เปิดใจชุมชนข้างทางรถไฟโคราช ถูกเวนคืนที่ดิน พ้อคนจนก็มีหัวใจ ไม่ไปเพราะไม่มีที่ไป
เปิดใจชาวชุมชนข้างทางรถไฟโคราช หลังถูก รฟท. เวนคืนพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ยันไม่ได้คัดค้านโครงการ แต่ด้วยความจนไม่มีที่จะไป วอน รฟท.หาที่ให้เช่าอยู่ก่อน พร้อมไปแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีโครงการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง และมีการเวนคืนที่ดินหลายแห่ง โดยเฉพาะช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ซึ่งมีระยะทาง 12.38 กิโลเมตร ซึ่งมีชาวบ้านไปเช่าที่สร้างที่อยู่อาศัยมานานหลายสิบปี จนครบกำหนดเวลา และทางการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่มีนโยบายให้ต่อสัญญาเช่า โดยจะมีการเวนคืนที่ดินริมทางรถไฟตลอดแนว ด้านละ 40 เมตร
ส่งผลให้มีชาวบ้านริมทางรถไฟโคราช 9 ชุมชน ที่ได้รับผลกระทบ ประกอบไปด้วย 1.ชุมชนถนนเลียบนคร 2. ชุมชนประสพสุข 3. ชุมชนสองข้างทางรถไฟ 4. ชุมชนหลังจวนผู้ว่าฯ 5. ชุมชนราชนิกูล 1 6.ชุมชนราชนิกูล 3 7. ชุมชนเบญจรงค์ 8. ชุมชนทุ่งสว่าง - ศาลาลอย และ 9. ชุมชนมหาชัย – อุดมพร รวมผู้ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด 390 หลังคาเรือน อาจจะต้องถูกรื้อถอนที่อยู่อาศัย จนไร้ที่อยู่อาศัยนั้น
ล่าสุด วันนี้ (12 พ.ค.64) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปที่ชุมชนประสพสุข ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา พบว่าได้มีชาวบ้านนำป้ายคัดการการเวนคืนที่ การรื้อถอนขับไล่ที่อยู่ มาติดทั่วชุมชน เพื่อแสดงจุดยืนว่าจะไม่ขอย้ายไปไหน จนกว่าจะหาที่อยู่ใหม่รองรับให้ได้ก่อน
จากการสอบถาม นางแฉล้ม อายุ 80 ปี ชาวชุมชนประสพสุข หนึ่งในชุมชนข้างทางรถไฟโคราช กล่าวว่า ในอดีตตนเองมีอาชีพเก็บของเก่าขาย แต่ปัจจุบันตนเองนั้นอายุมากแล้ว มีโรคประจำตัวหลายอย่าง และไม่มีงานทำ จึงไม่มีรายได้อะไร มีเพียงเงินเบี้ยผู้สูงอายุเท่านั้น ต้องอาศัยที่บริเวณข้างทางรถไฟอยู่ ถ้าหากการรถไฟจะขับไล่ให้ไปอยู่ที่อื่น ก็คงจะไม่มีที่ไป เพราะไม่มีปัญญาหาเงินไปซื้อที่อยู่อาศัยได้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาที่อยู่ใหม่ให้ด้วย ถ้ามีที่อยู่ใหม่ให้เช่าอยู่ ก็พร้อมที่จะไป
ด้านนายพิทักษ์ อายุ 56 ปี หนึ่งในชาวชุมชนประสพสุข กล่าวว่า ตนเองนั้นอาศัยอยู่ที่ชุมชนแห่งนี้ตั้งแต่ยังเด็ก จึงมีความผูกพันกับชุมชนแห่งนี้มาก แต่เมื่อทราบข่าวว่าทางการรถไฟจะเวนคืนที่ดิน เพื่อให้เอกชนเช่า หลังจากมีการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเสร็จ ก็ทำให้รู้สึกวิตกกังวลมาก เพราะตนเองไม่มีที่จะไป ตอนนี้บ้านที่อยู่ในชุมชนยังถูกไฟไหม้จนไม่เหลืออะไร มีเพียงตลับเมตรซึ่งเป็นเครื่องมือหากินชิ้นสุดท้ายเหลือติดตัวอยู่เท่านั้น หากจะให้ตนเองไปก็คงจะไม่มีปัญญาหาที่อยู่ได้แน่นอน จึงอยากวอนการรถไฟให้ตนเองได้อยู่ที่นี่ต่อไป แต่ถ้าหากมีหน่วยงานสามารถหาที่ให้อยู่ใหม่ได้ฟรี ก็พร้อมจะไป ไม่ได้ต้องการขัดขวางการพัฒนาความเจริญของเมืองโคราชแต่อย่างใด แต่ด้วยความยากจน ไร้ที่อยู่อาศัย จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นใจตนเองด้วย
ขณะที่นายนิยม อายุ 63 ปี รองประธานชุมชนประสพสุข กล่าวว่า ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ตัวแทนชุมชนข้างทางรถไฟโคราช ทั้ง 9 ชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง ได้เข้าประชุมกับผู้บริการการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่หัวลำโพง กรุงเทพมหานคร พร้อมกับยื่นหนังสือ เพื่อให้ช่วยเหลือชาวบ้านที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากการถูกไล่ที่ครั้งนี้ โดยขอให้ยุติการไล่รื้อที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน รวมทั้งขออย่าให้ผู้รับเหมาไปขู่กระโชกขับไล่ชาวบ้านด้วยวิธีการใดก็ตาม จนกว่าจะมีที่ดินรองรับให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ตนยืนยันว่าชาวบ้านไม่ได้มีความประสงค์จะขัดขวางการพัฒนาของรัฐบาล แต่ชาวบ้านจะไปก็ต่อเมื่อมีที่อยู่ใหม่ให้ก่อน
โดยชาวบ้านอยากจะเช่าพื้นที่การรถไฟอยู่อย่างเท่าเทียมกัน แบบที่ให้เอกชนเช่าในปัจจุบันนี้ เราคนจนไม่มีปัญญาหาเงินไปซื้อที่อยู่ใหม่แน่นอน เพราะที่ในเมืองปัจจุบันก็แพงมาก ไร่ละหลายสิบล้านบาท ซึ่งคนในชุมชนส่วนใหญ่ก็มีอาชีพเก็บของเก่าขาย และรับจ้างรายวัน พอมีมีรายได้สำหรับเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัวไปแต่ละวันเท่านั้น ขณะเดียวกันที่อยู่ใหม่ก็ขอให้อย่าไกลจากที่นี่เกิน 5 กิโลเมตร เพราะมีเหตุผลหลายอย่าง เช่น ลูกหลานก็เรียนอยู่ที่นี่, ที่ทำงานก็อยู่ที่นี่, โรงพยาบาล, ตลาด และญาติพี่น้องก็อยู่ที่นี่ หากจะให้ไปอยู่ที่อื่นที่ไกลเกินกว่า 5 กิโลเมตร ก็จะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมายแน่นอน
ทั้งนี้ หลังจากยื่นหนังสือให้การรถไฟแห่งประเทศไทยไปแล้ว จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ออกมา ครั้นตนเองและตัวแทนชุมชนข้างทางรถไฟโคราช จะเดินทางไปทวงถามก็ไปไม่ได้ เพราะติดปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ในส่วนของผู้รับเหมายังคงเดินทางก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ จนล่าสุดใกล้เข้ามาถึงชุมชนเพียง 1 กิโลเมตรกว่าๆ แล้ว ทำให้ขณะนี้ชาวบ้านรู้สึกวิตกกังวลมาก จึงอยากขอร้องการรถไฟแห่งประเทศไทย ช่วยระงับการรื้อถอนไล่ที่ชาวบ้าน และขอให้หาที่อยู่ใหม่ให้ชาวบ้านก่อน ถ้าเมื่อใดที่มีที่อยู่ใหม่รองรับชาวบ้านก็พร้อมจะไปแน่นอน
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ