กทม.-กรมการแพทย์ ยืนยันเตียงรับคนไข้โควิดมีพอ! ไม่สวนทางความเป็นจริง

กทม.-กรมการแพทย์ ยืนยันเตียงรับคนไข้โควิดมีพอ! ไม่สวนทางความเป็นจริง

กทม.-กรมการแพทย์ ยืนยันเตียงรับคนไข้โควิดมีพอ! ไม่สวนทางความเป็นจริง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รายการโหนกระแสวันที่ 20 เม.ย. 2564 "หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย" ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 หลังจากที่มีคนติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตอนนี้เตียงไม่พอ ภาครัฐบอกว่าพอ แต่สวนทางกับความเป็นจริง เตียงสนามก็เต็ม วันนี้สัมภาษณ์เคลียร์ทุกประเด็น กับ "นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์" อธิบดีกรมการแพทย์ มาพร้อม "ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง" โฆษก กทม.

กรมการแพทย์ยันยังมีเตียง แต่ช้าเพราะรอตรวจสอบผลแล็บ

สรุปเตียงยังไงกันแน่ คนร้องมาทางผมเยอะมากๆ?
นพ.สมศักดิ์: เป็นไปได้ขอสไลด์ขึ้นคู่กัน เป็นการบริหารจัดการเตียงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีคนถามว่าคนไข้ไม่ได้นอนโรงพยาบาลเพราะเตียงไม่พอหรือเปล่า ความเป็นจริงมีเตียงอยู่ แต่ปัญหาคือ ถ้าวันนี้สัมผัสเสี่ยงสูงมา คุณอาจวิ่งไปหาแล็บเอกชนที่อยู่นอกโรงพยาบาลพอแล็บตรวจก็ให้คุณไปรอที่บ้าน พอรอฟังผลที่บ้าน ติดเชื้อแล้วทำไงครับ ก็ไม่มีโรงพยาบาล เพราะแล็บไม่มีโรงพยาบาล เราแก้ปัญหานี้โดยให้แล็บผูกกับโรงพยาบาล เพื่อให้มีเจ้าของไข้ อันนี้เป็นหลักการก่อน ถ้าแก้ปัญหานี้ได้จะไม่มีการเติมฟืนเข้ามาในเชื้อไฟ

สอง โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งยังไม่ขยายเตียง เรียนอีกครั้งว่าโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ไปหาฮอสพิเทล รับเคสเบาๆ และมีการมอนิเตอร์ ส่วนใหญ่ทำ แต่มีบางเครือบางโรงไม่ยอมทำ ตรวจแล้วก็ไม่มีเตียงให้นอน ก็ต้องรออยู่ที่บ้าน นี่ก๊อก 2 ก๊อกที่ 3 การค้นหาเชิงรุก ที่ผู้ว่าฯ ไปทำที่บางแคหรือที่ไหนก็ตาม พอตรวจเสร็จแล้วให้ไปรอที่บ้าน พวกนี้ก็จะไม่มีโรงพยาบาล มี 3 ก๊อกนี้ใหญ่ๆ ทำให้ผู้ป่วยรอฟังผลที่บ้านต้องใช้เวลารอประสานเตียง ถามว่าเตียงมีมั้ย มี แต่อาจไม่ตรงกับผู้ป่วย อันนี้หลักของมันเลย แล้วถามว่าหลักการทำงานคืออะไร มีคนไข้หลังๆ บอกฉันไม่ไปโรงพยาบาลได้มั้ย ระหว่างรอเตียง ท่านต้องอยู่ภายใต้การดูแล ถึงมี 1668 1669 1330 ให้โทรว่าท่านไปตรวจที่ไหน ขอดูผลแล็บ แล้วจะมีทีมหมอโทรเยี่ยมทุกวันจนกว่าจะได้เตียง

เขาบอกโทรแล้วเหมือนไม่มีความหมาย?
นพ.สมศักดิ์ : อันนี้กกราบขอโทษจริงๆ คู่สายมีจำกัดจริง 1330 เข้าใจว่ามีประมาณร้อยกว่าคู่สาย 1668 ตั้งมาเฉพาะกิจ เรามี 20 กว่าคู่สาย เปิดมา 10 วัน รับสายไปประมาณ 2-3 พัน รายนึงไม่ใช่แค่ 5 นาที กว่าจะถามทั้งหมด ใช้เวลา 10-15 นาที และเรามีแบ่งทีมด้วย อันนี้คือหลักการว่าเราให้ท่านโทรเข้ามา ตอนนี้เราเลยเปิดแอปพลิเคชันไลน์ สบายดีบอต โทรไม่ติด เอาข้อมูลไปลงสบายดีบอตก่อน แล้วจะมีคนโทรติดต่อท่านกลับไป ซึ้่งเรายอมรับคนโทรเยอะจริงๆ อันนี้ก็เป็นประเด็นปัญหา

เรื่องเตียง ผมคุยกับคุณหนุ่มรอบแรกๆ วันนั้นผมบอกมีประมาณ 4,000 เตียงในกรุงเทพฯ ตอนนี้แถวหน้ามี 10,000 เตียง ธงสีแดงคือเตียงว่าง

คือว่างอยู่ 3,452 เตียง?
นพ. สมศักดิ์ : ข้างหลังมีไอซียู ว่างเกือบทุกอย่าง แต่ประเด็นก็อย่างที่บอก พอคนไข้กลับไปบ้านกว่าจะโทร กว่าจะได้ข้อมูล เราก็ทยอยแก้ปัญหา นี่คือหลักการที่เราทำ

โฆษก กทม. ยันโรงพยาบาลสนามไม่น่ากลัว

ในมุม กทม. มีประเด็นคนได้รับเชื้อทั้งที่ไปตรวจของทางภาครัฐ สุดท้ายบอกรอรถกลับไปรับ สุดท้ายเขารอ 4-5 วันไม่มีใครรับ สุดท้ายเชื้อลงปอด เกิดอะไรขึ้น?
ร.ต.อ.พงศกร : ก่อนอื่นที่ท่านอธิบดีพูดก็ครอบคลุมทั้งมด แต่ขอลงในรายละเอียดเฉพาะ กทม. ยืนยันคนมาตรวจในโรงพยาบาล กทม. หรือตรวจเชิงรุกใน กทม. เราจัดหาเตียงให้อย่างช้า 48 ชม. แต่ปัญหาคืออะไร ในเมื่อเตียงก็ว่าง คนก็โทรได้ ปัญหามีทั้งหมด 3 อย่าง

อย่างแรกคือเรื่องศักยภาพการขนคน ในอดีต เวลาเราขนผู้ป่วยฉุกเฉินที่โทรมา 1669 เป็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ เราขนได้ 100 คนต่อวัน เฉพาะศักยภาพศูนย์เอราวัณ แต่เนื่องจากปัจจุบันเราเจอผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นทุกวัน ตอนนี้วันละ 300 กว่าๆ ทำให้เราต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการขนคน ให้ได้ 300 ตอนนี้เราพยายามเร่งให้สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่อยู่ตามบ้านมาโรงพยาบาลได้ ซึ่งผู้ป่วยโควิดจะแตกต่างจากผู้ป่วยธรรมดา สมมติเป็นโรคอื่นเรายังขนโดยใช้มูลนิธิได้บ้าง แต่ผู้ป่วยโรคโควิดต้องมีการแบ่งสัดส่วน มีการช่วยเหลือโดยไม่ให้ติดเชื้อ ตอนนี้ท่านผู้ว่าฯ สั่งการ 50 เขต ให้จัดหารถไปรับคนไม่รุนแรง คิดว่าในส่วนโทรมา 1669 หรือตรวจโรงพยาบาล กทม. หรือส่วนที่เกี่ยวกับ กทม. จะจัดการได้หมด

สอง ปัญหาใบแล็บ บางคนพอตรวจแล้ว พอเขาโทรมาแจ้งว่าเขาติดเชื้อ เราต้องขอเอกสารเขานิดนึง เรื่องกระบวนการดูว่าเขาติดเชื้อวันไหน รายละเอียดยังไง ซึ่งเขาไม่มีใบแล็บ บางทีเขาไปตรวจแล็บเอกชน บางทีไม่ได้ใช้วิธีการที่รัฐแนะนำ ความแม่นยำคือการแหย่จมูก ถ้ามีคนโทรมาแจ้งว่าติดเชื้อแล้ว ขอให้เขาส่งอีเมลมาให้ท่าน ตัวนี้จะช่วยจัดหาเตียงได้

สาม การปฏิเสธเตียง เป็นปัญหาส่วนน้อย แต่มีบางคนไม่อยากไปโรงพยาบาลบางโรงพยาบาล เช่นโรงพยาบาลสนามของ กทม. เพราะบางคนไปดูภาพโรงพยาบาลสนามตามต่างจังหวัด เหมือนเข้าค่ายลูกเสือ แต่ กทม. โรงพยาบาลสนาม ภาพที่เห็นเราเตรียมพร้อมไว้ มีสัดส่วน ยังไม่ได้เริ่มใช้ เราเตรียมไว้สำหรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุด อยากเรียนว่า โรงพยาบาล กทม. เราพร้อมรับผู้ป่วย ก็ไม่ได้ลำบากขนาดนั้น เพียงแต่อนาคตถ้ามีแผน สมมติว่าโรงพยาบาลเหล่านี้เต็ม เราต้องไปโรงพยาบาลสนาม

พูดอย่างนี้ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าโรงพยาบาลสนามต่างจังหวัดจะดูลำบากนะ?
ร.ต.อ.พงศกร : เราจะบอกว่า กทม. แบ่งการรักษาเป็น 3 ขั้น ขั้นแรกเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลของเรา ทุกโรงพยาบาลพร้อมรับผู้ป่วยอยู่แล้ว อุปกรณ์ก็พร้อม ทีนี้เราพยายามเพิ่มเตียงในโรงพยาบาล ทำให้เตียงใน กทม. ที่เป็นโรงพยาบาลเหล่านี้สังกัด กทม. มี 1,300 กว่าเตียง รวมถึงโรงพยาบาลเครือข่ายอีกประมาณ 9,000 กว่าเตียง รวมกันประมาณ 10,000 ทั้งหมดสามารถรักษาได้สบาย ถ้าอนาคตคนเต็ม เราก็ให้คนบางส่วนไปเข้าโรงพยาบาลสนาม นั่นคืออีกขั้นที่เราเตรียมไว้

และอีกขั้นคือเรื่องฮอสพิเทล ถ้าอนาคตผู้ป่วยมากขึ้น เราต้องเอาคนอยู่ในโรงพยาบาลอาการไม่รุนแรงคน คนอยู่ในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามอาการไม่รุนแรงไปเข้าฮอสพิเทล ซึ่งตอนนี้โรงพยาบาลเอกชนก็เตรียมฮอสพิเทล 1,000 กว่าๆ แล้ว เฉพาะ กทม. อย่างเดียวก็มีพร้อม 400 ถ้าเราเพิ่มศักยภาพฮอสพิเทล โดยเอาโรงแรมที่พร้อมเป็นฮอสพิเทลมาช่วยจะช่วยได้มาก อย่างโรงพยาบาลสนามภาพที่เห็น มีศักยภาพในกการรับผู้ป่วยประมาณ 400 แต่ถ้าเราเอาโรงแรม ที่มี 600 ห้อง ห้องนึงพักได้ 2 คน ก็เท่าโรงพยาบาลสนาม 3 สนาม สำหรับคนอาการไม่รุนแรง นี่คือการเตรียมการใน กทม. แต่ยืนยันว่าตอนนี้เราอยู่ในขั้นแรก พร้อมอยู่ คือการรักษาในโรงพยาบาล

กทม. เพิ่มศักยภาพขนส่งคนไข้

เมื่อก่อนรับคนได้วันละ 100 คน ตอนนี้ผู้ป่วยเยอะขึ้น จะมีการขยายมั้ย ลงทุนเพิ่มเพื่อหารถไปรับเขามา?
ร.ต.อ.พงศกร : อย่างที่เรียนว่าศักยภาพเราขยายในอาทิตย์นี้ 200-300 แล้วทางกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะท่านอธิบดี และท่านรัฐมนตรีสาธิต ท่านช่วยมากๆ ในหารถมา 100 กว่าคัน อาทิตย์หน้าก็จะพร้อม เราคิดว่าจะช่วยได้มาก แต่สถานการณ์ที่อยากให้เป็น คือสถานการณ์ที่ดีขึ้น แต่เราก็ต้องเตรียมตัวสำหรับสถานการณ์ที่แย่ลง ซึ่้งไม่ใช่แค่รถแค่นี้ เมื่อกี้ผมพูดถึงเคสบางเคสรุนแรง เขตจะมีรถกระบะไปรับช่วยได้ อนาคตถ้ามองว่าแย่อีก ก็เตรียมรถสองแถว หรือรถสาธารณะที่มารับคนได้ด้วย

เตียงได้รับการร้องเรียน เคสหนักๆ เยอะมั้ย?
นพ.สมศักดิ์ : โรงพยาบาลตอนนี้อยากให้รับเคสหนัก อยากให้เอาเคสเบาเอาไปไว้โรงพยาบาลสนามหรือฮอสพิเทล  

ประเมินอาการยังไง?
นพ.สมศักดิ์ : ประเมินจากการโทรศัพท์ เพราะคนไข้อยู่บ้าน โทร 1668 โทรเข้ามาเราประเมินทุกคน และแยกชัดเจน คนไหนเข้าฮอสพิเทลได้ก็เอาเข้าเลย แต่ทุกคนต้องไปโรงพยาบาลหลักก่อนเพื่อเอกซเรย์ แพทย์จะดูอีกที บางคนตอนโทรคุยกันสีเขียว แต่พอไปถึงตรงนั้นอาจเป็นสีเหลืองก็ได้ มันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

แล้วที่คุณหนุ่มบอกว่าวันละ 1,000 กว่าราย อาทิตย์นี้จะค่อนข้างวิกฤต เพราะคนไข้จะแย่ลง อาการรุนแรงจะมากขึ้น มีรายงานการตายเกือบทุกวัน อันนี้เป็นส่วนที่เราคุยกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เพราะโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยจะมีศักยภาพเยอะที่สุด เอกชนก็มีเยอะมากนะครับไอซียู เราเตรียมไว้ว่าต่อไปนี้เราจะเอาคนไข้เบาๆ ออกจากโรงพยาบาล ไปอยู่โรงพยาบาลสนามหรือฮอสพิเทล ราชวิถีเมื่อวานผมไปเยี่ยม เดิมทีมีไอซียู 6 เตียง ตอนนนี้เราขยายเฉพาะไอซียู 20 เตียง เพิ่ม 2 เท่า ที่รามาฯ ศิริราช จุฬาฯ กำลังทำ ทุกที่

ยอมรับ 1330 คนโทรเยอะ

อาจจำเป็นต้องขยายสายโทรศัพท์ ถ้าต่อ 1 คน คุยกัน 15-20 นาทีน่าจะไม่เพียงพอ?
นพ.สมศักดิ์ : เราก็เตรียมตรงนี้ไว้เหมือนที่คุณหนุ่มบอก ยอมรับว่าสายเยอะจริงๆ สบายดีบอตท่านสามารถโหลดคิวอาร์โค้ด หรือโทรไม่ติดเอาข้อมูลไปทิ้ง ทีมผมจะแบ่งเป็น 3 ทีม ทีมรับสาย ทีม 1330 จะไปดูจากสบายดีบอต แล้วโทรถัดไป เพื่อให้รู้ว่าอยู่สเตตัสไหน คุยทุกวัน

ทิ้งเรื่องไว้ แต่กว่าจะโทรกลับ อาจจะรอข้ามวัน?
นพ.สมศักดิ์ : ขออนุญาตให้ดูกราฟเลยครับ มีคำตอบมาให้ เป็นทีมที่แบ่ง โทรเข้ามาวันนึง 200-300 ราย ขอเตียงจริงๆ รวมๆ แล้ว 2,000 กว่าครั้ง ขอเตียง 1,204 ราย หาเตียงที่แอดมิทเรียบร้อยแล้ว 600 กว่าราย มีแล็บยืนยันเป็นลบ เพราะตรวจแล็บไม่ได้มาตรฐาน ติดต่อไม่ได้ 57 ราย โทรมาทิ้งเบอร์แต่เบอร์ไม่ถูกต้อง รอเตียง 590 กับที่รับรีเฟอร์จากบำราศฯ เพราะไม่มีเตียง ตอนนี้เคลียร์ทั้งหมด เหลือแต่สีเหลือง 60 ราย ยอมรับว่ามีปัญหาบริหารสีเหลือง กำลังสั่งการให้มีการเพิ่มเตียงที่นพรัตน์ ที่ธัญลักษณ์ รังสิต สถานบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เราจะทำเสริมดูคนไข้สีเหลือง พรุ่งนี้น่าจะเปิดได้ นี่คือกระบวนการทำงาน เคลียร์จาก 1669 พันกว่ารายทั้งหมด

มีเยอะมากที่ส่งมาหาโหนกระแส แต่มีอยู่เคสนึงลงเอาไว้ว่าไปเยี่ยมลูกบ้านสายไหมมา เคสนี้เริ่มจากติด 1 คน ตั้งแต่ 8 เม.ย. ปี 64 แต่โรงพยาบาลไม่รับรักษา บอกว่าเกินศักยภาพของหมอ โยนไปมา ผ่านไป 10 วัน ตอนนี้ทั้งบ้าน 6 คนติดหมด งามหน้า โชคดีมีเพื่อนบ้านเอายา น้ำดื่มมาใส่ตระกร้าให้กินประทังชีวิต จากติดคนเดียว เขารอแล้วรอเล่าเฝ้าแต่รอ สุดท้ายติดหมดเลย 6 คนเพราะรอ แบบนี้มองยังไง?
ร.ต.อ.พงศกร  : อย่างแรกที่เรานำเรียน อย่างนี้เราไม่รู้รายละเอียดทั้งหมด ข้อแรกตรวจที่ไหนไม่ทราบ ไม่แน่ใจว่าโทรหรือส่งสบายดีบอตไปหรือเปล่า ตอนนี้ทางทีมกระทรวงสาธารณสุข ทีมบริหารนโยบายก็เป็นห่วง ว่าแยกคนที่บ้านจะทำยังไง

เคสสายไหม ไร้โรงพยาบาลรับ จนลามทั้งครอบครัว

สายไหมอยู่ใน กทม. จะตอบยังไง?
ร.ต.อ.พงศกร : อย่างแรกอยากทราบว่าเขาไปตรวจที่ไหน ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐ ทุกเคสในช่วงแรกๆ จะมีปัญหา แต่แป๊บเดียว ส่วนเคสนี้ลองถามรายลเอียดดู จะโฟนอินก็ได้ แต่เข้าใจว่าคงตรวจเอกชน ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องเตียง หรือเรื่องใบแล็บ คือการตรวจถูกวิธี ผ่านแล็บที่รับรอง ก็สามารถมารักษาได้ เพราะมีบางเคส อันนี้ผมพูดในภาพรวมนะ ผมเชื่อว่าเคสนี้คงติดจริงแต่ต้องดูว่าปัญหาอยู่ที่ไหน แต่บางเคส พอโทรไปจริงๆ ใบแล็บผลเป็นลบ แต่ไม่ได้บอกว่าเคสนี้ แต่ต้องดูในรายละเอียด

เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าประชาชนถ้าได้รับเชื้อ จะไม่ยอมไปตรวจแล็บอื่น จะตรวจแต่แล็บภาครัฐเพื่อให้ได้โรงพยาบาล อย่างนั้นหรือเปล่า?
ร.ต.อ.พงศกร : ไม่ใช่ครับ ต้องเข้าใจก่อนว่าการตรวจแล็บอย่างแรกต้องตรวจให้ถูกวิธี อย่างตรวจ Rapid Test มีประสิทธิภาพระดับหนึ่ง แต่ต่ำกว่า RT PCR ถ้ากระบวนการเหล่านี้ไม่ถูกต้องจะน่ากลัว ต้องมีกระบวนการแล็บที่ถูกต้อง

นพ.สมศักดิ์ : เรารู้ว่ามีแล็บไม่ได้มาตรฐานก็มี จากที่ไปโฆษณาแล้วไปใช้วิธีผิด ประเด็นคือกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเขาออกประกาสร่วมกับกรมวิทย์รับรองมาตรฐาน ส่วนใหญ่คนจะไปตรวจต้องโทรไปถามก่อน ก็ให้ถามเขาสักนิดนึงว่าแล็บเขาได้มาตรฐานของกรมวิทย์มั้ย ผูกกับโรงพยาบาลมั้ย ถ้าแบบนี้สบายใจ ตอนนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ วันนี้เขาประชุมกันเรียบร้อย ผมเข้าใจว่าเป็นร้อยในกรุงเทพฯ เพื่อเซตระบบพวกนี้ให้พี่น้องประชาชน จะได้ไม่ถูกหลอกลวงด้วยแล็บ ผลแล็บก็จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องการหาเตียง พอบอกเบอร์แล็บก็ลิงก์เข้าข้อมูลได้ จะมีกระบวนการส่งรถไปรับได้เลย

มีมั้ยที่เสนอไปว่าให้ไปโรงพยาบาลนี้แต่เขาไม่เอา?
นพ.สมศักดิ์ : มีครับ สีแดงเมื่อวานมี 2 ราย เราแอดมิตหมด สีเขียว 148 ราย ครึ่งนึง 74 รายปฏิเสธ หาเตียงให้เรียบร้อย ไม่ไปครับ

เพราะอะไร?
นพ.สมศักดิ์ : ส่วนหนึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐ ฮอสพิเทลที่โรงพยาบาลรัฐจัดให้ โรงพยาบาลสนามเข้าใจว่ายิ่งแล้วใหญ่ ยิ่งไม่ไปใหญ่ มีบางรายเราขยายวอร์ดข้ามไปสมุทรสาครด้วย กรมการแพทย์ไปรันวอร์ดอยู่ที่นั่น เราพยายามหาวอร์ดให้เต็มที่เพื่อดูแล ก็ไม่อยากไป ครึ่งนึงของสีเขียว ตรงนี้จะเหมือนคุณหนุ่มบอก อยู่บ้านก็ติดเชื้อกันเอง

คำแนะนำกรณีผู้ติดเชื้อที่รอเตียงอยู่ที่บ้าน มีคนเอาไปแชร์เยอะเลย ว่าเราแนะนำว่าอะไรบ้าง เราพยายามแยกว่าสีเขียวรอเตียงอยู่ที่บ้าน ถ้าไม่อยากมาจริงๆ เรามีคำแนะนำว่าอายุไม่เกินเท่านี้ ไม่มีโรคร่วม มีผู้ร่วมพักไม่เกิน 1 คน คนโรคอ้วนแทรกซ้อนเยอะ เราพยายามดูแลสุขภาพของท่าน ก็ขอร้องจริงๆ 74 รายเมื่อกี้ เราไม่แน่ใจว่าอาการท่านจะแย่ลงมั้ย หาเตียงได้ก็มาเถอะ ความสะดวกสบายไม่เท่าสุขภาพ  

สั่งยามาอีกล้านเม็ด มีพอใช้อีกครึ่งเดือน

ถามเรื่องยานิดนึง ฟาวิพิราเวียร์ ตอนนี้ขาดหรือไม่ขาด มีหรือไม่มี สั่งหรือไม่สั่ง?
นพ.สมศักดิ์ : เช็กสต็อกเมื่อวาน ที่องค์การเภสัชกับ อย. มี 300,000 กว่าเม็ดทั่วประเทศ เราใช้ประมาณวันละ 20,000 เม็ด เมื่อเช้านี้ ผอ.องค์การเภสัช ที่รับผิดชอบเรื่องนี้เพิ่งรายงานศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินของกระทรวงว่าสั่งมาอีก 1 ล้านเม็ด เดิมจะมาวันที่ 29 ตอนนี้เจรจาต่อรอง ถอยมาวันที่ 22 เดือนนี้ คาดว่าน่าจะมา 22 ฉะนั้น 300,000 เม็ด ใช้วันละ 20,000 เม็ดก็จะพอประมาณครึ่งเดือน เราคาดการณ์ว่าจะขึ้นไปถึงวันละ 30,000 เม็ด เพราะตอนนี้กรมการแพทย์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญออกแนวทางการรักษาให้เร็วขึ้น เพราะเชื้อลงปอดเยอะ เป็นเรื่องสุขภาพที่เราห่วงใย

ขอถามเรื่องไทม์ไลน์ของคนติดเชื้อ ตอนนี้เอาอยู่มั้ย มีการปกปิดมั้ย?
ร.ต.อ.พงศกร : ตอนนี้ กทม. มีหลายข่าว อย่างที่บอกว่าติดเชื้อเชียงใหม่ พิษณุโลก เชื่อมโยงคลัสเตอร์กทม. คนทำไทม์ไลน์คือจังหวัด แต่ถ้าใครก็แล้วแต่ตรวจเจอ หรือรักษาในกทม. ผู้ทำคือกทม. อันนี้หลักการก่อน ตอนนี้ปัญหาคือไทม์ไลน์เราเจอวันละประมาณ 300 ซึ่งวันละ 100 เราทำไหว แต่เราออกในภาพรวม เช่นเอาสถานที่ทั้ง 300 คนที่ไปในแต่ละวันมารวมกัน อาจไม่ด้ลงรายละเอียดเหมือนสมัยก่อน เพราะต้องเข้าใจศักยภาพ แต่เรายังยืนยันในหลักการว่าเราจะทำไทม์ไลน์ตลอดให้ได้มากที่สุด

หลายคนอยู่ต่างจังหวัด เขามองว่าไทม์ไลน์กระจายจากทองหล่อ จริงมั้ย?
 ร.ต.อ.พงศกร : เคสตอนนี้ที่ระบาดคลัสเตอร์ใหม่ ที่เราเห็นในทุกวัน ส่วนมากไม่ใช่แค่ทองหล่อ สถานบริการส่วนใหญ่ใน กทม. ที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงอันนี้เป็นเรื่องจริง

ในมุมกทม. จะเข้าไปเข้มงวดมั้ย เรื่องสถานบันเทิงต่างๆ นานา?
 ร.ต.อ.พงศกร : หลังเกิดเหตุการณ์ได้สองวัน ทางกรุงเทพฯ มีการปิดสถานบันเทิงทั้งสามเขต เพื่อระดมตรวจทั้งหมด ว่าสถานบริการตรงไหน คนทำงานตรงนั้นใครติดบ้าง จะทำให้เห็นว่่าช่วงแรกยอดพุ่งเลย วงแรกคนติดเชื้อในสถานบริการ วงที่สองคนสัมผัสกับคนไปสถานบริการ อนาคตต้องดูว่าวงที่สาม ผู้สัมผัสใกล้ชิดแล้วจะมีวงที่สามมั้ย ถ้าไม่เกิดวงที่สามก็ควบคุมได้ในระดับหนึ่ง

ตอนนี้เตียงยืนยันว่ามีแน่นอน เพียงพอ อยู่ที่ว่าไปหรือไม่ไป เรื่องโทรศัพท์มาแล้วส่งรถมารับจะปรับปรุง ยากำลังสั่งเข้ามา สุดท้ายบุคลากรทางการแพทย์เป็นไง?
นพ.สมศักดิ์ : ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นห่วง พยายามหาเวลาไปเยี่ยมดูแลพี่ๆ น้องๆ ที่อยู่หน้างาน เราจัดทีมเอ ทีมบี ถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้จะผ่อนงานยังไง อาจไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง แต่อยากให้ประชาชนช่วยเราด้วย เพราะตอนนี้มีบุคลากรทางการแพทย์มีทยอยติดอยู่บ้างแต่เราแบ่งทีมกัน และคิดว่าควบคุมสถานการณ์ได้พอสมควร ตอนนี้มีคนป่วน นักวิจารณ์ อยากให้มาร่วมมือกัน แล้วเป็นทีมประเทศไทยได้มั้ย บุคลากรสาธารณสุขพร้อมทำงานให้ท่าน ที่ขอตอนนี้ 10 วันนี้ พี่น้องล็อกดาวน์อยู่บ้าน มาตรการเป็นไงไม่รู้ เราล็อกดาวน์ ผมเสาร์อาทิตย์ไม่ไปไหนเลย สั่งอาหารมากินในครอบครัว ถ้าเราล็อกดาวน์แบบนี้กราฟจะลดลง ภาระในการเข้าโรงพยาบาลจะน้อยลง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook