เพจดังเตือน! สาธารณสุขอาจ "พัง" ทั้งระบบ ถ้ายังงดตรวจโควิด-หาเตียงไม่ได้
เพจเฟซบุ๊กชื่อดังในแวดวงสาธารณสุข "Gossipสาสุข" วิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในปัจจุบันว่า หากไม่เร่งแก้ปัญหาการงดตรวจหาเชื้อโควิด และปัญหาเตียงเต็ม ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีโอกาสที่ระบบสุขภาพจะ "พัง" ทั้งระบบ
เพจเฟซบุ๊ก "Gossipสาสุข" เผยแพร่บทความวิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจ โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ตั้งชื่อบทความเอาไว้ว่า รพ.เอกชน “เตียงเต็ม” สะท้อนปัญหาตรวจเชื้อ เรื่องบังเอิญที่ไม่บังเอิญ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
"หลังจากโควิด-19 รอบใหม่ระบาดไม่กี่วัน โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งในกรุงเทพฯ ก็พร้อมใจกัน “งดตรวจ” เชื้อกันโดยพร้อมเพรียงกัน ด้วยเหตุผลตั้งแต่เตียงไม่พอ น้ำยาตรวจไม่พอ และโรงพยาบาลไม่มีความพร้อม ทั้งที่ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลแต่ละแห่ง ต่างก็ใช้การตรวจ “โควิด” เป็นจุดขายมาโดยตลอด
แม้ล่าสุด กรมการแพทย์ จะออกมายืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชนยังมีเตียง “เหลือเฟือ” แต่เอาเข้าจริง การที่หลายโรงพยาบาลเอกชนงดตรวจนั้น เป็นเพียงปลายยอดภูเขาน้ำแข็ง เรื่องใหญ่กว่าของปัญหาโควิด-19 ในประเทศขณะนี้ไม่ใช่เรื่องเตียงโรงพยาบาล แต่คือการตรวจโควิด และการบริหารจัดการผู้ป่วยโรคนี้ทั้งระบบ
ณ ขณะนี้ วิธีการจัดการที่กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จัดการก็คือ หากเป็นกลุ่มเสี่ยง สามารถตรวจได้ฟรีทั้งโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน และสามารถรักษาได้ฟรีด้วย โดยใช้เตียงของทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยเป็นหลักปฏิบัตินับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกเป็นต้นมา
แต่ปัญหาก็คือ ในปีที่แล้ว เราว่ากันด้วยอัตราการติดเชื้อที่สูงสุดที่ 188 คนต่อวัน แต่ปีนี้ อัตราการติดเชื้อปัจจุบันอยู่ที่ 400 – 500 คนต่อวัน และมีความเป็นไปได้ที่จะสูงถึงวันละพันคนในไม่ช้า การจัดการจึงไม่อาจทำแบบเดิมได้ นั่นทำให้เริ่มเกิดปัญหาที่โรงพยาบาลเอกชน นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน เป็นต้นมา ที่โรงพยาบาลเอกชนเริ่มตรวจเชื้อ ส่งแล็บแล้วพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าที่คิด นั่นทำให้โรงพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชน ต้องเร่งสำรองเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ทันที
อันที่จริง ปัญหาสำหรับโรงพยาบาลไม่ได้มีแค่เตียงเท่านั้น แต่คือบุคลากรประจำเตียง ซึ่งต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจ พยาบาล และเครื่องมือที่ใช้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ยิ่งหากมีผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือมีอาการหนัก การจัดการก็ยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีก
ทว่า หลักปฏิบัติเดิมที่วางไว้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาก็คือ หากมีผู้ป่วยโควิด-19 ให้ถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ต้องรับดูแลในโรงพยาบาล ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลเอกชนทันที และเมื่อโรงพยาบาลเอกชนตรวจเจอ ก็ต้องรับเข้าเป็นคนไข้ในโรงพยาบาล โดยอาจส่งต่อให้โรงพยาบาลเจ้าของสิทธิ์ของผู้ป่วยต่อไป หากอาการผู้ป่วยไม่รุนแรงมาก
แต่อย่างที่บอก ปัญหาเดิมของเรื่องนี้ก็คือ หากป่วยวันละหลักสิบ หรือร้อยต้นๆ ก็ยังพอบริหารจัดการได้ สามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเจ้าของสิทธิ์ได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ครั้นจะส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลสนาม ส่งไปยังโฮสพิเทล (Hospitel) คู่สัญญากับรัฐ ก็ยังไม่มีหลักปฏิบัติชัดเจน หรือผู้ที่อาการไม่หนัก จะส่งกลับไปกักตัวที่บ้านเหมือนในต่างประเทศ ก็ยังไม่มีหลักปฏิบัติแบบนั้น
เมื่อไม่มีความชัดเจน โรงพยาบาลเอกชน จึงคุยกันได้ข้อสรุปว่า “ชะลอ” ไปก่อน ปล่อยเรื่องนี้ให้โรงพยาบาลที่ “พร้อม” และปล่อยให้โรงพยาบาลรัฐเป็นคนคอยจัดการ แต่ปัญหาสำคัญก็คือ ณ ขณะนี้ โรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้มอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็เข้าใกล้คำว่า “เตียงเต็ม” แล้วเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการ “เร่งเคลียร์” กันระหว่างหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐอย่าง กรมการแพทย์ ที่ดูแลเรื่องเตียง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ดูเรื่องค่าใช้จ่าย (ค่าตรวจ-ค่ารักษา) กับโรงพยาบาลเอกชน เพราะเรื่องนี้ ยิ่งปล่อยไป ยิ่งส่งผลกระทบกับระบบ จนได้ข้อสรุปว่า โรงพยาบาลเอกชนจะสามารถ “ตรวจต่อ” ได้ ภายใต้เงื่อนไขว่าสามารถ “ส่งต่อ” ไปยังโรงพยาบาลเจ้าของสิทธิ์โรงพยาบาลอื่นๆ หรือส่งไปยัง Hospitel โดยสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกับ สปสช.ได้ทั้งหมด
ซึ่งก็ควรจะเป็นไปในแนวทางนี้ เพราะสุดท้าย เตียงของทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ไม่อาจที่จะรองรับผู้ติดเชื้อทั้งหมดได้แน่ๆ เพราะต้องไม่ลืมว่ายังมีโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่โรงพยาบาลต้องให้การรักษา เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องกระจายผู้ป่วยไปทั้งโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล
แต่การกระจายผู้ป่วยที่ไม่มีอาการไปยัง Hospitel ทุกวันนี้ก็ยังทุลักทุเล แม้จะมีทรัพยากรเหลือเฟือจำนวนหนึ่งจากห้องพักว่างของโรงแรมที่ตอนนี้ก็ต้องการเข้าร่วม Hospitel แต่การไม่มีเจ้าภาพจัดการเป็นระบบ การจัดการที่ไม่รวมศูนย์ ไม่มี Single Command เพราะการนำที่ไม่มีประสิทธิภาพ ออกแนวต่างคนต่างทำ ก็ทำให้ตรงนี้ยังเป็นจุดอ่อนของระบบ
โดยเฉพาะสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 รอบนี้ ที่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่มีปัญหาว่าจะพาไปอยู่ที่ไหน จะกักตัวที่บ้าน ที่คอนโด ก็ไม่สามารถทำได้ ทั้งยังสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนรอบตัว เพื่อนบ้าน เพื่อนข้างห้อง จะไปโรงพยาบาลตามสิทธิก็เตียงเต็ม ประสานไป รพ.สนาม ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร สายด่วนภาครัฐก็สายไหม้ไปแล้ว เรื่องจึงวกกลับมาที่อาศัยคอนเนคชั่นว่าจะทำอย่างไร บ้างก็โทรหานักข่าว บ้างก็โทรหาผู้หลักผู้ใหญ่ที่รู้จัก เพื่อหาที่กักตัวหรือ Hospitel ให้ แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีคอนเนคชั่นแบบนี้ ก็ต้องรอแบบไม่รู้อนาคตกันต่อไป
แต่เรื่องนี้แก้ได้ง่ายๆ ด้วยการหาเจ้าภาพจัดการและจัดระบบให้ดี แต่จนป่านนี้กระทั่งระบาดเข้ารอบที่ 3 แล้วยังไม่เห็นว่าจะทำได้
แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ แม้จะแก้ปัญหานี้ได้ สุดท้ายก็จะกลับไปที่เรื่องเดิม คือความสามารถในการ “ตรวจเชื้อ” แต่ละวัน ปัจจุบัน รถตรวจเชื้อพระราชทาน ที่จอดให้บริการตามจุดต่างๆ ก็ยังไม่เพียงพอ มีคนต่อคิวยาวเหยียดเพื่อขอ “ตรวจฟรี” เนื่องจากค่าใช้จ่ายการตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนยังคงสูงเกินไป และในที่สุดก็ยังคงมีความพยายาม “ตั้งแง่” เพื่อที่จะบอกว่าผู้ที่ขอตรวจไม่ได้เป็น “กลุ่มเสี่ยง” เพราะสุดท้ายถึงอย่างไรก็ต้องผ่าน “เช็คลิสต์” จำนวนมากอยู่ดี เพื่อที่จะ “ตรวจฟรี” ได้
ขณะเดียวกัน ถึงจุดหนึ่ง โรงพยาบาลเอกชนก็จะไม่สามารถตรวจได้มากมายขนาดนั้น เพราะไม่ได้ลงทุนสำหรับอุปกรณ์ น้ำยาตรวจแล็บ เครื่องแล็บ หรือเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ สำหรับตรวจเชื้อจำนวนมหาศาลขนาดนั้น และหากจะให้แอดมิดไว้ก่อน หรือส่งต่อไปที่อื่นๆ ก็จะเป็นภาระให้กับโรงพยาบาลนั้นๆ ที่ต้องคอยทำเรื่องเบิก สปสช. ซึ่งสุดท้ายจะรวมไปถึงข้ออ้างสุดคลาสสิกก็คืออัตราที่รัฐกำหนดไว้นั้น “ต่ำเกินไป”
นอกจากนี้ ชุดตรวจที่รัฐกระจายไปก็ยังไม่มากพอ สภาวะรอบๆ รถตรวจเชื้อพระราชทาน จึงยังคงแออัดยัดเยียด และน่าจะเป็นไปในลักษณะนี้อีกระยะเวลาหนึ่ง เพราะสถานการณ์ล่าสุดคือเรากำลังเข้าสู่จุดที่ไม่สามารถ “ตรวจ” ได้มากกว่านี้ได้แล้ว เพราะระบบที่สร้างไว้ไม่สามารถรองรับทั้งการตรวจระดับนี้ และรองรับคนไข้ในระดับนี้ ด้วยความเชื่อแต่แรกว่าประเทศไทยไม่ได้มีการระบาดหนัก
เพราะฉะนั้น ปัญหาใหญ่ที่ยังคงค้าง ก็คือต้องคอยตามแก้เรื่องที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า ยังต้องจัดการเรื่องชุดตรวจให้เพียงพอ จัดการเตียงให้พร้อมสำหรับสเกลคนไข้ที่มากกว่านี้ ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าต้องพร้อมสำหรับผู้ป่วยวันละนับพันหรือหลายพันคน
ด้วยเหตุนี้ เรื่องเตียงโรงพยาบาลเอกชนเต็ม จึงสะท้อนปัญหาของ “ระบบ” ได้สารพัดเรื่องในเวลาพร้อมๆ กัน"
ขณะที่เมื่อวานนี้ (11 เม.ย.) เพจดังกล่าวก็เผยแพร่บทความอีกชิ้นที่เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์เพิ่มเติม โดยใช้ชื่อว่า "งดตรวจ" – “หาเตียงไม่ได้” ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ระบบสุขภาพ “พัง” ทั้งระบบ โดยมีรายละเอียดดังนี้
"ภาพความอลวนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากจะสะท้อนให้เห็นความไร้ประสิทธิภาพของ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) แล้ว ยังสะท้อนว่าการเตรียมแผนเผชิญเหตุ และการจัดการโรค ในช่วงการระบาดหนักนั้น “ล้มเหลว” เพียงใด
เอาง่ายๆ การระบาดหนักนั้น อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่ออยู่แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการผ่อนปรน ที่ทำให้ผับ บาร์ คาราโอเกะ แทบไม่ได้มีการ “เว้นระยะห่าง” มานานนับเดือน ขณะเดียวกัน พื้นที่ชายแดนทั้งฝั่งพม่า ฝั่งกัมพูชา ก็มีผู้ติดเชื้อหนักหน่วง สามารถข้ามแดนมาได้ตลอด ซึ่งแปลว่าจะเกิดการระบาดใหญ่ขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ตัวเลขวันละ 1,000 คน อาจ “ผุด” ขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ แต่รอบนี้กลับไม่มีใครพูดแล้วว่า “การ์ดอย่าตกนะครับ”
เรื่องที่เกิดขึ้นก็เลยมีตั้งแต่การ “ตรวจเชิงรุก” ที่ไม่สามารถทำได้ทันเวลา รถตรวจเชื้อพระราชทาน ที่มีอยู่น้อยเกินไป ขณะเดียวกันครั้นจะให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเดินเข้าไป “ตรวจฟรี” ได้ทุกโรงพยาบาล ก็เจอเงื่อนไขยุบยับ ทั้งความสามารถในการตรวจของโรงพยาบาลที่ไม่เพียงพอ และการประเมินกลุ่มเสี่ยงที่มีหลายมาตรฐาน ทำให้การตรวจเชื้อสุดท้ายได้ชะงักงัน กลายเป็น “คอขวด” และทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยอาจไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เพราะไม่สามารถตรวจผู้ติดเชื้อได้ทั้งหมด
ขณะเดียวกัน การบริหารจัดการผู้ป่วยก็ประสบปัญหาเช่นกัน ระบบที่วางไว้ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ หากพบผู้ป่วยพร้อมกันครั้งละมากๆ นั่นทำให้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายโรงพยาบาลไม่สามารถตรวจคนไข้ได้อีกต่อไป เพราะนโยบายที่วางไว้เดิม คือตรวจเจอ ต้องแอดมิตทันที ซึ่งหลายโรงพยาบาล ขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือแม้แต่ขนาดใหญ่ ไม่สามารถรับผู้ป่วยโควิดได้อีกต่อไป
แม้กระทรวงสาธารณสุขจะยืนยันว่ามี “กรมการแพทย์” เป็นศูนย์กลางในการหาเตียง และส่งต่อเตียงทั่วประเทศ รวมถึงดีลโรงแรม ที่ทำหน้าที่เป็นห้องพักชั่วคราว หรือ Hospitel ไว้ล่วงหน้า แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ยังมีหลายโรงพยาบาลที่ “ไม่รับ” ผู้ป่วยโควิด-19 ต้องกลายเป็นภาระของคนไข้ ทั้งการไล่โทรเช็ค ไล่หาโรงพยาบาล หาเส้น หาคนรู้จัก เพื่อให้โรงพยาบาลรับเข้ารักษา
เรื่องที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วตลอด 2 วันที่ผ่านมา ก็คือผู้ป่วยโควิด-19 ไม่สามารถทั้งตรวจ ทั้งตามหาโรงพยาบาล และถึงตรวจพบ ก็ไม่มีโรงพยาบาลให้เข้าไปรักษา เพราะเตียงเต็มหมด ส่วนโรงพยาบาลสนามก็ตั้งไม่ทัน และเข้าใจว่า Hospitel ที่มีก็ประสาน - จัดระบบ ไม่ทัน
โชคยังดีที่ว่ารอบนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุน้อย ไม่เกิน 40 ปี ไม่มีโรคประจำตัวรุนแรง ขณะเดียวกัน ไวรัสเชื้อสายอังกฤษ ถึงจะติดง่าย แต่ตามธรรมชาติของไวรัส เมื่อติดง่าย อาการก็ไม่หนักมาก เพราะฉะนั้น ยอดผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ หรือต้องการการดูแลเป็นพิเศษอาจไม่มากอย่างที่คิด คล้ายกับที่มหาชัยช่วงปลายปีที่ผ่านมา ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน
แต่ต้องไม่ลืมว่าทั้งหมดคือ “ล็อตแรก” จนถึงวันนี้เรายังไม่เห็นภาพที่แท้จริงว่ายอดของผู้ป่วย และลักษณะประชากรของผู้ป่วยรอบนี้เป็นอย่างไร ต้องไม่ลืมว่ารอบนี้ยังใช้เวลาไม่ถึง 7 วันเท่านั้น เราก็มีผู้ป่วยแตะวันละพันแล้ว เพราะฉะนั้น ในช่วงเวลา 14 วัน ภาพจะชัดขึ้นว่า มี “กลุ่มเสี่ยง” ที่สัมผัสโรคด้วยหรือไม่ และหลังสงกรานต์ที่เปิดให้เดินทางปกติ ตัวเลขผู้ป่วยจะอยู่ที่เท่าไหร่
แต่ถ้าจะให้ระบบสาธารณสุขเอาตัวรอดได้ เรื่องนี้เป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี พูดไว้ว่า “อะไรจะเกิด มันก็ต้องเกิด” ไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องเพิ่มกำลังการตรวจ โรคนี้ระบาดในประเทศนี้มานานนับปีแล้ว แต่การตรวจได้เพียงเท่านี้ และต้องไปออกันที่รถตรวจเชื้อพระราชทาน หรือต้องไป “อ้อนวอน” ขอโรงพยาบาลเอกชนให้ตรวจให้ ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก ทั้งรัฐบาล ทั้งกระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. ต้องจัดหาชุดตรวจให้มากกว่านี้ และตรวจให้เร็วกว่านี้ได้แล้ว
ขณะเดียวกัน ก็ต้องจัดการผู้ป่วยแบบใหม่ ต้องเริ่มคิดว่าผู้ป่วยที่มีกำลังมากพอ มีความพร้อม และมีอาการไม่หนักมาก ควรจะอยู่บ้าน ดูแลตัวเองที่บ้านได้ เพราะอีกไม่กี่วันข้างหน้า สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือทั้งโรงพยาบาลทั้งของรัฐ และเอกชน ทั้ง Hospitel และทั้งโรงพยาบาลสนาม จะไม่มีกำลังในการดูแลผู้ป่วยได้ทั้งหมด ซ้ำการจัดการดังกล่าวยังสิ้นเปลืองบุคลากรเกินความจำเป็น
สองเรื่องพวกนี้ คือเรื่องที่ต้องทำทันที เพราะหลักการสำคัญของประเทศที่จัดการโควิด-19 ได้สำเร็จทั่วโลกก็คือ นำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบให้ได้มากที่สุด และเว้นที่สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก - กลุ่มเสี่ยง ให้ได้มากที่สุด
ถ้ายังปรับตัวช้า ใช้การจัดการแบบเดิม ระบบสุขภาพทั้งระบบ ที่เพียรพยายามสร้างกันมา สุดท้ายจะ “พัง” ในระยะเวลาไม่กี่วัน"