แอมเนสตี้เผยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในที่คุมขังทั่วโลก วอนรัฐดูแลคุณภาพชีวิตนักโทษ

แอมเนสตี้เผยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในที่คุมขังทั่วโลก วอนรัฐดูแลคุณภาพชีวิตนักโทษ

แอมเนสตี้เผยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในที่คุมขังทั่วโลก วอนรัฐดูแลคุณภาพชีวิตนักโทษ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย เปิดเผยรายงานการเก็บข้อมูลวิจัยโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลใน 69 ประเทศ ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2563 - กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า เฉพาะในสหรัฐอเมริกา มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในที่คุมขัง เรือนจำ และสถานกักกันต่าง ๆ สูงถึงกว่า 612,000 ราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นทั้งผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ไม่ต่ำกว่า 2,700 คน โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว ได้แก่ การขาดความสามารถในการจัดบริการตรวจหาเชื้อ และแนวทางการจัดการเรื่องสาธารณสุขที่ไม่ดีพอ ซึ่งในช่วงแรกของการแพร่ระบาด แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่เรือนจำก็ไม่สามารถข้าถึงบริการการตรวจหาเชื้อ รวมทั้งยังขาดมาตรการป้องกันในหลายประเทศ เช่น กัมพูชา ฝรั่งเศส อิหร่าน ปากีสถาน ศรีลังกา ตองโก ตุรกี และสหรัฐอเมริกา

ข้อมูลของ UN Office on Drugs and Crime (UNODC) และ World Prison Brief ในปี 2561 คาดการณ์ว่ามีคนจำนวนไม่ต่ำกว่า 10.7 ล้านคนทั่วโลก ถูกคุมขังก่อนการตัดสินคดี หรือถูกต้องโทษจำคุก ซึ่งจำนวนที่แท้จริงอาจมีถึง 11 ล้าน เนื่องจากข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนในบางประเทศ โดยเมื่อต้นปี 2563 ประเทศที่มีสถิติจำนวนผู้ต้องขังมากที่สุดในโลก คือ สหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 1.4 ล้านคน และอีกหลายแสนคนถูกคุมขังในระหว่างการตัดสินคดีและในศูนย์กักกันผู้อพยพ รวมแล้วกว่า 2.3 ล้านคน

รายงานจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ระบุว่า กลุ่มคนในสถานที่คุมขังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 จากปัจจัยต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกัน ได้แก่

  1. บุคคลที่ถูกพรากเสรีภาพไปมักมีสภาพร่างกาย สุขภาพ และโรคภัยที่ซ่อนอยู่มากกว่าเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป เพราะการอยู่ในสภาพที่มีสุขอนามัยที่แย่กว่า สภาวะความเครียด โภชนาการที่ไม่ดี ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่ดี รวมถึงการระบาดของเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเลือด วัณโรค และสภาวะข้างเคียงจากการใช้ยาเสพติด
  2. นเรือนจำมักมีการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ การอักเสบ และเชื้อโรคอันเนื่องมาจากสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย มีเหตุจากความแออัดและขาดการรักษาสุขอนามัย จากข้อมูลของผู้รายงานพิเศษเรื่องการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม อย่างรวบรัด และโดยพลการ (UN Special Rapporteur on Extrajudicial, Summary or Arbitrary Executions) พบว่า นักโทษมักมีปัญหาสุขภาพ เช่น เบาหวาน หัวใจ หอบหืด ความดันโลหิตสูง และการติดเชื้อในปอด เช่น โรคปอดบวมและวัณโรค
  3. ผู้คนในเรือนจำมักไม่สามารถรักษาระยะห่างทางร่างกายได้
  4. การดูแลและให้บริการด้านสุขภาพอาจมีอย่างจำกัด

หน่วยงานสหประชาชาติต่างๆ ได้เรียกร้องให้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงว่า นักโทษมักมีภาวะการกดภูมิคุ้มกัน การติดสารเสพติด และโรคติดต่อ เช่น เอชไอวี วัณโรค และ ไวรัสตับอักเสบ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19

นอกจากนี้ ความแออัดภายในสถานที่คุมขังยังเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการระบาดของโรคโควิด-19 โดยกว่า 102 ประเทศทั่วโลกมีรายงานเรื่องอัตราความหนาแน่นในเรือนจำมากกว่าร้อยละ 110 ผู้ต้องขังจำนวนมากเป็นผู้ต้องขังที่ถูกแจ้งข้อหาหรือกระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรง รวมถึงจำนวนผู้ต้องขังที่ถูกจำคุกในระหว่างการพิจารณาคดีหรือการกักขังโดยพลการ เป็นส่วนหนึ่งของตัวเลขที่เกินสัดส่วน และมีจำนวนมากกว่าผู้ที่ถูกตัดสินคดีแล้วในกว่า 46 ประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น กว่า 12 ประเทศในแอฟริกามีจำนวนนักโทษมากกว่าปริมาณที่รับได้กว่าร้อยละ 200 ในบุรุนดี ยูกันดา และแซมเบีย ร้อยละ 300 และในสาธารณรัฐคองโก สูงถึงร้อยละ 600

สำหรับการติดเชื้อในเรือนจำ นักระบาดวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า เรือนจำเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เนื่องจากความแออัด การขาดสุขอนามัยและระบบการระบายอากาศ ทำให้ไม่สามารถมีการรักษาระยะห่างทางกายภาพ ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในเรือนจำในทุกทวีปทั่วโลก

  • กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สหรัฐอเมริกามีรายงานการติดเชื้อกว่า 612,000 กรณี ในเรือนจำและสถานกักกัน และมีรายงานผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ไม่น้อยกว่า 2,700 ราย ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าการแพร่ระบาดและเสียชีวิตภายนอกที่คุมขังและเรือนจำกว่า 4 เท่าตัว
  • เดือนกันยายน 2563 ประเทศอินเดียมีรายงานการติดเชื้อใน 351 เรือนจำ จาก 1,350 เรือนจำ หรือหนึ่งในสี่แห่งของเรือนจำใน 25 รัฐทั่วประเทศ และในเดือนเดียวกันนี้ เพื่อนบ้านอย่างประเทศปากีสถานก็มีจำนวนนักโทษติดเชื้อไม่น้อยกว่า 2,313 ราย
  • เดือนธันวาคม 2563 ประเทศเกาหลีใต้มีผู้ต้องขัง 771 คน และเจ้าหน้าที่ 21 คน ติดเชื้อภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ในศูนย์กักกันกรุงโซลตะวันออก และในวันที่ 4 มกราคม 2564 มียอดจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 1,041 คน ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด
  • แอฟริกาใต้ เป็นหนึ่งในประเทศแถบแอฟริกาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 มีรายงานผู้ติดเชื้อกว่า 10,000 คนในเรือนจำหลายแห่ง กว่า 65% เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลเรือนจำ จนทำให้เรือนจำต้องทำการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ
  • ในยุโรป แม้ว่าจะมีความพยายามลดความแออัดในเรือนจำตั้งแต่การเริ่มระบาดของโควิด-19 แต่ในวันที่ 15 กันยายน 2563 ใน 38 เรือนจำที่มีการรายงานข้อมูล พบผู้ต้องขังไม่น้อยกว่า 3,300 คน และเจ้าหน้าที่เรือนจำ 5,100 คน ติดเชื้อโควิด-19 ต่อมาในวันที่ 31 มกราคม 2564 ผู้ต้องขังและเด็กติดเชื้อจำนวน 19,354 คน ในเรือนจำและสถานกักกันเยาวชน 126 แห่ง ในอังกฤษและเวลส์ และมีเจ้าหน้าที่ 12,184 คนติดเชื้อตั้งแต่การเริ่มแพร่ระบาดในช่วงแรก

    อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ UN Office on Drugs and Crime (UNODC) ระบุว่า มีความพยายามปล่อยตัวนักโทษกว่า 600,000 ราย ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก เมื่อปี 2563 เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ ส่วนใหญ่เป็นนักโทษที่มีปัญหาสุขภาพ

นอกจากนี้ รายงานของแอมเนสตี้ยังระบุถึงหน้าที่ของรัฐ ในการดูแลผู้ต้องขังในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยจะต้องดูแลทั้งในมิติของสิทธิด้านสุขภาพ สุขภาพของผู้ต้องขัง และสิทธิในการได้รับน้ำและสุขอนามัย ดังนี้

  • รัฐต้องทำให้มั่นใจว่าผู้ต้องขังต้องสามารถเข้าถึงการดูแลและบริการสุขภาพในมาตรฐานเดียวกับบุคคลทั่วไป
  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกใส่ใจกับข้อกังวลเรื่องสถานที่กักขัง การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งภายในเรือนจำและระหว่างเรือนจำกับสังคมภายนอก เพื่อไม่ให้การระบาดขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น
  • รัฐบาลจำเป็นต้องเก็บข้อมูลสาธารณะสุขที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลในที่คุมขังหรืออยู่ระหว่างการควบคุมตัวอย่างทันท่วงที ให้บริการหน้ากากอนามัยและสบู่ในปริมาณที่เพียงพอ รวมถึงอุปกรณ์ทำความสะอาดต่าง ๆ โดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย การเข้าถึงน้ำใช้ที่สะอาด และการเข้าถึงการตรวจและการรักษาโรคโควิด-19
  • รัฐบาลควรเสาะหาทางเลือกอื่นแทนการคุมขังผู้อยู่ระหว่างดำเนินคดี เพื่อลดปัญหาความแออัดในเรือนจำ
  • แม้ว่าการแจกจ่ายวัคซีนโดยรัฐบาลจะทำเป็นห้วงเวลาที่ต่างกันและมีการจัดกลุ่มเป้าหมายที่ซับซ้อน ทั้งนี้ รัฐยังคงต้องทำให้มั่นใจว่านโยบายและแผนการฉีดวัคซีนนั้นไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ที่อยู่ในที่คุมขัง รัฐจะต้องทำทุกวิถีทางให้นักโทษ รวมถึงเจ้าหน้าที่เรือนจำได้เข้าไปอยู่ในแผนเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำที่ไม่อำนวยต่อการรักษาระยะห่างทางกายภาพ
  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้รัฐบาลใช้วิธีการแยกขังหรือมาตรการกักตัวก็ต่อเมื่อไม่สามารถใช้มาตรการป้องกันอื่นได้ การห้ามเยี่ยมจะต้องเป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเท่าที่จำเป็นและมีสัดส่วนชัดเจน และเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนที่เป็นอิสระและเป็นกลาง ในกรณีต่าง ๆ ที่มีส่วนของการใช้กำลังรุนแรงภายในพื้นที่เรือนจำ
  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้หน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้ UN ได้เพิ่มความพยายาม WHO ควรมีการทบทวนแนวทางการเข้าถึงผลิตภัฑณ์ด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับ โควิด-19 เช่น วัคซีน อย่างสม่ำเสมอ และมีการอ้างอิงที่เชื่อถือได้ในเรื่องเจ้าหน้าที่เรือนจำและผู้คุมขังที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตหรือการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงจากโรคโควิด-19 ให้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงและต้องได้รับการให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ ในการเข้ารับวัคซีน
  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เสนอให้ UNODC ขยายระบบการเก็บข้อมูลอาชญากรรมทั่วทุกรัฐบาล เพื่อให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลแยกประเภทที่มีรายละเอียดมากขึ้น ต่อการปรับปรุงยุทธศาสตร์การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เสนอให้ OHCHR ได้ให้คำแนะนำเชิงเทคนิคและการสนับสนุนที่จำเป็นต่อคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการติดตามสถานการณ์ภายในเรือนจำในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับมาตรฐานสากลในการปฏิบัติต่อนักโทษ ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง หรือ ข้อกำหนดแมนเดลา (Nelson Mandela Rules) กล่าวถึงการรักษาความสะอาดและสุขอนามัย ดังนี้

  • ข้อกำหนด 15: มีเครื่องสุขภัณฑ์เพียงพอแก่ความจำเป้นกับผู้ต้องขังทุกคน ทั้งต้องสะอาดและเหมาะสม
  • ข้อกำหนด 16: ที่อาบน้ำและฝักบัวต้องติดตั้งให้เพียงพอกับจำนวนผู้ต้องขังทุกคนที่จะอาบน้ำโดบมีอุณหภูมิที่เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ และให้สามารถอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดได้บ่อยตามความจำเป็นตามฤดูกาลและตามสภาพของแต่ละภูมิภาค โดยอย่างน้อยควรให้ผู้ต้องขังได้อาบน้ำสัปดาห์ละครั้งหากอยู่ในอุณหภูมิเขตอบอุ่น
  • ข้อกำหนด 17: ให้มีการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมเป็นประจำสำหรับทุกส่วนภายในเรือนจำ ที่ใช้เป็นที่คุมขังโดยจะต้องทำความสะอาดอยู่ตลอดเวลา
  • ข้อกำหนด 18 (1): ผู้ต้องขังจะต้องรักษาร่างกายให้สะอาด ฉะนั้นจะต้องจัดหาน้ำและอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับห้องน้ำที่จำเป็นเพื่อสุขภาพและความสะอาดของผู้ต้องขังให้ด้วย
  • ข้อกำหนด 22 (2): น้ำต้องจัดไว้เพื่อให้ผู้ต้องขังทุกคนได้ดื่มเมื่อต้องการ

    ส่วนข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (ข้อกำหนดกรุงเทพ) มีความเกี่ยวข้องในบริบทนี้ด้วยเช่นกัน คือ เรือนจำและห้องขังของผู้ต้องขังหญิงต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกและสิ่งของซึ่งตรงต่อความต้องการด้านสุขอนามัยของหญิงโดยเฉพาะ โดยอย่างน้อยรวมถึงผ้าเช็ดตัวที่สะอาด และการจัดส่งน้ำดื่มอย่างสม่ำเสนอให้เพียงพอต่อการดูแลเด็กและผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงซึ่งทำอาหารตั้งครรภ์ ให้นมบุตรหรือมีประจำเดือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook