เร่งแก้ไขบ่อบาดาลรัฐถูกทิ้งร้าง ชาวบ้านไม่ใช้เพราะท่อลึกเกินไป ไม่คุ้มค่าน้ำมันเครื่องสูบน้ำ
หลังสื่อมวลชนมีการนำเสนอข่าวบ่อบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในพื้นที่จังหวัดอ่างทองที่ถูกทิ้งร้างจำนวนมาก และไม่มีเกษตรกรไปใช้งาน แม้จะประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ โดยเกษตรหลายรายบอกว่า บ่อบาดาลของรัฐไม่สามารถใช้เครื่องสูบน้ำธรรมดาที่ชาวบ้านมีอยู่ทั่วไปสูบน้ำได้เหมือนกับบ่อที่ชาวบ้านขุดเอง เนื่องจากมีระดับความลึกมาก จนต้องใช้กำลังเครื่องสูบน้ำที่สูงและสิ้นเปลืองน้ำมันหลายเท่าตัว หากใช้งานก็จะไม่คุ้มกับต้นทุน โดยเกษตรกรหลายรายหันไปขุดเจาะบ่อบาดาลภายในพื้นที่ของตนเอง ที่ใช้งบประมาณเพียงหนึ่งหมื่นบาท และสามารถใช้งานได้ตรงตามวัตถุประสงค์มากกว่า จนทำให้บ่อบาดาลกว่า 200 บ่อของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์
ล่าสุดเจ้าหน้าที่จากสำนักงานกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดอ่างทอง เข้าปรับปรุงบ่อบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในพื้นที่ ต.อินทประมูล อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ทั้ง 15 บ่อ และเตรียมปรับปรุงบ่อบาดาลที่ขุดเจาะไว้เมื่อปี 2558 ทั้ง 225 บ่อเพื่อให้เกษตรกรใช้งานได้
นายพรเทพ ไพเมือง ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการ สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 2 สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลให้เข้ามาช่วยเหลือประชาชนในการซ่อมแซมปรับปรุง บ่อบาดาลทั้งหมดเป็นบ่อบาดาลที่ขุดเจาะตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ระยะเร่งด่วน ประจำปีงบประมาณ 2558 (งบกลาง) ซึ่งเดิมทีบ่อนี้มีความลึก 52 เมตรและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเทอร์ไบน์ไว้ที่ 30 เมตร ซึ่งในวันนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาถอนปั๊มเครื่องสูบน้ำขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 12 เมตร เพื่อที่เกษตรกรสามารถจะใช้เครื่องสูบน้ำขนาดเล็กสูบน้ำได้และประหยัดน้ำมัน โดยการเจาะครั้งแรกในปี 2558 ต้องทำตามสเปคที่กำหนดไว้ แต่ตอนนี้สามารถปรับเปลี่ยนโดยใช้วิธีถอนเครื่องสูบน้ำเทอร์ไบน์ให้ตื้นขึ้นเพื่อที่จะสามารถใช้เครื่องสูบน้ำทั่วไปสามารถสูบน้ำได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่นายโกศล ทิมบ่อแร่ นายก อบต.อินทประมูลเปิดเผยว่า ในส่วนของตำบลอินทประมูล มีอยู่ด้วยกัน 15 บ่อ ซึ่งกรมทรัพยากรมาขุดให้เพื่อบรรเทาภัยแล้งชั่วคราว และเป็นการรอน้ำในช่วงภัยแล้ง ไม่ให้ต้นข้าวเสียหาย ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบ ใช้ได้ทุกบ่อ แต่ที่ชาวบ้านไม่ใช้ เพราะต้องใช้เครื่องที่กำลังสูงทำให้กันน้ำมัน โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลก้เข้ามาแก้ไขด้วยการดึงชุดสูบน้ำขึ้นมาในความลึกที่เครื่องชาวบ้านสามารถสูบได้ แต่หากจะมีการขุดใหม่ก็อยากให้เป็นการขุดบ่อที่อยู่ใกล้เสาไฟฟ้า เพื่อที่จะใช้ระบบการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแทนการใช้เครื่องยนต์แบบนี้เพราะจะประหยัดกว่า
สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ระยะเร่งด่วน ประจำปีงบประมาณ 2558 (งบกลาง) ดังกล่าวเป็นโครงการที่จัดสรรจากส่วนกลางโดยตรง ดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 สุพรรณบุรี จำนวน 65 บ่อ และขุดเจาะเพิ่มในปี 2559 อีก 190 บ่อ เป็นการเจาะบ่อบาดาล ขนาดท่อ 6 นิ้ว ลึก 100 เมตรพร้อมติดตั้งระบบสูบน้ำเทอร์ไบน์ ซึ่งสูบน้ำได้ประมาณ 10 ลบ.นิ้ว/ชั่วโมง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า บ่อบาดาลของกรมทรัพยากรถูกทิ้งร้างและไม่ได้ใช่งานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการสูบน้ำต้องนำเครื่องสูบน้ำของชาวบ้านมาต่อกับบ่อบาดาลเพื่อสูบน้ำเอง ทำให้ต้อมีค่าใช้จ่ายต้นทุนสูบน้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบบ่อบาดาลในพื้นที่ทั้ง 225 บ่อแล้วพบว่ากว่า 90 % ยังสามารถใช้งานได้
อัลบั้มภาพ 11 ภาพ