ผลักดัน "รัฐบาลดิจิทัล" ครม.ไฟเขียว หน่วยงานรัฐต้องใช้ "อีเมล" ในการสื่อสารเป็นหลัก
หลังจากเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 64 ครม.ได้เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างภาคผนวก 6 หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการรับส่งและเก็บรักษาข้อมูลข่าวสารและหนังสือราชการด้วยระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ และร่างภาคผนวก 7 หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการรับส่งและเก็บรักษาข้อมูลข่าวสารและหนังสือราชการโดยไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์
โดยสาระสำคัญ คือ เห็นชอบให้ใช้สารบรรณเล็กทรอนิกส์เป็นระบบหลักในงานสารบรรณของส่วนราชการ จากเดิมที่กำหนดให้สารบรรณอิเล็กทรอนิกส์เป็นทางเลือก เพียงแต่ยังคงยกเว้นกรณีที่เป็นข้อมูลข่าวสารลับชั้นลับที่สุด ที่เป็นสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการชั้นลับที่สุดเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว ความมั่นคงปลอดภัยในการดำเนินงานของภาครัฐ รวมทั้งยังสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งประชาชนจะได้รับความสะดวกในการติดต่อกับส่วนราชการมากยิ่งขึ้นด้วย
ล่าสุดวันนี้ (17 ส.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)รับทราบการพัฒนากฎหมายเพื่อเร่งรัดให้เกิดรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ดำเนินการพัฒนากฎหมายไปแล้ว อาทิ
1.จัดทำร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ยื่นคำขอหรือการติดต่อใดๆ ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐหรือระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน สามารถทำโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร
2.จัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2564 (ระเบียบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์) โดยหน่วยงานของรัฐต้องใช้อีเมลในการสื่อสารเป็นหลักมีผลตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดไปใช้ในการจัดทำระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้
3.ปรับปรุงกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินงานทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ จัดทำร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมให้ทันสมัย 6 ประเด็น) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงให้บริษัทมหาชนจำกัดและคณะกรรมการบริษัท มหาชน จำกัด สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร
4.ปรับปรุงวิธีการเขียนกฎกระทรวงและกฎหมายลำดับรองอื่นให้หน่วยงานของรัฐให้บริการแก่ประชาชนด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ. ศ.2558 ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายลำดับรองระดับกฎกระทรวงที่ผ่านการพิจารณาทั้งหมด 75 ฉบับ และพร้อมรองรับการดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว