“ปรีดี พนมยงค์” กับ 5 หมุดหมายของชีวิตที่ส่งผลต่อประเทศไทย

“ปรีดี พนมยงค์” กับ 5 หมุดหมายของชีวิตที่ส่งผลต่อประเทศไทย

“ปรีดี พนมยงค์” กับ 5 หมุดหมายของชีวิตที่ส่งผลต่อประเทศไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ชื่อของ “นายปรีดี พนมยงค์” น่าจะเป็นชื่อที่หลายคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ในฐานะบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย โดยเป็นหนึ่งในแกนนำ “คณะราษฎร” ซึ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. 2475 แต่นอกจากบทบาทแกนนำคณะราษฎรแล้ว นายปรีดียังมีบทบาทที่สำคัญอีกมากมาย ซึ่งส่งผลต่อประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง และเนื่องในโอกาส “วันปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม ซึ่งเป็นคล้ายวันเกิดของรัฐบุรุษคนสำคัญผู้นี้ Sanook จึงขอบอกเล่าเรื่องราวของบุคคลผู้นี้ ผ่าน 5 หมุดหมายสำคัญของชีวิตของเขา ซึ่งกลายเป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยในที่สุด

ชายชื่อ “ปรีดี พนมยงค์”

ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุตรชาวนา เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ในเรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดศาลาปูน และเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ตามด้วยเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเข้าเรียนที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมเมื่อ พ.ศ. 2460 พร้อมกับศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภา ก่อนที่จะสอบไล่ได้วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิต และได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา

หลังจากนั้น นายปรีดีได้รับทุนการศึกษาจากกระทรวงยุติธรรม ไปศึกษาต่อในวิชากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส และจบการศึกษาวิชากฎหมาย ตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก และประกาศนียบัตรชั้นสูงทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัยปารีส และยังนับเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านกฎหมายอีกด้วย

เมื่อกลับมาประเทศไทย นายปรีดีเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวง ผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมายและผู้บรรยายในโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม และหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมีบทบาทสำคัญในการกระจายอำนาจไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2476 และจัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินใหม่โดยออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2476

จากนั้น ใน พ.ศ. 2478 นายปรีดีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไทยเสียเปรียบในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับ 12 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส เดนมาร์ก สวีเดน อิตาลี เบลเยี่ยม และนอร์เวย์ ตามหลักการดุลยภาพแห่งอำนาจ ตามด้วยตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อ พ.ศ. 2481 และได้จัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2484 นายปรีดีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2488 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติพระนคร เนื่องด้วยทรงบรรลุนิติภาวะ จากนั้นทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้นายปรีดีเป็น "รัฐบุรุษอาวุโส" เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2488

ในด้านครอบครัว นายปรีดี พนมยงค์ สมรสกับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มีบุตรและธิดาทั้งหมด 6 คน

แกนนำคณะราษฎร 2475

หมุดหมายที่สำคัญที่สุดต่อประเทศไทยของนายปรีดี พนมยงค์ คือการเป็นแกนนำสายพลเรือนของ “คณะราษฎร” กลุ่มคนที่จุดประกายการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. 2475

คณะราษฎรก่อกำเนิดขึ้นจากการประชุมของกลุ่มนักเรียนไทยและเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ที่ห้องพักหมายเลข 9 ถนนซอมเมอราร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และดำเนินการให้บรรลุหลัก 6 ประการคือ 1. การรักษาความเป็นเอกราช 2. การรักษาความปลอดภัยให้ประเทศ 3. การบำรุงความสุขของราษฎรทางเศรษฐกิจ 4. ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน 5. ให้ราษฎรมีสิทธิเสรีภาพ 6. ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร โดยใช้วิธีการแบบยึดอำนาจโดยฉับพลัน

จนกระทั่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นายปรีดีได้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเป็นผู้ร่างคำประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 จากนั้น เขาได้เสนอเอกสาร "เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ" เพื่อให้เป็นนโยบายของรัฐบาล ทว่าเมื่อเอกสารดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป กลับเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนทำให้เขาต้องถูกบีบให้เดินทางออกนอกประเทศเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 ก่อนที่จะเดินทางกลับมายังประเทศไทยอีกครั้งในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน และพ้นมลทินจากข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

นอกจากบทบาททางการเมืองแล้ว นายปรีดียังมีบทบาทในด้านการศึกษาและเผยแพร่ความรู้ด้านประชาธิปไตยสู่สังคม โดยการก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปัจจุบัน และถือเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกที่อยู่นอกเหนือการกำกับของรัฐ โดยนายปรีดีดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย และในปีแรกของการก่อตั้ง มีผู้สมัครเข้าเรียนกว่า 7,000 คน

ในวันสถาปนามหาวิทยาลัย 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 เขาได้กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา”

อย่างไรก็ตาม หลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ซึ่งส่งผลให้นายปรีดีต้องหลบหนีออกนอกประเทศ รัฐบาลทหารในขณะนั้นได้ตัดคำว่าการเมืองออกจากชื่อมหาวิทยาลัยและยุบเลิกตำแหน่งผู้ประศาสน์การ เปลี่ยนมาเป็นตำแหน่งอธิการบดีแทน

ผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทย

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของนายปรีดีที่มีต่อประเทศไทย คือการก่อตั้ง “ขบวนการเสรีไทย” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 สำหรับภารกิจของเสรีไทย ประกอบด้วยการต่อสู้กับญี่ปุ่นโดยร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร และการปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเจตนารมณ์ที่แท้จริงของไทยว่าไทยจะไม่เป็นศัตรูต่อสัมพันธมิตร รวมทั้งการปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นผู้แพ้สงคราม

ขบวนการเสรีไทยใช้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นที่ตั้งกองบัญชาการ และในขณะที่รับหน้าที่เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย นายปรีดีใช้รหัสลับว่า “รู้ธ”

ต่อมา เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 นายปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เมื่อ 25 ม.ค. พ.ศ. 2485 เป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการกระทำอันขัดต่อเจตจำนงของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งชาวไทยทั้งในและนอกประเทศได้ร่วมกันแสดงเจตจำนงไม่ยอมรับคำประกาศดังกล่าวด้วยการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศไทยอยู่ในระหว่างสงคราม และทำให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงครามในที่สุด

ผู้ลี้ภัยในต่างแดน

ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดีได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 ทว่าในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ส่งผลให้นายปรีดีถูกศัตรูทางการเมืองกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการสวรรคต ตามด้วยการรัฐประหาร ซึ่งนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ, พ.อ.กาจ กาจสงคราม, พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์, พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์, พ.อ.ถนอม กิตติขจร และ พ.ท.ประภาส จารุเสถียร เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 รัฐบาลพลเรือนถูกโค่นล้ม และปิดฉากการบริหารประเทศของคณะราษฎรในที่สุด

จากการรัฐประหารครั้งนั้นนายปรีดีต้องหลบหนีออกนอกประเทศอีกครั้ง ก่อนจะกลับมาและก่อตั้ง “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492” หรือที่เรียกว่า “กบฏวังหลวง” เพื่อยึดอำนาจคืน ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ นายปรีดีจึงต้องลี้ภัยอีกครั้ง โดยเดินทางไปยังสิงคโปร์ ฮ่องกง และพำนักอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเวลา 21 ปี ก่อนจะเดินทางไปยังฝรั่งเศส และอาศัยอยู่ที่นั่นนาน 13 ปี จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 2 พ.ค. พ.ศ. 2526 ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว

ต่อมาในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2540 เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ คณะรัฐมนตรีของไทยมีมติให้เสนอชื่อนายปรีดี ต่อองค์การยูเนสโก เพื่อบรรจุชื่อของเขาในปฏิทินการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ และใน พ.ศ. 2543 ยูเนสโกได้มีมติประกาศให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็น "บุคคลสำคัญของโลก"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook