ระบบการศึกษาไทย ปีศาจที่กัดกินความเป็นคนของครู

ระบบการศึกษาไทย ปีศาจที่กัดกินความเป็นคนของครู

ระบบการศึกษาไทย ปีศาจที่กัดกินความเป็นคนของครู
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย ทว่าแม้กระทรวงศึกษาธิการจะเปลี่ยนผู้กุมบังเหียนหลายต่อหลายคนแล้ว แต่ปัญหาดังกล่าวกลับไม่เคยถูกแก้ไข นักเรียนยังคงเป็นเหยื่อจากการใช้อำนาจในโรงเรียน และครูที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ก็ถูกมองว่าเป็นผู้สร้างบาดแผลให้กับนักเรียนในหลายกรณีเช่นกัน แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะมองข้ามไป คือครูเองก็เป็นเหยื่อของระบบอำนาจนิยมไม่ต่างจากนักเรียน ดังนั้น Sanook จึงขอพาทุกคนไปสำรวจโลกของครูไทย อะไรที่ฉุดรั้งการเติบโตทางจิตวิญญาณของครู และเปลี่ยนให้ครูกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับเด็ก ๆ และนำพาให้ปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและไม่มีทีท่าว่าจะจบลง

ครูไทยกำลังสู้อยู่กับอะไรบ้าง 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ครู” มักตกเป็นตัวร้ายเมื่อเกิดเรื่องดราม่าขึ้น และทุกครั้งก็มักเชื่อมโยงอยู่กับ “การใช้อำนาจ” ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษด้วยการใช้ความรุนแรง คำพูด หรือพฤติกรรมบางอย่างที่ถูกมองว่าล้าหลังและไม่ “อัปเดต” กับโลกที่ให้ความสำคัญกับ สิทธิมนุษยชนเอาเสียเลย จนกลายเป็นคำถามที่ว่า... 

ทำไมครูไทยไม่พัฒนาเสียที?

แต่หากเราลองมองปัญหาดราม่าทั้งหลายให้ลึกลงไปมากกว่าเรื่องครูใช้อำนาจ เราจะได้พบกับคำตอบ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องของ “ภาระงาน” ซึ่งเป็นปัญหาที่ผูกมัดครูเอาไว้อย่างแน่นหนาและยาวนาน 

งานหลักของครูคืองานสอน แต่ถ้าครูที่สอนอย่างเดียวจะไม่ถือว่าทำงาน ดังนั้นจึงต้องเป็นครูที่สอนด้วย ทำงานเอกสารด้วย ทำโครงการต่าง ๆ ด้วย ซึ่งพอมีอะไรเยอะแยะแบบนี้ ก็ไม่รู้จะเอาเวลาไหนไปเตรียมการสอน แค่จัดการอารมณ์ตัวเองให้ไม่เครียดก็ยากแล้ว กลายเป็นว่าเราเข้าไปสอนให้จบ ๆ ไป แล้วเด็กจะได้อะไรเราก็ไม่สนแล้ว” ครูมุก ครูภาษาไทยท่านหนึ่งเริ่มต้นเล่าปัญหา  

นอกจากนี้ ครูยังต้องรับมือกับ “ระบบอำนาจ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สังคมครูไม่ค่อยมีความยืดหยุ่นและยังคงยึดมั่นกับกฎระเบียบอย่างเหนียวแน่น 

เราต้องยอมรับว่าครูเป็นคนที่ไม่ได้มีประสบการณ์เยอะ คือเราเรียนเยอะ แต่เราอาจจะไม่ได้ไปใช้ชีวิตหรือมองโลกในแง่มุมอื่นเท่าไร ดังนั้นเวลาที่ครูมาอยู่ด้วยกัน เราก็อาจจะมีมุมมองที่ไม่ได้กว้างมาก ครูผู้ใหญ่ก็คาดหวังให้เราต้องเป็นแบบเขา ต้องดุเด็ก ต้องลงโทษเด็ก ขณะที่ผู้บริหารก็จะคอยสอดส่องให้ครูต้องอยู่ในกรอบตลอดเวลา เพราะถ้าครูไม่อยู่ในกรอบ ผู้บริหารก็จะเดือดร้อนครูข้าวหอม อาจารย์มหาวิทยาลัยที่คลุกคลีกับแวดวงครูมาอย่างยาวนาน อธิบาย 

“ถ้าเรารายงานว่ามีปัญหา มันจะกลายเป็นว่าเราสร้างปัญหา เพราะฉะนั้น ครูก็เลยจะโฟกัสแต่สิ่งที่ทำให้ภาพออกมาดูดี เพื่อตอบสนองอำนาจที่มันสั่งลงมาเรื่อย ๆ มันเป็นระบบที่ทำร้ายเรามาก มันกัดกินความเป็นคน เรามีความรู้สึกนึกคิดและมีหัวจิตหัวใจ แต่เขาทำเหมือนเราไม่มีเลย เขาสั่งงาน เราก็ต้องทำตามเท่านั้น จนในที่สุดเราก็เป็นตัวอะไรสักอย่างที่ถูกเลี้ยงให้เชื่อง” ครุมุกเสริม  

“นักเรียน” ชนชั้นล่างสุดของห่วงโซ่การศึกษา 

ด้วยภาระงานที่ต้องแบกรับและอำนาจที่กดทับครูอยู่ ส่งผลให้ครูเกิดความเครียดและเลือกที่จะระบายความเจ็บปวดของตัวเองกับนักเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจน้อยที่สุดและอยู่ในชั้นล่างสุดของระบบการศึกษา ยิ่งไปกว่านั้น ความเชื่อว่าครูมีอำนาจเหนือนักเรียนยังถูกธำรงไว้ให้อยู่ในระบบอย่างแข็งแกร่ง โดยมีคนกลุ่มหนึ่งที่พร้อมพิทักษ์ความเชื่อนี้ และส่งต่อความเชื่อนี้จากรุ่นสู่รุ่น ส่งผลให้ครูเชื่ออย่างเป็นจริงเป็นจังว่าตัวเองมีสิทธิ์ในการกระทำใด ๆ กับตัวนักเรียนก็ได้ 

“ครูคิดว่าตัวเองมีอำนาจเหนือเด็กทุกทาง มีอำนาจตัดสินได้ว่าเด็กควรจะฝันแบบนี้ เด็กต้องทำตัวแบบไหน ต้องเข้าแถว ต้องตัดเล็บ ห้ามมีแฟน ห้ามไว้ผมเกินติ่งหู ทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน คือครูมีอำนาจมากเกินไป” ครูข้าวหอมชี้

ครูผูกขาดอำนาจในโรงเรียน จน “เสียง” ของนักเรียนไร้ความหมาย กล่าวคือ นักเรียน “ดี” สำหรับครู คือนักเรียนที่ไม่ตั้งคำถาม ไม่โต้เถียง หรือนักเรียนที่ถูกเลี้ยงให้เชื่องเหมือนกับครูที่เชื่องในระบบ ขณะที่นักเรียนที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับการใช้อำนาจของครู กลายเป็นนักเรียน “เลว” ที่ครูไม่ชื่นชม ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยภาระงานและความคาดหวังของผู้ปกครองก็ส่งผลให้ครูต้องก้มหน้าทำหน้าที่ที่ถูกกำหนดไว้ จนขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างที่ควรจะเป็น ก่อเกิดเป็นค่านิยม “เชิดชูเด็กเก่ง” เพราะเด็กเก่งคือผลงานที่เป็นรูปธรรมของครู และเกิดปัญหาเด็กไม่เก่งถูกทิ้งให้หลุดออกไปจากระบบการศึกษา

“คำว่ายึดเด็กเป็นศูนย์กลางไม่ได้เอื้อให้กับเด็กทุกความสามารถ ที่เราได้ยินว่า “การศึกษากำลังฆ่าเด็ก” เพราะว่าเด็กบางกลุ่มไม่ได้แสดงความสามารถเลย มันเหมือนกับเราจับปลามาวิ่งบนบก หรือแข่งปีนต้นไม้กับลิง ซึ่งมันก็ต้องแพ้ ครูเพชร ครูแนะแนวของโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ยกตัวอย่าง

อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจของครูเกิดจากชุดประสบการณ์ที่แตกต่างกัน อาจมีสาเหตุมาจากครอบครัว สังคม หรือโรงเรียนที่ครูเคยผ่านมา แต่ครูอ่าน ครูสอนศิลปะของโรงเรียนแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ก็เชื่อว่านักเรียนเองก็มีอำนาจอยู่ในมือเช่นกัน และในบางครั้ง การใช้อำนาจที่มากเกินไปของครูก็เป็นผลมาจาก “ความกลัว” ว่านักเรียนจะไม่ฟังหรือไม่รักครูนั่นเอง

มนุษย์คนหนึ่งที่เรียกว่า “ครู”

ภาระงานและอื่น ๆ ของครูเยอะมาก แล้วเขาไม่ได้นอน พอมีครอบครัวก็ต้องเลี้ยงลูก มันก็เกิดความเครียดและทำให้เขาไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรแล้ว เด็กดื้อฉันก็ตีและสอนให้อยู่เงียบ ๆ ฉันอยู่แบบนี้ก็สบายดี เงินเดือนก็น้อย ซึ่งทั้งหมดนี้คือความระทมของครูเลยนะ เพราะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้สักที” ครูข้าวหอมกล่าว 

ความเหน็ดเหนื่อยและความต้องการ “อยู่รอดไปวัน ๆ” ทำให้ครูแสดงพฤติกรรมแง่ลบหลายครั้ง ขณะเดียวกัน “โซเชียลมีเดีย” ก็มีบทบาทสำคัญในการเปิดโปงขยะใต้พรมเหล่านี้ แน่นอนว่ามันส่งผลให้ครูรู้สึก “ไม่ปลอดภัย” และมีหลายกรณีที่ครูยกเหตุผลเรื่อง “ความหวังดี” มาอธิบายการกระทำของตัวเอง 

“เราคิดว่าเราทำถูกเสมอ จนบางทีเราเผลอใช้อำนาจเกินเลย เกินขอบเขตไป โดยเราอ้างว่าหวังดี แต่บางทีเรามีอัตตามากเกินไป อัตตาแรกเลยคือเราคิดว่าเราเกิดก่อน หรือที่ได้ยินบ่อย ๆ ก็คือ “อาบน้ำร้อนมาก่อน” แต่เราไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถึงจะถูกกราบไหว้บูชาบ่อย ๆ ก็ไม่ได้แปลว่าเราทำผิดไม่ได้ เพราะครูก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ครูไม่ใช่เทวดา” ครูเพชรกล่าว 

“ถ้าครูทำสิ่งที่เลวร้าย แล้วเขาไม่บอกว่าหวังดี เขาจะอยู่กับการกระทำแบบนี้ของตัวเองได้อย่างไร” ครูข้าวหอมเสริม “เขาจะเอาหน้าที่ไหนมาสู้กับนักเรียน ว่าเขาได้ย่ำยีนักเรียนอยู่ทุกวัน เพราะเขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ผิด เขาไม่อยากยอมรับ เขายังอยากภูมิใจว่าสิ่งที่เขาทำเป็นหน้าที่ของครู”  

แม้ความหวังดีจะไม่ใช่เหตุผลที่สามารถอธิบายการกระทำของครูได้ แต่มันก็ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ปลอบใจตัวเองและหลีกเลี่ยงการยอมรับผิด จนคล้ายกับว่าความหวังดีคือ “เกราะป้องกันครู” จากการวิพากษ์วิจารณ์ของคนทั่วไป แน่นอนว่าพฤติกรรมเช่นนี้ของครูเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่หากเราลองมองครูในฐานะมนุษย์คนหนึ่งแล้ว พฤติกรรมดังกล่าวก็คือผลลัพธ์จากระบบการศึกษาที่กดทับพวกเขามาอย่างยาวนาน สุดท้ายแล้วครูก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความรู้สึกนึกคิด ทำผิดพลาดได้ กลัวได้ เจ็บได้ และร้องไห้เป็นเช่นเดียวกับนักเรียน ที่สำคัญคือ ครูไม่ใช่ “แม่พิมพ์” ที่ไม่มีวันทำผิดพลาดตามที่เขาหลอกลวง 

“บางวันก็ดี บางวันก็ร้าย เราก็เป็นคนเหมือนกัน มีอารมณ์ มีความรู้สึกนึกคิด อยากทำโน่นทำนี่ โดนด่าก็เครียด โดนชมก็ยิ้มได้นิดหนึ่ง ดังนั้นเราเป็นแม่พิมพ์ให้ใครไม่ได้หรอก แต่เราเป็นคนที่คอยสนับสนุนนักเรียนได้” ครูมุกกล่าว

หนทางแก้ปัญหาคือการรื้อระบบ

ปัญหาเรื่องการศึกษาเป็นปัญหาที่หลายภาคส่วนพยายามเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ดีขึ้น ดังนั้น ปัญหาของครูจึงถูกชูขึ้นมาเป็นหนึ่งปัญหาหลักที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่การแก้ไขเชิงโครงสร้างต้องเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงของปัจเจก กล่าวคือครูต้องยอมรับว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการศึกษาไทย และพัฒนาตัวเองให้เท่าทันโลก

“ครูต้องคิดใหม่ เพราะสภาพสังคมและวิธีการเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่ไม่เหมือนเดิมแล้ว สมัยก่อนวิธีที่ว่าเธอต้องฟังฉัน เธอต้องท่อง แล้วเธอจะเก่งขึ้น มันอาจจะได้ผล เพราะมันมีแค่ครูกับนักเรียน แล้วก็มีหนังสือ แต่ในตอนนี้แหล่งเรียนรู้เยอะมาก แม้กระทั่งในเกม ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และนำไปสู่การตั้งคำถาม” ครูอ่านอธิบาย 

ไม่เพียงแต่เรื่องการตามเทคโนโลยีให้ทัน แต่ครูยังต้องเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง โดยต้องละทิ้งความคิดว่าตัวเองเป็นผู้ให้ความรู้ แต่เปลี่ยนมาเป็นผู้ที่คอยผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนให้เด็กเกิดองค์ความรู้ 

ครูต้องลดบทบาทตัวเอง เราไม่ใช่ผู้ให้ความรู้หลักอีกแล้ว แต่เราควรเป็นผู้ร่วมเรียนรู้หรือเป็นผู้ผลักดันให้เกิดองค์ความรู้ในตัวเด็ก คือเราต้องอย่ายึดมั่นว่าสิ่งที่เรารู้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด องค์ความรู้มีการเปลี่ยนแปลง เราจึงต้องขยับตามให้ทัน แล้วอีกอย่างเราต้องยอมรับว่าเด็กก็อาจจะเป็นครูของเราได้เช่นกัน แล้วมันจะเกิดบรรยากาศการเรียนรู้” ครูเพชรชี้ 

แม้การเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เท่าทันโลกของครูจะเป็นสิ่งที่สำคัญมากในโลกยุคใหม่ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยเหลือทั้งครูและนักเรียนได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน คือการรื้อโครงสร้างการศึกษา ซึ่งครูมุกมองว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาของไทยมีปัญหาและรับฟังสิ่งที่เด็กนักเรียนต้องการอย่างจริงใจ ขณะที่ครูข้าวหอมชี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องแก้ไขจากผู้มีอำนาจ เพราะครูไม่ได้เข้าถึงอำนาจการตัดสินใจได้เลย 

เราต้องแก้ไขตั้งแต่กระบวนการแรก ตั้งแต่การสอบคัดเลือก หรือกระบวนการคัดเลือกคนเป็นข้าราชการครู มันต้องแก้ระดับนโยบาย แล้วผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องเห็นความสำคัญของการปฏิรูปครูด้วย ต้องขุดใหม่หมด มันเป็นเรื่องยากเพราะเป็นเรื่องระดับนโยบาย แต่เราต้องชี้ให้เห็นว่าการเป็นครู ไม่ได้มีดีแค่สวัสดิการ เป็นอาชีพที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี มันต้องให้เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพแบบถูกต้อง เพราะว่าเราเป็นผู้เรียนรู้ได้ตลอดชีวิตแบบนี้เป็นต้น” ครูเพชรกล่าวสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook