได้
ผู้เขียนเห็นว่าชักไปกันใหญ่เพราะมีทั้งชื่อคัมภีร์และเดือนเป็นภาษาอินเดียจึงตัดบทถามไปว่าทำไมต้นกะเพราจึงศักดิ์สิทธิ์? เพราะอะไร? ขอสั้นๆ
ท่านอาจารย์มหาจากอินเดียท่านก็ดีใจหายท่านอธิบายว่า พระแม่ลักษมีเป็นเทวีแห่งความรักที่บริบูรณ์ ด้วยพระแม่มีชายาที่ซื่อสัตย์ของพระนารายณ์และเป็นที่รักยิ่งของพระสวามีคือพระนารายณ์ ทำให้ผู้คนต่างศรัทธาและหลั่งไหลกันมาสักการะขอพรในเรื่องความรักนั้น พระแม่ลักษมีเคยอวตารลงมาเกิดเป็นต้นกะเพราโดยคนในอินเดียเรียกว่า "ตุลสี"
ต่อมาพระนารายณ์ก็ตามมาเอาพระแม่ลักษมีกลับไปอยู่ที่เกษียรสมุทรโดยเหลือเส้นผมและกายหยาบของพระแม่ลักษมีเป็นต้นกะเพราที่ถูกเรียกว่า "ตุลสี"
ทีนี้เมื่อฝรั่งตะวันตกมาแสวงหาเครื่องเทศที่อินเดียได้พบและทราบเรื่องราวของกะเพราจากคนอินเดียก็เลยเรียกกะเพราว่า "เบซิลศักดิ์สิทธิ์" ไปเลย
สำหรับในเมืองไทยสันนิษฐานว่าผัดกะเพราไก่ราดข้าวน่าจะเกิดขึ้นในยุค "สร้างชาติ" ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เรียกว่า "โครงการส่งเสริมอาหารของชาติ พ.ศ. 2481" มีบทบาทสำคัญมากในฐานะเป็นนโยบายส่งเสริมการกินอาหารของพลเมืองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนิสัยการกินครั้งสำคัญของคนไทยเพื่อการส่งเสริมสุขภาพประชากรไทยตามหลักวิชาการทางการแพทย์และการสาธารณสุข โดยมีการส่งเสริมให้ประชาชนกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ทุกวัน เพราะการกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการเป็นบันไดขั้นแรกแห่งการสร้างชาติ
ปรากฎว่า ผัดกะเพราไก่ราดข้าว มีส่วนประกอบหลักในอาหาร 5 หมู่ โดยปริมาณอาหารกะเพราไก่ราดข้าว 1 จาน มีน้ำหนักประมาณ 3 ขีด หรือ 300 กรัม ให้พลังงาน ทั้งหมด 554 กิโลแคลอรี คิดเป็น 28% ของพลังงานที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน ประกอบด้วยโปรตีน 16.3 กรัม คิดเป็น 30% ของปริมาณโปรตีนที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน ส่วนไขมันซึ่งมีอยู่ในปริมาณ 21.2 กรัม ก็อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะเช่นกัน คือ คิดเป็น 33% ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน ขณะที่คาร์โบไฮเดรตมีอยู่ในปริมาณ 74.3 กรัม
ดังนั้นเมนูอาหารสิ้นคิดของคนไทยที่เป็นข้าวกะเพราไข่ดาวจึงน่าจะศักดิ์สิทธิ์เพราะคุณค่าทางอาหารของใบกะเพราคือแก้ท้องอืด ขับลม มีแคลเซียม มีเบต้า-แคโรทีนและวิตามินซีทำหน้าที่ร่วมกันเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็งได้อีกโสดหนึ่งด้วย