เอกชนกว่า 2,600 แห่ง พร้อมออกค่าใช้จ่ายเอง เพื่อฉีดวัคซีนโควิดให้พนักงานราว 9.2 แสนคน

เอกชนกว่า 2,600 แห่ง พร้อมออกค่าใช้จ่ายเอง เพื่อฉีดวัคซีนโควิดให้พนักงานราว 9.2 แสนคน

เอกชนกว่า 2,600 แห่ง พร้อมออกค่าใช้จ่ายเอง เพื่อฉีดวัคซีนโควิดให้พนักงานราว 9.2 แสนคน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้ (28 เม.ย.) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจความต้องการของภาคเอกชน พบว่ามีบริษัทเอกชน 2,629 แห่ง แจ้งความประสงค์การได้รับวัคซีนโควิด ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง คิดเป็นจำนวนพนักงานรวมทั้งสิ้น 9.21 แสนคน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 เม.ย.) ซึ่งจะได้นำส่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรวัคซีนต่อไป

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนพร้อมที่จะสนับสนุนภาครัฐในการเร่งจัดหาวัคซีนทางเลือกให้ทันเวลา และพร้อมสนับสนุนภาครัฐให้สามารถบริหารจัดการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

นายสนั่น กล่าวว่า หอการค้าไทยได้รายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบความคืบหน้าการสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน การจัดหาวัคซีน และการวางระบบการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะใช้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่นำร่อง รวมทั้งความร่วมมือต่างๆ กับภาคธุรกิจเอกชนที่มีความคืบหน้าไปมากพอสมควร

ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน 4 คณะ ทั้งภาครัฐและหอการค้าไทย ถึงแผนการกระจายวัคซีนและวัคซีนทางเลือกของหอการค้าไทย รวมถึงการปรับกฎหมายต่างๆ เพื่อจัดหาวัคซีนได้รวดเร็ว โดยมีความคืบหน้าดังนี้

1. TEAM Distribution and Logistics ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน

- ระยะแรก มีการจัดเตรียมพื้นที่นำร่องเสนอ กทม. 66 แห่ง โดยผ่านการคัดเลือก 14 แห่งกระจายทั่วกรุงเทพฯ แบ่งเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพเหนือ 2 จุด กรุงเทพใต้ 4 จุด กรุงเทพตะวันออก 3 จุด กรุงธนเหนือ 2 จุด และกรุงธนใต้ 3 จุด ซึ่งจะมีทั้งสถานที่ที่เป็นศูนย์การค้า สำนักงาน และสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งสถานที่ทั้ง 14 แห่งดังกล่าว จะรองรับประชาชนได้ประมาณ 1,000-2,000 คนต่อวัน รวมแล้วสามารถให้บริการได้วันละ 20,500 คน ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมการให้บริการของกรุงเทพมหานคร

- ระยะถัดไป จะหารือในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆ ตามชุมชน และบริษัทต่างๆ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน โดยมีภาคเอกชนสนใจให้การสนับสนุนหลายแห่ง จะนำต้นแบบ (Best Practice) ของพื้นที่เอกชนร่วมกับกรุงเทพฯ กระจายผ่านหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในการช่วยบริหารจัดการสถานที่ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

"ภาครัฐยินดีและขอบคุณที่ภาคเอกชนเข้ามาเสริม เพื่อแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลที่ต้องรับผู้ป่วยปกติด้วย โดยจะทำแผนงานร่วมกันทั่วทั้งประเทศ" นายสนั่น ระบุ

2. TEAM Communication ทีมการสื่อสาร

- สนับสนุนการทำงานด้านการสื่อสารของภาครัฐ เพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะเน้นความสำคัญของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง และอัปเดตข้อมูลที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลทางการของภาครัฐ

- ตั้งทีมคณะทำงาน ประกอบด้วยบริษัทชั้นนำ 20 บริษัท เพื่อระดมทรัพยากรและช่องทางการสื่อสาร อาทิ LINE, Google, Facebook, VGI, CP และบริษัทอื่นๆ ที่ยินดีให้การสนับสนุนด้านการสื่อสารอย่างเต็มกำลังทั้ง Online และ Offline

3. TEAM IT Operation ทีมเทคโนโลยีและระบบ

- เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียน และลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ในศูนย์ปฏิบัติการของภาคเอกชน โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุน ซึ่งได้มีการหารือถึง solution ที่ควรจะเป็น เพื่อลดขั้นตอนระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพ

- หลังจากการสำรวจพื้นที่ ศึกษา "หมอพร้อม" เบื้องต้น และทำความเข้าใจขั้นตอนการฉีดวัคซีน ได้ทำหน้าที่เสนอแนวทางการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ เพิ่มความรวดเร็ว แม่นยำ ตลอดจนการนำเสนอ Best Practice ต่างๆ มาเป็นข้อมูล และให้การสนับสนุนทีมอื่นๆ หลายบริษัทที่เสนอตัวว่ามี Application ในลักษณะที่น่าจะนำมาประยุกต์ได้ เช่น กลุ่มปาร์คนายเลิศ เป็นลักษณะการลงทะเบียนและการจองคิว ซึ่งสามารถเปลี่ยนจาก Web Application เป็น Mobile App ได้ รวมถึงการเสนอตัวของ QueQ, Line Application และ Grab

4. TEAM Extra Vaccine Procurement ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม

- ทีมสำรวจความต้องการภาคเอกชน ผ่านการทำแบบสอบถาม โดยให้บริษัทเอกชนแสดงความประสงค์ในการได้วัคซีน ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ปัจจุบันมีผู้แจ้งความต้องการ 2,629 บริษัท จำนวนพนักงาน 921,817 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28/4/2564) ซึ่งจะนำส่งให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรวัคซีนต่อไป

- ทีมเจรจาวัคซีนทางเลือกเสริมจากภาครัฐ ซึ่งภาคเอกชนพร้อมที่จะสนับสนุนภาครัฐในการเร่งจัดหาวัคซีนทางเลือกให้ทันเวลา และพร้อมสนับสนุนภาครัฐให้สามารถบริหารจัดการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

"นอกจากแผนการกระจายวัคซีนที่ภาคเอกชนจะไปสนับสนุนภาครัฐนั้น เรายังได้มีการหารือถึงแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะถัดไปอีกด้วย ทั้งเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ" นายสนั่น กล่าว

พร้อมระบุว่า หอการค้าไทย ได้เสนอแผนที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งมีการทดลองทำ Sandbox ของกลุ่มค้าปลีกและทางธนาคารมาแล้ว เพื่อให้ SMEs เข้าถึง Soft Loan โดยพร้อมที่จะขยายผลต่อไป

นอกจากนั้น จะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยผ่านโครงการ HUG THAIS ฮักไทย Love Thais, Help Thais "รวมใจ ไทยไม่ทิ้งกัน" โดยกระตุ้นภาคเอกชนและภาคประชาชนในการอุดหนุนสินค้าไทย และธุรกิจของผู้ประกอบการคนไทย รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งภาครัฐได้ให้ความมั่นใจว่า ภาครัฐได้มีการเตรียมการช่วยเหลือ SMEs ไว้ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, การทำสินเชื่อ Factoring, Soft Loan, พักทรัพย์พักหนี้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งโครงการ "คนละครึ่ง" "ช้อปดีมีคืน" และอีกหลายโครงการที่สามารถเสริมกันได้อย่างแน่นอน และพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชนเพื่อปรังปรุงกฎหมายกฎระเบียบ ให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้สะดวก เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศในลำดับถัดไป

ขณะที่ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาคเอกชนได้นำเสนอแนวทางการทำงานของหอการค้าไทยในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยจัดทำแผนตั้ง 4 ทีมสนับสนุน ซึ่งมีบริษัทที่มีความถนัดในธุรกิจนั้นๆ มาช่วยกระจายฉีดวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีดีใจที่รัฐบาลและเอกชนจะร่วมมือกันโดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อมีการเปิดประเทศ นายกรัฐมนตรียังเน้นถึงบทบาทสำคัญของรัฐบาลในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ เอกชน ดูแลกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ให้เกิดความยืดหยุ่นและดำเนินการได้ พร้อมกับชี้แจงเรื่องการโอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีมาเป็นของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว ใน พ.ร.บ.ทั้ง 31 ฉบับ ตามประกาศการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีฯ (ฉบับที่ 3) ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นการบูรณการกฎหมายเพื่อแก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

พร้อมกับยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณในเรื่องแผนการจัดหาวัคซีนเดิม จำนวน 63 ล้านโดส จัดหาเพิ่มเติม จำนวน 37 ล้านโดส เป้าหมาย 100 ล้านโดส เพื่อดูแลคนไทยทุกคนทั่วประเทศ รวมทั้งการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 เฉพาะหน้า โดยเฉพาะการนำผู้ป่วยเข้าถึงสถานพยาบาล การเตรียมพร้อมบุคลากร เครื่องมือ เตียง และยา

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมจะทำงานเคียงคู่ไปกับภาคเอกชน เน้นการทำงานที่มีผลสัมฤทธ์ โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งทีมประสานงานเพื่อดำเนินกิจกรรมคู่ขนานร่วมกับทีมภาคเอกชนทั้ง 4 ทีม รวมถึงการมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปพิจารณาแนวทางการขึ้นทะเบียนสำหรับวัคซีนโควิดที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังให้ความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยด้านสุขภาพของคนไทยทุกคน รวมทั้งแรงงานและชาวต่างประเทศที่ทำงานในประเทศไทยด้วย ไม่เพียงเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เท่านั้น ยังรวมถึงโรคภัยอื่นๆ รวมทั้งเดินหน้าเศรษฐกิจ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับ SMEs มาตรการเยียวยาผู้มีรายได้น้อย โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว และตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเปิดประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 ด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook