"อาลัวพระเครื่อง" ส่อแววงานเข้า! ทนายความ ประสานเสียง พศ. เสี่ยงเจอทั้งคุกทั้งปรับ

"อาลัวพระเครื่อง" ส่อแววงานเข้า! ทนายความ ประสานเสียง พศ. เสี่ยงเจอทั้งคุกทั้งปรับ

"อาลัวพระเครื่อง" ส่อแววงานเข้า! ทนายความ ประสานเสียง พศ. เสี่ยงเจอทั้งคุกทั้งปรับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีที่เป็นเรื่องฮือฮาในโลกออนไลน์ หลังร้านขนมไทยแห่งหนึ่ง ใน อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ทำขนมอาลัวเป็นรูปพระเครื่อง หลายรูปแบบ หลากสีสัน ขายในโลกออนไลน์ ถือเป็นการสร้างความแปลกใหม่ในวงการขนมไทย ทำให้ขายดีจนทำแทบไม่ทัน แต่ก็มีบางส่วนมองว่าไม่เหมาะสม และไม่พอใจที่ทำขนมรูปทรงพระเครื่องออกมาจำหน่าย ในรูปแบบของขนมของกิน

วันนี้ (28 เม.ย.) นายอานนท์ เชื้อสัตตบงกช ทนายความ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว “อานนท์ เชื้อสัตตบงกช” เตือนถึงเรื่องนี้ว่า เป็นการกระทำที่เข้าข่ายมีความผิดทางกฎหมาย โดยมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี และปรับสูงสุด 14,000 บาท โดยระบุว่า

"คิดได้ไง อะไรที่เขาไม่ทำกันนะชอบนัก.!!!

#กรณีขนมอาลัว” ของร้าน มาดามชุบ ที่ทำออกมาขายหลากหลายรูปทรง โดยเฉพาะที่ได้รับความสนใจจากผู้พบเห็นที่สุด คงหนีไม่พ้น รูปทรงพระเครื่องหลากสีสัน ทั้งสมเด็จพิมพ์นิยม และเบญจภาคี รวมทั้งพระเครื่องชื่อดังอีกหลายสำนัก จนเป็นที่ฮือฮาในโลกโซเชียล

ทางร้านโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมระบุว่า “อาลัวพระเครื่องนั้นเป็นของทางร้าน โดยขายกล่องละ 100 บาท จำนวน 20 ชิ้นเป็นรสออริจินัลควันเทียน เป็นการผลิตตามออร์เดอร์ อาจทำให้ล่าช้า และอาจต้องรอขนมนานถึง 2 สัปดาห์ เพราะมีคนสนใจสั่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก”

#ถือเป็นความคิดแปลก ๆ อีกรูปแบบหนึ่ง ที่พยายามเรียกยอดขายจากลูกค้า แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ในสังคมชาวพุทธ รูป หรือวัตถุพระเครื่อง ย่อมสื่อถึงตัวแทนของพระพุทธเจ้า ที่ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจ และใช้กราบไหว้

การนำภาพเหมือน หรือวัตถุตัวแทนต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้า มาทำเป็นขนมรับประทานแบบนี้ หรือแม้กรณีฝรั่ง ทำภาพเลียนแบบพระพุทธรูป เอาไปตั้งโชว์รับแขก ส่วนมากใครเห็น ก็คงไม่มีใครพอใจแล้ว

 

อย่างกรณีนี้ หากจะมองในแง่กฎหมาย ก็อาจถือได้ว่า การทำขนมแบบนี้ เข้าข่ายที่จะมีความผิด ฐานดูหมิ่นเหยียดหยามวัตถุ หรือสถานที่เคารพ ตาม ปอ.ม. 206 ได้ เพราะคำว่า วัตถุ หรือสถานที่เคารพ ไม่ได้จำกัดว่า จะต้องเป็นใครจัดสร้าง และต้องเป็นของแท้แน่นอนจากวัดประการใด

แต่การนำวัตถุ ซึ่งเป็นรูปพระเครื่อง ซึ่งหมายถึงตัวแทนพระพุทธเจ้า มาทำเป็นขนมรับประทานกัดกินแบบนี้ ยอมเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีได้ เพราะเจตนาของกฏหมายข้อนี้มุ่งคุ้มครองความรู้สึกของชาวพุทธมากกว่า มิได้มุ่งคุ้มครองวัตถุ ที่สร้างขึ้นจากวัดจริง ๆ

เจอแบบนี้บอกได้คำเดียวว่าอึ้ง!! โลกเรามันเปลี่ยนไปเร็วเหลือเกิน ผ่านมาแค่สองพันปี พระพุทธเจ้าของเรา กลายเป็นขนมไปซะละ แล้วอย่าบอกนะว่า คุณเห็นภาพนี้แล้วไม่รู้สึก

ประมวลกฎหมายอาญา #มาตรา ๒๐๖ ผู้ใด กระทำด้วยประการใด ๆ แก่ วัตถุ หรือ สถาน อันเป็นที่เคารพ ในทางศาสนา ของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยาม ศาสนานั้น ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ หนึ่งปี ถึง เจ็ดปี หรือ ปรับตั้งแต่ สองพันบาท ถึง หนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ"

ความเห็นดังกล่าว สอดคล้องกับ นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ที่กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และไม่สมควรทำขนมอาลัวรูปทรงพระเครื่อง

นายณรงค์ เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ ได้เตรียมทำหนังสือชี้แจงร้านขนมดังกล่าว ว่า ทำไม่ได้ และไม่สมควรทำ เพราะรูปพระเครื่อง ถือเป็นวัตถุมงคล เครื่องสักการะ บูชาพระพุทธเจ้า และไม่รู้ว่าไปเอาไอเดียนี้มาได้อย่างไร

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook