6 ผลผลิตสุดปังที่มีไอเดียจาก “พระพุทธศาสนา”
แม้ประเทศไทยจะให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่ก็ยังมีคำพูดติดปากว่า “เมืองไทยเมืองพุทธ” ด้วยวัดวาอารามที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ บวกกับคุณลักษณะของคนไทยที่ใครๆ ก็ว่าใจดีมีเมตตา และเมื่อใดก็ตามที่มีผู้ลบหลู่พระพุทธศาสนา องค์กรศาสนาพุทธของไทยก็พร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้อย่างเข้มแข็ง เช่นในกรณีล่าสุดอย่าง “ขนมอาลัวพระเครื่อง” ฝีมือแม่ค้าขายขนม “มาดามชุบ” ที่แม้จะทำออกมาได้น่ารักน่ากิน และสร้างสรรค์ แต่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสงครามกลับมองว่าไม่เหมาะสม พร้อมนำทีมเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจชุดใหญ่เข้าไปพูดคุยกับเจ้าของร้าน
ก็ไม่รู้ว่าชาวพุทธแท้เหล่านี้เขาไปโดนตัวไหนมา ถึงได้เล่นใหญ่รัชดาลัยเธียเตอร์กันเบอร์นี้ แต่ที่รู้ๆ ก็คือ ดูเหมือนพวกเขาจะลืมไปว่า ทั้งประเทศและต่างประเทศ มีการนำองค์ประกอบเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาดัดแปลงอย่างสร้างสรรค์ แถมยังเพิ่มมูลค่า และยังส่งเสริมพระพุทธศาสนาในโลกยุคปัจจุบันได้ด้วย ถ้ายังนึกไม่ออกก็มาดูกันที่นี่เลย
หิมพานต์มาร์ชเมลโล่
กลายเป็นเทรนด์สุดคิวท์ในโลกออนไลน์อยู่พักใหญ่ สำหรับแก๊ง “หิมพานต์มาร์ชเมลโล่” ซึ่งมีที่มาจากการแชร์ภาพประติมากรรมสัตว์ในตำนานป่าหิมพานต์ ที่ติดตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นโบสถ์ของวัดในภาคอีสานและภาคเหนือตอนล่าง ประติมากรรมเหล่านี้สร้างขึ้นโดยช่างฝีมือท้องถิ่น ที่ไม่เน้นรายละเอียดอันวิจิตรพิสดารตามขนบช่างหลวง แต่สร้างขึ้นอย่างง่ายๆ ไม่มีการตกแต่งลวดลายใดๆ ทว่าโดนใจคนรุ่นใหม่ ด้วยหน้าตาอันเป็นมิตร น่ารัก จนกลายเป็นไวรัลทั่วโลกออนไลน์ พร้อมติดแฮชแท็ก #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่
หลังจากนั้น เจ้าแก๊งน้อนนนน เหล่านี้ก็กลายเป็นต้นแบบให้หลายคนต่อยอดไปสู่ภาพแฟนอาร์ต การ์ตูนช่อง ไปจนถึงเกมออนไลน์ และโมเดลสามมิติ โดย MOTMO Studio ได้คัดเลือกสัตว์หิมพานต์จำนวน 5 ตัว ได้แก่ เหราจากวัดชัยภูมิการาม จังหวัดอุบลราชธานี, มอมจากวัดพระธาตุขามแก่น จังหวัดขอนแก่น, สิงห์จากวัดเกาะวาลุการาม จังหวัดลำปาง, นาคสีฟ้าจากวัดนรวราราม จังหวัดมุกดาหาร และนาคสีเขียวจากวัดโพธิ์ศรีทุ่ง จังหวัดอุดรธานี มาจัดทำเป็นโมเดลสำหรับจำหน่าย และมอบกำไรจากการขายให้แก่ทางวัดต่อไป โดยถือว่าเป็นการเผยแพร่ความรู้และทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังจับกระแสนี้มาต่อยอดเป็นโครงการ “Himmapan Project” ชวนคนไทยเที่ยวตามอัตลักษณ์ท้องถิ่นทั้งในเมืองหลักและเมืองรองอีกด้วย
คุกกี้จตุคำ
สำหรับครีเอทีฟสายพระพุทธศาสนา คงหนีไม่พ้นเจ้าพ่อโปรเจ็กต์อย่าง “พระพยอม กัลยาโณ” เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ที่เปิดตัว “คุกกี้จตุคำ รุ่นฉุกคิด 4 คำ รวยโคตร” สวนกระแสจตุคามรามเทพ วัตถุมงคลสุดฮิตในปี 2550 ซึ่งพระพยอมมองว่า ขณะนั้น ชาวพุทธกำลังหลงทิศหันไปยึดติดกับจตุคามรามเทพ แทนที่จะยึดถือเรื่องอริยสัจ 4 ที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
คุกกี้จตุคำ เป็นคุกกี้กลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 ซม. ด้านหน้าปั๊มตัวหนังสือว่า "จตุคำ" มีทองคำเปลวติด ส่วนด้านหลังมียันต์คาถามหาเศรษฐีว่า "อุ อา กะ สะ" แปลว่า ขยันหา ขยันเก็บ เลือกคบ เลือกใช้ พร้อมลายเซ็นของพระพยอม บรรจุในกระป๋องอะลูมิเนียม กล่องละ 4 ชิ้น ราคา 60 บาท และวางจำหน่ายที่วัดสวนแก้ว
ขนมพระใหญ่ไดบุตสึ
พระใหญ่ไดบุตสึแห่งเมืองคามาคุระ จังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญของเมือง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ความโดดเด่นของพระพุทธรูปองค์นี้ไม่ใช่แค่ความงดงามอลังการเท่านั้น แต่ยังเป็นซิกเนเจอร์ประจำเมือง ที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นของที่ระลึกสุดเก๋ ไปจนถึง “ขนม” อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น “ไดบุตสึยากิ” ขนมรูปหน้าพระใหญ่หลับตายิ้ม ที่เพิ่มสตอรี่เข้าไปว่า เป็นขนมที่กินแล้วจะมีความสุข “ขนมมันจูพระพุทธรูป” ไส้คัสตาร์ดและไส้ถั่วแดงบด หรือแม้กระทั่ง “อมยิ้มพระพุทธองค์” ที่มีคิวอาร์โค้ดให้สแกนดูดวงต่อได้ด้วย รวมทั้งพุดดิ้งท็อปปิ้งไข่มุก ที่จัดวางให้ไข่มุกเป็นพระเกศาของพระพุทธเจ้าด้วย
Saint Young Men ศาสดาลาพักร้อน
“Saint Young Men” หรือชื่อไทยว่า “ศาสดาลาพักร้อน” เป็นการ์ตูนมังงะชื่อดังจากญี่ปุ่น ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อนิเมะและซีรีส์คนแสดง มีเนื้อหาจำลองเหตุการณ์ที่ศาสดาคนสำคัญของโลกอย่าง พระพุทธเจ้าและพระเยซู ลาพักร้อนจากการปฏิบัติภารกิจบนสวรรค์ มาใช้ชีวิตแบบคนธรรมดา สะท้อนความเป็นมนุษย์ของศาสดาทั้งสอง และยังสอดแทรกคำสอนทางศาสนาที่ลึกซึ้งไว้ ภายใต้มุกตลกและการเสียดสีสังคมญี่ปุ่น
การ์ตูน Saint Young Men ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากชาวพุทธในประเทศไทยว่าเป็นการลบหลู่ศาสนา โดยมีการทำหนังสือร้องเรียนไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทำการยับยั้งการเผยแพร่การ์ตูนเรื่องนี้ผ่านทางสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ องค์กร Knowing Buddha ได้ร้องเรียนไปยังกระทรวงการต่างประเทศให้ดำเนินการเรื่องนี้ ทว่าหลังจากนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้ให้คำตอบต่อกรณีนี้ว่า เมื่อการ์ตูนเรื่อง Saint Young Men เผยแพร่ในญี่ปุ่น ก็ได้รับความนิยมอย่างสูง และไม่มีกระแสต่อต้าน เนื่องจากชาวญี่ปุ่นนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งพระสงฆ์สามารถดำเนินชีวิตโดยทั่วไปในลักษณะเดียวกับฆราวาสได้หลายด้าน ทำให้แนวคิดและมุมมองของชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับพุทธศาสนาต่างจากชาวไทย และรัฐธรรมนูญให้สิทธิชาวญี่ปุ่นมีอิสระทางความคิดและการแสดงออกในเชิงศาสนาอย่างเต็มที่
สนทนาธรรมในบาร์
ในขณะที่สังคมไทยมองว่าผับบาร์เป็นสถานที่ที่อยู่คนละโลกกับพระพุทธศาสนา แต่ที่ญี่ปุ่น พระสามารถดื่มเหล้า ชงเหล้า และทำธุรกิจได้ ดังนั้น บาร์ที่มีชื่อว่า Vowz Bar จึงเกิดขึ้นเมื่อปี 2543 ในย่านชินจูกุ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เรียนรู้และสนทนาเกี่ยวกับธรรมะระหว่างดื่มสังสรรค์
พระที่ทำงานในบาร์จะมาจากนิกายต่างๆ โดยจะทำงานที่วัดในช่วงกลางวัน และทำงานในบาร์ตอนกลางคืน นอกจากนี้ ลูกค้าที่มาใช้บริการยังมีความหลากหลาย ตั้งแต่พนักงานออฟฟิศ นักท่องเที่ยว ไปจนถึงผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งทำให้ผู้ที่มาใช้บริการสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาได้จากหลายมุมมองเลยทีเดียว นอกจากนี้ ก่อนออกจากบาร์ ลูกค้าจะต้องเขียนตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นลงบนกระดาษ เพื่อเป็นการเติม “พระสูตร” ของพระพุทธศาสนาให้สมบูรณ์อีกด้วย
เผยแผ่ศาสนาด้วยดนตรี
ชาวพุทธไทยอย่างเราๆ อาจจะคุ้นเคยกับบทสวดมนต์แบบโมโนโทนเพื่อความสงบ แต่สำหรับชาวญี่ปุ่น บทสวดมนต์ถูกพัฒนาไปไกลและดูเหมือนจะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันได้อย่างง่ายดาย โดยใช้สื่อสากลอย่าง “เพลง” ยกตัวอย่างเช่น วัดเท็นริว ในเมืองเกียวโต นำเอาพระธรรมคำสอนมาประกอบเข้ากับเพลงแนวอิเล็กทรอนิกส์ และเผยแพร่ทางแอปพลิเคชันสตรีมมิงเพลง
นอกจากนี้ ยังมีพระกันโช ทะงะอิ หรือ “MC Happiness” ที่นำพระธรรมมาผสมผสานกับเพลงฮิปฮอป โดยมีเป้าหมายเพื่อ “การส่งพระธรรมคำสอนสู่ใจประชาชน" ในยุคที่คนมองว่าการเข้าวัดเป็นเรื่องแปลก รวมทั้งพระสายดีเจอย่างท่านเกียวเซน อาซาคุระ ที่นำเอาความฝันที่จะประกอบอาชีพดีเจมาผนวกกับการดูแลวัด ซึ่งเป็นมรดกของครอบครัว และจัดการแสดงพระธรรมเทศนาพร้อมแสงสีเสียง ที่เรียกว่า "Techno Hoyo" เรียกศรัทธาจากผู้คนหลายวัยให้เข้ามาฟัง โดยท่านระบุว่า สิ่งที่เหมือนกันระหว่างการเป็นดีเจและพระ คือ “การส่งต่อสิ่งที่สวยงามไปสู่ผู้ฟัง”
ส่วนแนวเพลงร็อกและแจ๊สก็ไม่น้อยหน้า เพราะญี่ปุ่นเขามีวงร็อกชื่อว่า “บ๊อกซี” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของพระสงฆ์และบาทหลวง จัดคอนเสิร์ตเพลงร็อกเพื่อเผยแผ่ศาสนา โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าใจแก่นแท้ของศาสนา และมีความสุขกับการฟังเพลง ส่วนพระสงฆ์นิกายนิชิเรนแห่งวัดโจไซจิ ในจังหวัดนางาซากิ ก็ได้ดัดแปลงบทสวดมนต์และใช้ดนตรีแจ๊สมาประกอบ รวมทั้งเปิดคอนเสิร์ตและออกอัลบั้มที่มีชื่อว่า “เซทัน” หรือ “กำเนิดอันศักดิ์สิทธิ์” โดยเชื่อมั่นว่า บทสวดมนต์ที่ควบคู่ไปกับดนตรีแจ๊สจะทำให้ชาวพุทธใกล้ชิดกับพระธรรมมากขึ้น
แม้ว่าศาสนาจะสามารถนำมาเชื่อมโยงกับความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนาแนวทางการนำเสนอให้เหมาะสมกับยุคสมัยและไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ แต่คงไม่อาจสรุปได้ว่าแนวทางสมัยใหม่นั้นถูกต้องดีงามมากกว่าแนวทางดั้งเดิม สิ่งที่เราจะทำได้ในยุคสมัยแห่งความหลากหลายเช่นนี้ จึงน่าจะเป็นการอยู่ร่วมกันและเคารพในความแตกต่างทางความคิด รวมทั้งเปิดกว้างให้กับการทดลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้ศาสนาสามารถพัฒนาไปข้างหน้าตามกาลเวลาในที่สุด