ผบช.ภ.1 ชี้โทษปรับไม่ใส่หน้ากากในที่สาธารณะ อย่างต่ำ 6,000 ไม่ใช่ 500 ย้ำดูที่เจตนา

ผบช.ภ.1 ชี้โทษปรับไม่ใส่หน้ากากในที่สาธารณะ อย่างต่ำ 6,000 ไม่ใช่ 500 ย้ำดูที่เจตนา

ผบช.ภ.1 ชี้โทษปรับไม่ใส่หน้ากากในที่สาธารณะ อย่างต่ำ 6,000 ไม่ใช่ 500 ย้ำดูที่เจตนา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผบช.ภ.1 ยอมรับตำรวจบางปะหันไม่มีอำนาจสั่งปรับเงิน 500 บาท ปมจับคนไม่ใส่แมสก์–ขับรถไม่ใส่แมสก์โดนปรับ ชี้ตามกฎหมายต้องปรับในอัตราขั้นต่ำ 6,000 บาท

วันนี้ (26 เม.ย.) พลตำรวจโท อำพล บัวรับพร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 แถลงชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีปรากฏภาพเอกสารค่าปรับเป็นเงิน 500 บาท ของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา ลงวันที่ 25 เมษายน 2564 ในความผิดฐานไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า ขณะอยู่นอกเคหสถาน หรือ ต้องติดต่อกับบุคคลอื่น หรือ เดินทางไปสถานที่สาธารณะฯ

โดยกรณีจับปรับผู้ไม่สวมหน้ากากอนามัยฯ ในพื้นที่สถานีตำรวจภูธรบางปะหัน ได้รับรายงานว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมการอำเภอบางปะหัน มอบหมายให้ผู้ใหญ่บ้านไปตรวจสอบ หลังพบว่าพ่อค้าแม่ค้าขายกะทิในตลาดสดแห่งหนึ่งไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งขัดกับคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงนำตัวมาส่งพนักงานสอบสวนให้เปรียบเทียบปรับ

ทั้งนี้ ผบช.ภ.1 ยอมรับว่า พนักงานสอบสวนเข้าใจไปว่ามีอำนาจตามกฎหมายควบคุมโรคให้สามารถเปรียบเทียบปรับได้เอง จึงสั่งปรับเป็นเงิน 500 บาท แต่ทั้งนี้ ตนได้แย้งไปว่า กรณีนี้พนักงานสอบสวนต้องปรับในอัตราขั้นต่ำเป็นเงิน 6,000 บาท เพราะตามกฎหมายควบคุมโรคติดต่อและตามประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด อัตราโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท พนักงานสอบสวนไม่สามารถปรับเป็นเงิน 500 บาทได้

ดังนั้น ในกรณีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาขอให้พนักงานสอบสวนทำสำนวนส่งฟ้องศาลแขวง เพื่อให้ศาลฯ ใช้ดุลยพินิจในการสั่งปรับแทน ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาเชื่อว่าน่าจะปรับได้ต่ำกว่าเงิน 6,000 บาท ดังนั้น กรณีนี้จึงใช้อำนาจของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 สั่งเพิกถอนการเสียค่าปรับ 500 บาทไปแล้ว โดยส่งให้ส่งศาลฯ พิจารณาแทน พร้อมตำหนิพนักงานสอบสวนที่กระทำไปโดยพลการ ซึ่งหลังจากนี้จะกำชับไปยังตำรวจภูธร 9 จังหวัดที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ให้ปฏิบัติเป็นไปตามแนวทางเดียวกันแล้ว

นอกจากนี้ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ยังกล่าวถึงกรณีมีคำถามเกี่ยวกับการขับรถยนต์คนเดียวโดยไม่สวมหน้ากากอนามัยเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากตีความตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ถือว่าผิด เพราะแม้ว่าจะอยู่ในรถยนต์ส่วนตัว แต่คำสั่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ ดังนั้น จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนปฏิบัติตาม เพื่อให้เป็นการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อ จึงไม่ต้องการให้ประชาชนตีความเป็นอย่างอื่น เพราะหากมีความผิด ตำรวจก็จำเป็นจะต้องดำเนินคดี

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.อำพล ยืนยันว่า ตำรวจมีการใช้ดุลยพินิจ ไม่ใช่จ้องที่จะเข้าไปจับปรับผู้ที่ฝ่าฝืนไม่สวมหน้ากากอนามัยอย่างเดียว แต่ดูที่เจตนา หรือกรณีมีการกระทำความผิด หรือได้รับการร้องเรียน ว่ามีการฝ่าฝืนไม่สวมหน้ากากอนามัยบ่อยครั้งในพื้นที่สาธารณะ ตำรวจจึงจะเข้าไปบังคับใช้กฎหมาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook