คณบดี 3 โรงเรียนแพทย์ รณรงค์ #ฉีดวัคซีนหยุดเชื้อเพื่อชาติ ลดอาการป่วยโควิดรุนแรง

คณบดี 3 โรงเรียนแพทย์ รณรงค์ #ฉีดวัคซีนหยุดเชื้อเพื่อชาติ ลดอาการป่วยโควิดรุนแรง

คณบดี 3 โรงเรียนแพทย์ รณรงค์ #ฉีดวัคซีนหยุดเชื้อเพื่อชาติ ลดอาการป่วยโควิดรุนแรง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คณบดี 3 โรงเรียนแพทย์ รณรงค์คนไทย ฉีดวัคซีน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เพื่อลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 เผยตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้ออาการรุนแรง 25% ต้องใส่ท่อหายใจ 400 คน

วันนี้ (11 พ.ค.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ภายในงาน “ผ่าวัคซีนโควิด-19 กับ 3 สถาบันแพทย์ ที่โรงแรมสุโกศล

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับงาน “ผ่าวัคซีนโควิด-19” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สังคมไทยได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นข้อมูลล่าสุด สำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฉีดแล้ว 1,200 ล้านโดสทั่วโลก ดังนั้น ต้องให้คนไทยเข้าใจและรู้จริงเพื่อใช้พิจารณาตัดสินใจร่วมกันฉีดวัคซีน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ สถานการณ์ของประเทศไทยขณะนี้มีผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจประมาณ 400 รายทั่วประเทศ ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่น้อย และมีผู้ป่วยที่อาการรุนแรงประมาณร้อยละ 25

ขณะนี้ โรงพยาบาลศิริราช เปิดเตียงไอซียูเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว ปรับให้หอผู้ป่วยธรรมดาสามารถดูแลผู้ป่วยหนัก เพราะขณะนี้มีผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ ในวันนี้เต็มไม้เต็มมือแล้ว ถ้าเราไม่ช่วยกัน ผู้ป่วยล้นไม้ล้นมือเมื่อใด อัตราการเสียชีวิตก็จะกระโดดมากขึ้น อย่างที่ย้ำเสมอว่า หากต้นน้ำยังขุ่น ปลายน้ำก็ขุ่น หากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ยังขุ่น แม่น้ำเจ้าพระยาสายหลักก็ขุ่น แล้วจะเอาสารส้มไปแกว่งก็ยาก ดังนั้น เราต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำไม่ให้ขุ่น เพื่อไม่ให้ปลายน้ำขุ่น

สำหรับการระบาดที่ผ่านมา ศ.นพ.ประสิทธิ์ ระบุว่า จะมีตัวเลขผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ร้อยละ 80 คนมีอาการมาก ร้อยละ 20 และในจำนวนนี้มีร้อยละ 5 ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แต่ล่าสุดตัวเลขมีการเปลี่ยนแปลง โดยคนที่ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย ร้อยละ 70 อาการหนักเพิ่มเป็นร้อยละ 25-30 โดยร้อยละ 5 คือหนักมาก แปลว่าเมื่อเรามีผู้ป่วย 100 ราย เราจะมีคนอาการหนัก 30 ราย ถ้าเรามีผู้ป่วย 1,000 ราย ก็จะมีอาการหนัก 300 ราย และถ้ามีหลัก 10,000 ราย เราจะมีคนอาการหนักกว่า 3,000 ราย

ทางด้าน ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า ในสังคมขณะนี้เจอเฟกนิวส์ (Fake News) เยอะมาก เราอยากให้ประชาชนฟังข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง จากผู้เชี่ยวชาญที่คอยติดตามงานทั่วโลก และมีประสบการณ์เรื่องของวัคซีนมานาน อยากเป็นที่พึ่งให้สังคมให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีน เป็นการช่วยเหลือสังคมเพื่อยับยั้งการติดเชื้อโควิด-19

ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ขณะนี้มีผู้ป่วยรวม 140 ราย เป็นผู้ที่มีอาการหนัก 32 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 14 ราย โดยเราเช่าโรงแรม 2 แห่ง ทำเป็นฮอสปิเทล (Hospitel) และมีผู้ป่วยประมาณ 300 ราย อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้เรามีผู้ป่วยอาการหนักเยอะขึ้น และมีผู้ป่วยเสียชีวิตเกือบทุกวัน แต่สถานการณ์ติดเชื้อรุนแรงก็ยังอยู่โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร

เช่นเดียวกับ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้เหมือนมีสงครามที่เราต่อสู้กับข้าศึกที่มองไม่เห็น การฉีดวัคซีนเป็นการติดอาวุธป้องกันตัวเราเอง ป้องกันคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และประเทศชาติ เราจึงอยากสนับสนุนให้ทุกคนฉีดวัคซีนโควิด เพื่อให้มีภูมิต้านทานต่อสู้กับข้าศึกที่มองไม่เห็น ทั้งนี้ รพ.จุฬาฯ มีผู้ป่วยที่มารับการรักษาสะสม 1,000 ราย และยังเหลือที่รักษาอยู่ รพ. ประมาณ 200 ราย และในฮอสปิเทลอีก 300-400 ราย การระบาดรอบนี้พบว่าเชื้อลงปอดมากขึ้นและผู้ป่วยต้องการเตียงไอซียูมากขึ้น หมายความว่า หากเราช่วยกันป้องกันตั้งแต่ต้นน้ำคือ การฉีดวัคซีน ก็ทำให้ภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ปลายน้ำก็จะน้อยลง

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยปอดอักเสบมากขึ้นในการระบาดรอบเดือนเมษายน 2564 นั้น ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ 1 ถ้าผู้ป่วยมาก จำนวนผู้เสียชีวิตก็จะมากขึ้นตามสัดส่วน ปัจจัยที่ 2 ไวรัสกลายพันธุ์ มีการติดเชื้อมากขึ้น และมีผลต่อจำนวนของผู้ติดเชื้อใหม่ ปัจจัยที่ 3 จุดที่มีกระจาย การ์ดตก และปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มเติมคือโรคอ้วน ในผู้ที่มีดัชนีมวลกายเกิน 35 ซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่แตกต่างจากรอบที่แล้ว

ขณะที่ ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจทั่วประเทศประมาณ 400 ราย ตามสถิติแล้วก็จะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ใน 4 ฉะนั้น จำนวนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจในขณะนี้ก็จะมีผู้เสียชีวิตต่อไปอีกประมาณ 80-100 ราย ทยอยเสียชีวิต ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต้องพึงตระหนักว่าการระบาดครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งก่อนๆ มากถึง 10-15 เท่า

ด้าน ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงของการระบาดโรคนี้ คือ คนวัยทำงานออกมารับเชื้อกลับไปแพร่สู่คนในครอบครัว ทำให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุติดบ้านที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ก็ติดเชื้อมากขึ้น โดยคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่มีโรคภัยไข้เจ็บและมีโอกาสรับเชื้อได้ง่ายอยู่แล้ว ดังนั้น หากคนวัยทำงานได้รับวัคซีนก็จะเป็นการป้องกันในระดับหนึ่ง การนำเชื้อไปสู่คนในบ้านก็จะลดลง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook