ผู้นำเข้าวัคซีน Sputnik V เผยรอ อย. อนุมัติ มั่นใจล็อตแรกได้ 1 ล้านโดส สิ้นปี 20 ล้านโดส
ผู้นำเข้าวัคซีนโควิด Sputnik V จากรัสเซีย เผยยื่นเอกสารขออนุญาตขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้ว รออนุมัติ มั่นใจถ้าผ่านสามารถนำมาได้ล็อตแรก 1 ล้านโดส ภายในสิ้นปีรวมประมาณ 20 ล้านโดส
จากกรณีกระแสโลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ถึงรัฐบาลเรื่องการนำเข้าวัคซีนโควิดล่าช้า จนทำให้มีคนเสียชีวิตเพิ่มเรื่อยๆ ล่าสุดทางรายการ "ถกไม่เถียง" ที่ออกอากาศสดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง Hitz955.com รวมทั้งติดตามชมรายการย้อนหลังแบบเต็มๆ ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/terodigital และยูทูบช่อง Tero Digital ได้เชิญตัวแทนผู้นำเข้าวัคซีนชื่อดัง "สปุตนิก วี" จากรัสเซีย มาร่วมพูดคุยว่าติดปัญหาอะไร ทำไมไทยถึงได้วัคซีนล่าช้า
โดย คุณมารุต บูรณะเศรษฐกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ในฐานะผู้นำเข้าวัคซีน "สปุตนิก วี" จากรัสเซีย เปิเผยว่า ทางบริษัทเริ่มยื่นเอกสารให้แก่ อย. ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีนี้ แต่ต้องยอมรับว่าเรื่องเอกสารมีความยากลำบาก เพราะมาตรฐานของทางรัสเซียมีความแตกต่างจากไทย แต่ทาง อย. ไทยก็ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี จนตอนนี้ได้ยื่นเอกสารใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในฐานะที่เป็นผู้ยื่นขอ ไม่ได้มีอำนาจในการไปยุ่งเกี่ยวกับมาตรฐานการนำเข้าวัคซีน เป็นเรื่องที่ทางผู้มีอำนาจกำหนดมา
ปัจจุบัน วัคซีน สปุตนิก วี (Sputnik V) มีใช้แล้วถึง 64 ประเทศ ส่วนในไทยปัจจุบันเอกสารการขออนุญาตทุกอย่างอยู่ที่อย. แล้ว ถ้าทุกอย่างผ่านระยะเวลาตรวจสอบเอกสารแล้ว ก็จะอนุมัติภายใน 30 วัน ขึ้นอยู่กับ อย. ว่าจะนับวันที่ 1-30 วันไหน เพราะทางเราส่งเอกสารทุกอย่างครบหมดแล้ว
เบื้องต้นคาดว่าถ้าอนุมัติให้วัคซีนผ่านภายใน 30 เมษายน ตามที่คุยกับผู้ผลิตไว้ ก็จะสามารถได้รับวัคซีนภายในเดือนพฤษภาคมนี้ 1 ล้านโดส แต่ตอนนี้ต้องเลื่อนออกไปก่อน และเราได้มีการวางแผนไว้ว่าภายในสิ้นปีนี้ เราจะมีวัคซีนรวมทั้งหมดแล้วประมาณ 20 ล้านโดส
ส่วนเรื่องที่ว่าคนที่จะฉีดวัคซีน สปุคนิก วี นั้น ต้องเสียเงินเองหรือไม่ คุณมารุตบอกว่า เท่าที่คุยกับทางภาครัฐมา ทางภาครัฐตั้งใจว่าวัคซีน สปุตนิก วี ที่นำเข้ามานี้ จะเป็นการนำเข้ามาเพื่อให้บริการกับประชาชน ไม่จำเป็นต้องเสียเงิน ถือว่าเป็นวัคซีนทางเลือก ผู้นำเข้าคือตน แต่ผู้ซื้อคือภาครัฐ ส่วนเรื่องหากประชาชนต้องควักเงินเพื่อซื้อเองนั้น ในด้านกฎหมายตนไม่สามารถบอกราคาตายตัวได้ เพราะยังไม่ผ่านการอนุญาต มันจะผิดกฎหมาย แต่คร่าวๆ ราคาต้นทุนอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 1,000 บาท ยังไม่รวมค่าบริการ ค่าขนส่ง ค่าวิชาชีพแพทย์/พยาบาล
สำหรับวัคซีน สปุตนิกวี จากรัสเซีย นั้น กลุ่มอายุที่สามารถฉีดได้จะอยู่ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป และเกิน 60 ปีได้ และจากจำนวนผู้ที่ฉีดมาแล้วไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มตัวอย่าง พบว่าวัคซีนสปุตนิก วี มีประสิทธิภาพสูงถึง 97.6% ส่วนเรื่องของผลข้างเคียงนั้น ต้องยอมรับว่ามีผลข้างเคียง แต่น้อยมาก ผลที่เกิดขึ้นคือ อาการปวดหัว มีไข้ และผื่นขึ้น เหมือนกับการได้รับวัคซีนทั่วๆ ไป ประเทศอินเดีย และเกาหลีใต้ ก็นำเข้าวัคซีน สปุตนิก วี ทั้ง 2 ประเทศขึ้นชื่อเรื่องการขึ้นทะเบียนทางการแพทย์และยาได้ยากที่สุดในโลก แต่ตอนนี้เขาได้อนุมัติวัคซีน สปุตนิก วี แล้ว
ส่วนประเด็นเรื่องประชาชนสามารถเลือกยี่ห้อของวัคซีนได้หรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าตอนนี้ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ควรเลือกหรือไม่เลือก แต่ควรฉีดให้เร็วที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ประมาณ 70% ของประชากร ถ้ามีวัคซีนควรรีบฉีด ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใดก็ตาม เพราะทุกยี่ห้อมีผลข้างเคียงหมด ในความจำเป็นของสังคมหากมีการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมา จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคลดน้อยลง หรือลดการติดเชื้อรุนแรงได้ การใช้วัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วจะคาดหวังว่ามันจะได้ประสิทธิภาพ 100% อาจจะเป็นเรื่องยากไปสักหน่อย
สำหรับเรื่องที่การนำเข้าวัคซีนในบ้านเราที่ดูล่าช้า คุณมารุต มองว่า มันไม่พร้อมที่ระบบบ้านเรา ที่ยังมีในเรื่องของอำนาจการตัดสินใจ ต้องปฏิบัติตามกฎ ทุกอย่างต้องทำไปตามกฎที่กำหนดไว้ คงไม่มีใครอยากให้มันผิดพลาด หากทำผิดขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ
แล้วทำไมทางรัสเซียถึงได้ติดต่อมาทางบริษัทคุณมารุตนั้น คุณมารุตเผยว่า ทางผู้ผลิตวัคซีนที่รัสเซียเคยติดต่อรัฐบาลไทยมาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้ เขาเป็นผู้ผลิตเขาก็อยากขายวัคซีน ถ้าช่องทางไหนไปได้เร็ว เขาก็ไปติดต่อช่องทางนั้น และทางบริษัทเองก็มีความรู้พื้นฐานเทคโนโลยีในแง่ของการผลิต และมีใบอนุญาตในการนำเข้าสินค้าชีวเภสัชภัณฑ์อยู่แล้ว จึงสามารถติดต่อได้ เหมือนคุยกันในภาษาเดียวกันอยู่แล้ว
ทั้งนี้ วัคซีน สปุตนิก วี ต้องฉีด 2 เข็ม เว้นระยะห่าง 21 วัน ตามทฤษฎี สปุตนิก วี ฉีด 2 เข็ม อยู่ได้ปีครึ่ง โดยเข็มแรกเข้าไปสร้างภูมิ เข็มที่สองจะเข้าไปเสริม เหมือนเรามีรถ 2 คันที่ไม่เหมือนกัน