“วิกฤตโควิด-19” 1 สัปดาห์แห่งปัญหาความเหลื่อมล้ำใต้พรม

“วิกฤตโควิด-19” 1 สัปดาห์แห่งปัญหาความเหลื่อมล้ำใต้พรม

“วิกฤตโควิด-19” 1 สัปดาห์แห่งปัญหาความเหลื่อมล้ำใต้พรม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ต้องยอมรับว่าการระบาดของโรคโควิด-19 รอบล่าสุด “หนักหนาสาหัส” ยิ่งกว่าการระบาดที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า ในช่วงเวลาเพียง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราพบผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนมากกว่า 2,000 รายติดต่อกันหลายวัน ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยระเบิดออกมาให้เราเห็นอย่างชัดเจน ดังที่เห็นได้จากข่าวดราม่า “#น้าค่อม” ที่อาการทรุดจากโรคโควิด-19 และได้รับความช่วยเหลือจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึง “การใช้อภิสิทธิ์” ที่ประชาชนทั่วไปไม่เคยได้รับ 

ไม่เพียงแค่ข่าวดราม่า #น้าค่อม เท่านั้นที่สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย แต่ข่าวของเหล่าคนดังที่ติดเชื้อโควิด-19 และสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ บางคนไลฟ์สดโชว์คุณภาพชีวิตที่ดีในโรงพยาบาลเอกชน ในขณะที่ประชาชนทั่วไปที่ติดโควิด-19 และกักตัวอยู่ที่บ้าน ต้องไลฟ์วิงวอน ให้ผู้เกี่ยวข้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือพวกเขากับครอบครัวให้ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล บางคนไม่ได้ไปต่อและต้องจบชีวิตขณะกักตัว ทั้งที่การเข้าถึงการรักษาควรเป็น “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ที่ประชาชนทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะในภาวะการระบาดของโควิด-19 เช่นนี้

ทั้งหมดข้างต้นคือ ภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่ระเบิดออกมาให้เห็นในเวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น  

LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP

ขณะเดียวกัน วิกฤตผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้คนดังและประชาชนต้องพยายามช่วยเหลือกันเอง  ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กเพจ “เราต้องรอด” ของได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ ที่ช่วยประสานงานเคสผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีเตียง ไม่มีรถโรงพยาบาลไปรับ เช่นเดียวกับณวัฒน์ อิสรไกรศีล ที่ผุดโครงการ “เป็นโควิดต้องมีที่รักษา” เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยังหาสถานที่รักษาตัวไม่ได้ รวมไปถึงนก-จริยา แอนโฟเน่ ที่ทำอาหารสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึงคนดังคนอื่น ๆ ที่ออกมาช่วยเหลืออย่างตั้งใจ เช่นเดียวกับประชาชนอีกมากมายที่ “ทำเท่าที่ตัวเองจะทำได้” เพื่อให้ประเทศยังเดินต่อไปได้ แม้การกระทำเหล่านี้จะแสดงถึงความมีน้ำใจและความสามัคคีของคนในชาติเหมือนในโฆษณาชวนเชื่อที่ประโคมกันมานานหลายปี แต่วิกฤตครั้งนี้ก็เหมือนกับปัญหาสังคมที่เราเคยผ่านมา ที่ประชาชนก็ต้องออกมาแก้ไขปัญหากันเอง ขณะที่ “รัฐบาล” ซึ่งมีหน้าที่ดูแลและแก้ไขปัญหากลับลอยตัว

ไม่เพียงแค่ปัญหาประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเศรษฐกิจที่ทุกภาคส่วนกำลังล้มตาม ๆ กันไป ขณะที่มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลที่ออกมาโดยมีวัตถุประสงค์จะ “เยียวยา” ประชาชน กลับกลายเป็นตัวตอกย้ำความไม่เท่าเทียมของคนให้ชัดเจนมากกว่าเดิม 

LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP

นับตั้งแต่มาตรการรับมือกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทั้งระบบสายด่วน 1668 ที่ยังเจ้าหน้าที่ยังจดบันทึกในกระดาษ ระบบรองรับและรักษาผู้ป่วยที่เชื่องช้า แม้ว่าเราจะอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 มา 1 ปีกว่าแล้วก็ตาม รวมถึงการจัดหาวัคซีนที่รัฐบาลเคยยืนยันหนักแน่นว่าประเทศไทยจะเป็น “ผู้นำ” ด้านวัคซีนของอาเซียน แต่มาจนถึงวันนี้ เรากลับมีอัตราการฉีดวัคซีนเพียง 1% เท่านั้น พร้อมกับอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนที่สร้างความกังวลให้กับผู้เข้ารับวัคซีนมากกว่าจะสร้างความสบายใจ

มันจึงเป็นการช่วยเหลือที่เหมือนหอกทิ่มแทงประชาชนซ้ำๆ มากกว่าจะเป็นเบาะรองรับในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ 

ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็น “ความไร้ประสิทธิภาพ” ของรัฐบาล เพราะสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎต้องสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในรถ หรือเรียกร้องให้คนมีเงินฝากออกมาใช้จ่าย ล้วนแล้วแต่เป็นการแก้ไขปัญหา “ที่ปลายเหตุ” ทั้งสิ้น 

หน้าที่ของรัฐบาลคือการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง หาวิธีแก้ไขปัญหาเพื่อนำพาประเทศให้รอดพ้นจากความยากลำบากไปให้ได้ ดังนั้น ในภาวะวิกฤตโรคระบาดเช่นนี้ แทนที่รัฐบาลจะชี้หน้ากล่าวโทษประชาชนว่า “พวกคุณการ์ดตก” รัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่า “ปัญหาเกิดจากอะไร” และหันมาแก้ไขปัญหาให้​ “ตรงจุด” หรือเปล่า เพราะในเมื่อชาติคือประชาชน ก่อนจะนำพาชาติให้พ้นภัย ประชาชนควรได้รับการดูแลช่วยเหลือก่อน ไม่ใช่การรักษาความสุขสบายของคนบนยอดปิระมิดเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของประเทศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook