รังสิมันต์ ลั่นกรรมาธิการกฎหมายฯ มีสิทธิ์เรียกประธานศาลฏีกาชี้แจงปมศาลถูกแทรกแซง
นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงเมื่อวันพฤหัสบดี (1 เม.ย.) ว่าคณะกรรมาธิการการกฎหมายและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิ์เรียกประธานศาลฎีกามาชี้แจง เกี่ยวกับข่าวที่สะพัดในโซเชียลมีเดียว่ามีบุคคลภายนอกแทรกแซงการทำงานของศาล
"ผมเองในฐานะที่เป็น ส.ส. และอยู่ในกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เรามีภารกิจนะครับที่เกี่ยวข้องกับการยุติธรรม เราต้องตรวจสอบการทำหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกองค์กร" นายรังสิมันต์ กล่าว
ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
ส.ส. รายนี้ กล่าวต่อไปว่า การเรียกประธานศาลฎีกามาชี้แจงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย
"ฝ่ายนิติบัญญัติเองก็สามารถที่จะตรวจสอบฝ่ายตุลาการได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่ารัฐธรรมนูญนะครับมาตรา 127 ละก็ข้อบังคับของการประชุมสภาฯ เนี่ย กำหนดว่าไอ้การตรวจสอบดังกล่าวเนี่ย มันจะต้องไม่กระทบต่อ 1. การพิจารณาคดีของผู้พิพากษานะครับ กับ 2. นะครับ จะต้องไม่กระทบต่อการบริหารงานบุคคลของตุลาการนะครับ หรือผู้พิพากษา
ดังนั้นเนี่ย การที่เราจะเชิญผู้พิพากษาที่เป็นประธานศาลฎีกามาสอบถามนะครับ ถึงประเด็นว่า ตกลงแล้วเนี่ยมันมีการแทรกแซงโดยบุคคลภายนอกมั้ยเนี่ย ไม่เข้าเกณฑ์ทางกฎหมายที่ห้ามสภาฯ เนี่ยทำทั้ง 2 ข้อ พูดใหม่ พูดง่ายๆ ก็คือว่า เราสามารถเชิญประธานศาลฎีกามาตอบคำถามของกรรมาธิการตามที่มีข่าวลือได้"
ถ้าตอบดีประชาชนก็หมดข้อสงสัย
นายรังสิมันต์ พูดอีกว่า ประธานศาลฎีกาควรมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อศาล ซึ่งจะเป็นผลดีต่อศาลด้วย
"ผมคิดว่าการตอบคำถามต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งที่ควรจะทำ นี่คือการช่วยศาลด้วยซ้ำไป เพราะการชี้แจงของศาล หากเขาทำได้ดีนะครับ ก็จะทำให้ประชาชนหมดข้อสงสัย แต่หากศาลไม่สามารถชี้แจงได้หรือไม่มีชี้แจง ประชาชนก็จะยิ่งสงสัยต่อการทำหน้าที่ของศาลต่อไป"
ถ้าผู้แทนกลัว แล้วจะมาเป็นผู้แทนประชาชนทำไม
นายรังสิมันต์ย้ำว่า นอกจากคณะกรรมาธิการจะมีสิทธิ์ตรวจสอบตามกฎหมายแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ควรกลัวที่จะตรวจสอบ เพราะถ้ากลัวแล้วจะมาเป็นผู้แทนประชาชนทำไม
"นี่คือการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะตรวจสอบองค์กรตุลาการ ถ้าฝ่ายนิติบัญญัตินะครับ แต่ละคนที่อยู่ในองค์กรนี้ยังออกมาประโคมข่าวว่าทำไม่ได้ ห้ามเชิญประธานศาลฎีกาเด็ดขาด 'ท่านกำลังเผาบ้านตัวเอง' ท่านกำลังทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นองค์กรที่มาจาก... ตัวแทนของประชาชนเนี่ย การเลือกตั้งของประชาชนเนี่ย ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบองค์กรอื่นนะครับ แล้วเราจะมีสภาไปทำไมครับ เราจะมาจากการเลือกตั้งโดยที่เราก็งอมืองอเท้า ปล่อยให้เกิดการแทรกแซงองค์กรตุลาการ ปล่อยให้เกิดการแทรกแซงในองค์กรต่างๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าอย่างนี้เราจะมีตัวแทนของประชาชนไปทำไม" นายรังสิมันต์ กล่าว
"ที่ผ่านมาเราอาจจะไม่มีความคุ้นชินในการที่จะไปเชิญประธานศาลฎีกามาก่อนนะครับ แต่ทุกอย่างต้องมีครั้งแรกครับ ทุกอย่างต้องมีการค้นหาความจริง แล้วผมยืนยันว่าการทำหน้าที่ของเราเนี่ย เราไม่ได้ต้องการพลิกผลคดี เราไม่ได้ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงให้ผลคดีไปอย่างที่เราต้องการ แต่เราต้องการเห็นการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาที่มีความสุจริต บริสุทธิ์ และยุติธรรม"