“บ่วงบุญคุณ” พันธนาการรักของพ่อแม่ที่อาจทำร้ายลูก

“บ่วงบุญคุณ” พันธนาการรักของพ่อแม่ที่อาจทำร้ายลูก

“บ่วงบุญคุณ” พันธนาการรักของพ่อแม่ที่อาจทำร้ายลูก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ข่าวของ “มีล่า-จามิล่า พันธ์พินิจ” อดีตนักร้องจากค่ายกามิกาเซ่ ที่ออกมาเปิดเผยว่าเคยโดนน้องชายทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสเมื่อ 2 ปีที่แล้ว กลายเป็นเรื่องโด่งดังและเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคมเรื่องปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นวงกว้าง ที่ไม่ใช่แค่เรื่องการใช้ความรุนแรง แต่ยังมีการใช้คำว่า “บุญคุณ” ที่มีต่อพ่อแม่ มาปิดปากผู้ถูกกระทำอีกด้วย อย่างไรก็ตาม กรณีของนักร้องสาวไม่ใช่ครั้งแรกที่ข่าวความรุนแรงในบ้านหลุดลอดออกมาปรากฏให้สังคมได้เห็น แต่ยังมีผู้ถูกกระทำความรุนแรงอีกมากมายที่ไม่มีโอกาสได้ส่งเสียงขอความช่วยเหลือ เนื่องจากผู้ที่กระทำความรุนแรงต่อพวกเขาเป็น “ผู้มีพระคุณ”

แม้การตอบแทนบุญคุณจะเป็นค่านิยมความเชื่อที่ดีงามที่คนในสังคมไทยยึดถือ ทว่า เมื่อใดก็ตามที่คำคำนี้ถูกนำมาใช้ร่วมกับการแสดงอำนาจเหนือเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง ก็อาจจะสามารถทำลายชีวิตของผู้ถูกกระทำได้อย่างรุนแรง และอาจส่งผลต่อพวกเขาไปตลอดกาล

การใช้อำนาจในนามของ “บุญคุณ” 

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเชื่อเรื่อง “บุญคุณ” ชัดเจนมาก และศาสนาก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถ่ายทอดและส่งต่อคำสอนที่เชื่อมโยงกับการจัดลำดับอำนาจเช่นนี้มาอย่างยาวนาน ยิ่งไปกว่านั้น ความเชื่อดังกล่าวได้ไหลเวียนอยู่ในทุกสถาบันที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดและมีความสำคัญที่สุดในสังคม

“ความเป็นผู้ใหญ่ผู้น้อยมีอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน แต่ในปัจจุบันอำนาจมันตกไปอยู่ที่ “คนที่มีอำนาจทางการเงิน” หรือคนที่เลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เด็ก” คุณบุณฑริกา แซ่ตั้ง เจ้าของเพจ “ไม่อยากกลับบ้าน” เปิดประเด็น “พวกเขามีอำนาจในการตัดสินใจ บางคนแทบชี้เป็นชี้ตายได้เลยด้วยซ้ำ นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการควบคุมจิตใจของลูกอีก ลูกบางคนต้องเรียนหนังสือหรือเลือกคณะที่ตัวเองไม่ได้อยากเรียนแต่พ่อแม่เลือกให้ เพราะพ่อแม่เป็นคนจ่ายค่าเล่าเรียน แล้วเขาก็ยกเรื่องบุญคุณขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการทำร้ายร่างกายและจิตใจลูก นั่นเป็นเพราะความเข้าใจที่มีต่อเด็กมีไม่มากพอ พ่อแม่ยึดถืออำนาจมากเกินไปว่าฉันมีภาระในการเลี้ยงดูแล้ว ฉันก็มีอำนาจในการบังคับจิตใจหรือแม้แต่ร่างกายของลูกได้เสมอ”

“ปู่ย่าบอกว่าที่บ้านมีบุญคุณมาก เลี้ยงดูเรามา เป็นบุญแค่ไหนแล้วที่ได้เกิดมาเป็นคน การทำให้พ่อแม่รู้สึกแย่เป็นบาปกรรม นรกจะกินหัว เด็กสัมผัสและประเมินได้อยู่แล้วว่าใครมีอำนาจเหนือกว่าเขา และยิ่งโดนตอกย้ำลงไปอีกด้วยคำว่าบาปกรรม ความเชื่อเรื่องอำนาจมันเลยฝังหัว แล้วเป็นสิ่งที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ห้ามขัดขืน” คุณจอมเทียน จันสมรัก นักกิจกรรมด้านความรุนแรงทางเพศ เสริม 

บุญคุณกับภูเขาความรุนแรง

ความเชื่อที่ว่าพ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณ ทำให้พ่อแม่เชื่อว่าตัวเองมีอำนาจเหนือลูกและสามารถกำหนดชีวิตของลูกได้ พ่อแม่หลายคนเลือกใช้วิธีการที่รุนแรงในการอบรมสั่งสอนลูก ตั้งแต่การบังคับ ด่าทอ ไปจนถึงการตบตี เมื่อรู้สึกว่าลูกไม่ได้ดั่งใจ โดยอ้าง “ความรัก” และ “ความหวังดี” มาเป็นเหตุผลอธิบายการกระทำความรุนแรงนั้น ๆ โดยไม่คิดว่าการกระทำดังกล่าวจะสร้างผลกระทบต่อลูกผู้ถูกกระทำหรือไม่ ซึ่งคุณนิดนก-พนิตชนก ดำเนินธรรม นักเขียนและคุณแม่ท่านหนึ่ง กล่าวว่า เมื่อไรก็ตามที่เราเอาคำว่ารักไปผูกกับความรุนแรง เด็กจะเชื่อมโยงความรักกับการใช้กำลังและความรุนแรง และจะก่อให้เกิดผลเสียตามมาในอนาคต 

มันเหมือนภูเขาน้ำแข็ง สิ่งที่อยู่ข้างใต้ภูเขาน้ำแข็งลงไปคือความกลัว ประสบการณ์ที่ไม่ดี หรือบางทีมันคือการซึมซับเอาความรุนแรงที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ทำ และมันจะกลายเป็นทัศนคติที่ฝังอยู่ในตัวของเขาไป

ข้ออ้างเรื่องความรักไม่เพียงแต่จะถูกนำมาใช้อธิบายการกระทำอันรุนแรงของพ่อแม่เท่านั้น แต่ยังบังตาคนในสังคม ทำให้คนส่วนใหญ่หันหลังให้กับความรุนแรงที่คนในครอบครัวนั้น ๆ กำลังเผชิญ ด้วยคำพูดสุดคลาสสิกว่า “ยังไงเขาก็เป็นพ่อแม่” โดยคุณบุณฑริกาได้แสดงความคิดเห็นว่า สังคมไม่ควรประเมินปัญหาของครอบครัวอื่นว่าเป็นเรื่องปกติ เวลาพ่อแม่ตีลูก สังคมไม่ควรบอกว่าเขาตีเพราะรัก เพราะนั่นคือการเอาไม้บรรทัดของตัวเองไปทาบอยู่บนตัวของคนอื่น ในขณะที่บางคนพูดได้ว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูก เพราะมาจากครอบครัวที่อบอุ่น พ่อแม่มีเวลา ไม่มีปัญหาทางการเงิน แต่ยังมีคนอีกมากมายที่มีประสบการณ์ที่แตกต่างและต้องเผชิญหน้ากับความเลวร้ายที่มาในรูปของครอบครัว 

สิ่งที่น่าเศร้าก็คือ เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นในครอบครัว ผู้ได้รับความเสียหายหลายคนเลือกที่จะเงียบและไม่แจ้งความดำเนินคดีกับคนในครอบครัวที่ทำร้ายพวกเขา เพราะการดำเนินคดีหมายความว่าพวกเขาจะไม่ได้กลับบ้านอีกต่อไป ไม่ได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัว และกลายเป็น “คนเลว” ของครอบครัวในที่สุด

บุญคุณถูกใช้เพื่อปิดปากคนที่ถูกกระทำความรุนแรงในบ้านมานาน แล้วก็ยังถูกใช้อยู่ ซึ่งมันทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตัวเอง และทำให้เรายังตกอยู่ในความรุนแรงนั้น มีโอกาสถูกกระทำซ้ำสูง แล้วอาจจะถึงชีวิตได้” คุณจอมเทียนอธิบาย 

บุญคุณต้องใช้ เมื่อไร้สวัสดิการ 

บุญคุณไม่เพียงแต่ถูกใช้ปิดปากคนในครอบครัวเมื่อเกิดการใช้ความรุนแรงเท่านั้น แต่บุญคุณซึ่งเชื่อมโยงอยู่กับ “ความกตัญญู” ยังกลายเป็นความคาดหวังที่ถูกวางลงบนไหล่ของลูกหลานในหลาย ๆ ครอบครัว สภาพสังคมและนโยบายที่ไม่เหลียวแลผู้สูงอายุของประเทศไทย ทำให้ความรับผิดชอบตกไปอยู่ที่ลูกหลานซึ่งเป็นหลักประกันเดียวในชีวิตของพ่อแม่เมื่อพวกเขาแก่ตัวลง

“ถ้าเราแก่ไป เราจะได้เบี้ยคนชราเดือนละ 600 บาทเท่านั้น เอาไปใช้อะไรได้บ้าง หาร 30 วัน เราใช้ได้แค่วันละ 20 บาท ค่าน้ำค่าไฟยังจ่ายไม่ได้เลย คนเป็นพ่อแม่จึงต้องมาคาดหวังกับลูก แล้วความคาดหวังมีมากขึ้น เพราะตอนเด็กๆ เราโตขึ้นมา เราไม่ได้เรียนฟรี ค่ารักษาพยาบาลก็ไม่ฟรี ไม่มีอะไรที่รัฐบาลช่วยเหลือมนุษย์ในประเทศไทยเลยสักนิดเดียว พ่อแม่ต้องทำงานหนัก พ่อแม่ต้องออกไปทำงานข้างนอก ไม่มีเวลาให้ลูก สุดท้ายมันจะกลับไปเป็นปัญหาครอบครัว คือเมื่อมีค่าใช้จ่ายเยอะ การใช้เวลาร่วมกันก็น้อยลง ความรักก็น้อยลง มันเลยกลายเป็นความกตัญญู บุญคุณ และความคาดหวังแทน” คุณบุณฑริกากล่าว 

“พ่อแม่คาดหวังกับลูกเยอะมาก ซึ่งสุดท้ายมันก็กลับไปที่โครงสร้างสังคมอยู่ดี เพราะเราไม่มีสวัสดิการ เราไม่รู้เลยว่าถ้าวันหนึ่งเราแก่ตัวไป เราไม่ได้ทำงาน เราจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ เราต้องเก็บเงินเอง ซื้อประกันเองมาตลอดชีวิต เพราะรัฐไม่มีหลักประกัน ดังนั้น สิ่งที่ง่ายที่สุด ใกล้ตัวที่สุด แล้วก็พอเหมาะพอเจาะกับวัฒนธรรมและค่านิยมของคนไทยก็คือ “ความกตัญญูรู้คุณ” มันจึงกลับไปที่ลูก เราเลี้ยงลูกมา ดังนั้นก็ถึงเวลาที่ลูกต้องตอบแทนฉัน ซึ่งมันเจ็บปวดสำหรับลูก” คุณพนิตชนกชี้ 

ปลดพันธนาการให้ลูก 

แม้ว่าที่ผ่านมา บุญคุณจะถือเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการสร้างระเบียบแบบแผนและกำหนดหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว แต่สุดท้ายก็อาจกลายเป็น “กรงขัง” ที่ทำร้ายเด็ก ๆ ในครอบครัวเช่นกัน ดังนั้น เมื่อเราตั้งใจให้ลูกหลานของเราเกิดและเติบโตอย่างมีความสุข จึงควรปล่อยให้พวกเขาเจริญเติบโตตามเส้นทางที่พวกเขาเลือก โดยมีพ่อแม่เป็นเสมือน “ลมใต้ปีก” ที่คอยประคองจนกว่าพวกเขาจะแข็งแรง ไม่ใช่ “ผู้มีพระคุณ” ที่พวกเขาต้องอุทิศทั้งชีวิตเพื่อตอบแทนบุญคุณ ซึ่งในฐานะที่เป็นแม่ พนิตชนกมองว่า พ่อแม่ต้องเปลี่ยนแปลงความคิดของตัวเองเสียก่อน ว่าพ่อแม่เป็นคนเลือกที่จะมีลูกเอง  

“มันเป็นทางเลือกของเราเอง เรายอมรับที่จะมีสิ่งนี้แล้ว ไม่ว่าเราจะเหนื่อยแค่ไหน มันเป็นเรื่องที่เราเลือกแล้ว และเมื่อวันหนึ่งที่ลูกโตขึ้นมา เราจะเอาความรู้สึกเหนื่อยไปใช้ในการเรียกร้องบางอย่างกับลูกไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้เลือกที่จะมาเกิดกับเรา เขาไม่ได้บอกว่าช่วยพามาเกิดหน่อยสิ แต่เราเป็นคนเอาเขามาบนโลกใบนี้เอง” คุณพนิตชนกกล่าว

เช่นเดียวกับคุณบุณฑริกาที่ระบุว่า ปัญหาเรื่องบุญคุณจะถูกแก้ไข หากสังคมยอมรับว่าผู้ใหญ่ก็ทำผิดพลาดได้เหมือนกัน ยิ่งไปกว่านั้น สังคมต้องเลิกทำให้ค่านิยมที่ว่า ผู้ใหญ่ทำผิดไม่ต้องขอโทษ หรือพ่อแม่รักลูกทุกคน กลายเป็นเรื่องปกติ เพราะในสังคมที่กว้างใหญ่ แต่ละคนล้วนแล้วแต่เจอประสบการณ์ที่แตกต่างกันมา ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรเร่งแก้ไขปัญหา “เรื่องสวัสดิการ” ที่สามารถดูแลประชาชนทุกคนได้อย่างเท่าเทียมและถ้วนหน้า

“ถ้าระบบดูแลประชาชนดี เรื่องบุญคุณก็จะหายไป พ่อแม่ไม่ต้องคาดหวังอะไรจากลูก เขาสามารถใช้ชีวิตขอเขาได้ไปจนแก่ หรือเขาไม่ต้องหางินเลี้ยงดูลูกจนเหนื่อย แถมต้องไปติดหนี้คนนั้นคนนี้” คุณบุณฑริกาชี้ 

ทางด้านคุณจอมเทียนก็มองว่า สังคมต้องเลิกมองว่าปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องของส่วนตัว และต้องมองให้ออกว่ามันเป็นปัญหาที่เกิดจากการละเลยของทุกคนในสังคม เพราะเรามองว่ามันเป็น “เรื่องในครอบครัว” ที่ไม่ควรเข้าไปก้าวก่าย จนกลายเป็นความเคยชินและแปรเปลี่ยนเป็นความคิดที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมมาจนถึงทุกวันนี้

ทัศนคติที่ต้องได้รับการแก้ไขให้เร็วที่สุดคือ เรื่องคนต้องเท่ากัน คนทุกคนเท่ากัน ลูกคุณเกิดมา เขาก็มีสิทธิความเป็นคนเท่ากันกับคุณ เราต้องเริ่มจากการมองคนให้เท่ากันก่อน เพราะความรุนแรงมันมีรากฐานมาจากเรื่องของการใช้อำนาจ” คุณจอมเทียมกล่าวปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook