ม.หอการค้าฯ ประเมินเศรษฐกิจพังจากโควิดรอบนี้ 2-3 แสนล้าน ถ้าคุมไม่อยู่เจอจีดีพีติดลบ
ม.หอการค้าไทย ประเมินโควิด-19 ระลอกใหม่ในเดือนเมษายน ทำเศรษฐกิจพัง 2-3 แสนล้านบาท จีดีพีย่ออีก 1.2-1.8% จี้รัฐเร่งควบคุมการแพร่ระบาด-ฉีดวัคซีน-กระตุ้นเศรษฐกิจ
วันนี้ (22 เม.ย.) ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจธุรกิจทั่วประเทศหลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในเดือน เม.ย. จะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจราว 2-3 แสนล้านบาท มีโอกาสที่จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ลดลงไปอีก 1.2.-1.8%
โดยในแง่ของการจับจ่ายใช้สอยจะลดลงในกรอบ 10-20% ต่อวัน จากปกติที่มีการใช้จ่ายต่อวันอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท หรือลดลงเฉลี่ยวันละ 3,300 ล้านบาท หรือหายไปจากระบบเดือนละ 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้อาจจะทำอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอีกราว 1-2 แสนคน
ทั้งนี้ ประเมินว่าหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อและรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดระลอกนี้ได้ โอกาสที่เม็ดเงินจะหายไปจากระบบเศรษฐกิจจะสูงถึง 6 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยติดลบได้ ภายใต้สมมติฐานว่าเกิดการระบาดรอบ 4 การเฝ้าระวังไม่รัดกุมเพียงพอ หรือสถานการณ์ยืดเยื้อและบานปลายจนมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น หรือจำนวนผู้ติดเชื้อคงเส้นคงวาและทอดระยะเวลานาน
อย่างไรก็ตาม ม.หอการค้าไทย ยังคงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังมีโอกาสเติบโตได้ที่ 2.5-3% แต่รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการสำคัญคือ
- ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อให้ได้เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้
- เร่งฉีดวัคซีน ให้เอกชนร่วมจัดหาร ควรให้ประชาชนได้ฉีดถึง 50% ภายในไตรมาสที่ 2-3 เพราะจะช่วยผลักดันความเชื่อมั่นของประชาชนให้เริ่มการใช้จ่าย รวมถึงการลงทุน
- การกระตุ้นเศรษฐกิจควรเร่งดำเนินการในช่วงปลายเดือนพ.ค. หรือควรมีเม็ดเงินเติมลงไปในระบบ 2-3 แสนล้านบาท จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นได้ เช่น มาตรการคนละครึ่งเฟส 3
- ผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมถึงการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศภายในไตรมาสที่ 3
- เร่งใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ
- ดูแลค่าเงินบาทหรือให้ทรงตัวอยู่ในระดับ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการส่งออก
ซึ่งหากรัฐบาลยังนิ่ง เศรษฐกิจจะย่อลงเหลือขยายตัวเพียง 1.2-1.6%