ร้านอาหารในวิกฤตโควิด-19 ชะตากรรมบนความไม่แน่นอน

ร้านอาหารในวิกฤตโควิด-19 ชะตากรรมบนความไม่แน่นอน

ร้านอาหารในวิกฤตโควิด-19 ชะตากรรมบนความไม่แน่นอน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเตรียมเปิดประเทศ หลังจากผ่านวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ประเทศไทยกลับต้องเผชิญกับการระบาดระลอกที่ 3 ซึ่งรุนแรงกว่าที่เคย และยังส่งผลกระทบต่อผู้คนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะร้านอาหาร ที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้งเพื่อตอบสนองมาตรการ “ห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน” ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลบางจังหวัด หลายคนอาจคิดว่า การปรับเปลี่ยนจากนั่งรับประทานในร้านเป็นซื้อกลับบ้านไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ ทว่าที่จริงแล้ว การซื้ออาหารกลับบ้านอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับร้านอาหารทุกร้าน และอาจทำให้ “เสน่ห์” ของร้านอาหารต้องสูญหายไป ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ผันผวนเช่นนี้ วงการร้านอาหารจึงต้องเผชิญกับโจทย์ปัญหาใหม่ ที่อาจต้องเดิมพันด้วยลมหายใจของร้านเลยทีเดียว

ร้านอาหารในสถานการณ์โควิด-19

การระบาดของโรคโควิด-19 กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เขย่าวงการร้านอาหารอย่างรุนแรง นับตั้งแต่การล็อกดาวน์อย่างสมบูรณ์ ในการระบาดระลอกแรกเมื่อต้นปี 2563 ร้านอาหารทั้งหลายต้องหันมาพึ่งบริการส่งอาหารเป็นหลัก จนกระทั่งการล็อกดาวน์บางส่วนในช่วงต้นปี 2564 ที่แม้ว่าจะเปิดให้บริการรับประทานอาหารในร้านได้ แต่ร้านอาหารก็ยังถูกจำกัดเวลาเปิด รวมทั้งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่ได้ช่วยให้รายได้กระเตื้องขึ้นแต่อย่างใด

คุณกล้า เจ้าของร้าน Folks & Flour Homemade French Bakery ซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างพัทยา เล่าถึงประสบการณ์อันสาหัสในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาว่า ก่อนหน้านี้เขาเป็นเจ้าของร้านอาหารใน Walking Street ที่มีลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยว ซึ่งต้องปิดตัวลง และเขาก็หันมาขายซอส XO ทางออนไลน์แทน ก่อนที่จะผันตัวมาเปิดร้านเบเกอรี

“เราก็คิดเอาไว้แล้วล่ะว่าโควิดมันยาวแน่นอน ก็เลยหันมาเปิดร้านใหม่ เป็นร้านเบเกอรี เพื่อที่จะรักษาลูกน้อง พนักงานไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อที่จะได้ทำงานกับเราได้ต่อไป แล้วเราก็คิดโมเดลธุรกิจใหม่ โดยให้ร้านนี้เป็นร้านที่ไม่ต้องพึ่งนักท่องเที่ยว ได้คนพื้นที่ที่เป็นลูกค้าประจำ ก็จะกระทบน้อยกว่าร้านแรกที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยว อันนี้ก็คือการปรับตัวโดยการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจนมาถึงปัจจุบัน ก็ 6 เดือน ตั้งแต่เริ่มทำร้านมา ช่วงนี้ก็ถือว่าเป็นช่วงที่หนักที่สุด” คุณกล้าเล่า

ร้าน Folks & Flour Homemade French Bakery พัทยาFolks & Flour Homemade French Bakeryร้าน Folks & Flour Homemade French Bakery พัทยา 

ด้านคุณกรั้ง เจ้าของร้านเนื้อย่าง A5 Legacy Beef Grill & Chill ที่เพิ่งเปิดร้านหลังจากการล็อกดาวน์ครั้งแรก แต่ต้องเผชิญกับมาตรการจำกัดเวลาเปิดร้านอาหารในการระบาดระลอกที่ 2 และยิ่งส่งผลกระทบหนักขึ้นจากมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน เนื่องจากรูปแบบร้านปิ้งย่าง ที่ต้องนั่งรับประทานในร้านเท่านั้น

“เราเป็นร้านปิ้งย่าง ก็รู้สึกน้อยใจนิดหนึ่ง เพราะว่าธุรกิจเราไปต่อยาก เราก็ถามตัวเองนะว่าถ้าไม่ได้ทำร้านอาหารแล้วเราอยากกินเนื้อย่าง เราจะสั่งมากินที่บ้านไหม เพราะมันยุ่งยาก กินอาหารธรรมดาก็ได้ 14 วัน สำหรับผู้บริโภคเขาอาจจะอดใจรอได้ แต่ 14 วัน สำหรับคนที่ทำร้านอาหารให้มันไปต่อได้ก็ค่อนข้างยากเหมือนกัน ก่อนหน้านี้รายได้ต่อวันของเราอยู่ที่ 30,000 – 50,000 บาท แล้ววันหนึ่งมันกลายเป็นว่าเราไม่มีออร์เดอร์เลย กลายเป็น 0 บาท มันก็รู้สึกเหมือนกันนะ” คุณกรั้งกล่าว

จากกรณีของคุณกรั้ง มาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านไม่เพียงแต่ส่งผลให้รายได้ลดลงเท่านั้น แต่ยังทำให้ “เสน่ห์” ของการรับประทานเมนูปิ้งย่างที่ร้านขาดหายไป ซึ่งที่ผ่านมาเรามักจะไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ เช่นเดียวกับคุณกล้า ที่ก็ประสบปัญหาจากมาตรการดังกล่าวด้วย เนื่องจากร้านของเขาไม่ได้ให้บริการเฉพาะขนมเท่านั้น แต่ยังมีทั้งความผูกพันกับลูกค้าประจำ มิตรภาพ และความอบอุ่นใจในการมาใช้บริการ จนเขาต้องเอ่ยปากผ่านสเตตัสในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ผมไม่เหลืออะไรแล้ว”

“...ผมขายกลิ่นกาแฟบดใหม่ๆ ยามเช้า กลิ่นครัวซองต์อบใหม่จากเตา ผมขายบรรยากาศที่ลูกค้ามีความสุข ผมขายความอบอุ่น จากอาหารเช้าที่เหมือนกินอยู่ที่ยุโรป ผมขายความสัมพันธ์ให้ผู้คน ใครอยากกินเมนูพิเศษ อะไร ถ้าเราทำได้เราจะทำ ผมขายขนมตามเทศกาลของยุโรป อาหารที่ลูกค้าต่างชาติกินแล้วหายคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา เพราะผมเองก็เคยจากเมืองไทย เราเข้าใจความรู้สึกของผู้คนที่อยู่ต่างบ้านต่างเมือง นี่คือสิ่งที่ผมมอบให้ลูกค้า นี่คือคำตอบว่าทำไมลูกค้าถึงมานั่งกินไข่ดาวที่ร้านผม ทั้งๆ ที่พวกเขาทำกินเองที่บ้านก็ได้...” ใจความตอนหนึ่งในสเตตัสของคุณกล้า

ร้าน Hemlock Art Restaurant บางลำพู กรุงเทพมหานครHemlock Art Restaurantร้าน Hemlock Art Restaurant บางลำพู กรุงเทพมหานคร

เช่นเดียวกับร้าน Hemlock Art Restaurant ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงเรื่องบรรยากาศและสไตล์ “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” ในย่านเก่าแก่อย่างบางลำพู กรุงเทพมหานคร ที่ต้องหยุดให้บริการด้านไลฟ์สไตล์ตามมาตรการของภาครัฐ

“เรื่องบรรยากาศก็จบเลย ปกติเราก็จะแสดงงานศิลปะประมาณ 2 เดือนครั้ง ทำมา 27 ปีแล้ว ก็ต้องหยุดไปเลย ไม่มีการแสดงงาน ร้านก็ไม่สวยเหมือนเก่า ตอนนี้สภาพเราก็แย่ ต้องประคองตัว ไม่สามารถปรับปรุงหรือลงทุนอะไรได้มาก คือตอนนี้ทุกอย่างอยู่ในภาวะที่ต้องหยุดนิ่ง คือหมายความว่าทำให้น้อยที่สุด เสี่ยงน้อยที่สุดคุณปีติ กุลศิโรรัตน์ เจ้าของร้าน Hemlock Art Restaurant กล่าว

ในฐานะที่อยู่ในวงการร้านอาหารมานานกว่า 20 ปี คุณปีติกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว การทำธุรกิจในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะขณะนี้มีผู้คนมากมายที่หันมาทำธุรกิจร้านอาหาร ทำให้มีร้านอาหารใหม่ๆ ที่มีจุดขายเกิดขึ้นและแข่งขันกันอย่างมากมาย ขณะเดียวกัน ข้อบังคับด้านกฎหมายและภาษีก็ไม่เอื้อให้ธุรกิจทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กเติบโตได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งสถานการณ์ทางธุรกิจที่คาดเดาได้ยาก และเมื่อประกอบกับการบริหารงานของรัฐในสถานการณ์โรคระบาด ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ธุรกิจร้านอาหารจึงตกที่นั่งลำบากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ถ้าบริหารได้อย่างถูกต้องและฉลาดกว่านี้ ผมว่าเราจะไม่ลำบากขนาดนี้ ทุกอย่างมันผิดไปหมด มันแก้ปัญหาแบบฉาบฉวยหมด ผักชีโรยหน้า แล้วก็ทำให้คนไทยคิดว่ารัฐบาลทำได้ดี ปัญหาผ่านไปแล้ว แต่ทุกอย่างมันซ่อนอยู่ใต้พรมหมดเลย สถิติผู้ติดเชื้อน้อยเพราะว่าคุณไม่ได้ตรวจเชิงรุก แล้ววันหนึ่งมันก็แดงออกมา คุณก็รับมือกับมันไม่ได้แล้ว แทนที่คุณจะทำแบบตรงไปตรงมาตั้งแต่แรก แล้วก็มีมาตรการที่เหมาะสมในทุกๆ ส่วน ถ้าเราทำแบบประเทศที่พัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศ เวลาล็อกดาวน์เขาก็ไม่ล็อกดาวน์แบบสร้างภาพน่ะครับ แต่เขายังให้คนมีลมหายใจ ยังสนใจเรื่องเศรษฐกิจการค้า นั่นผู้บริหารเขามาจากนักธุรกิจ เขาไม่ได้มีมุมมองแบบเผด็จการ ศักดินา หรือรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ ทำอะไรก็ได้ แล้วทำแต่ละอย่างก็สุดขั้ว แล้วมันไม่ได้ผลจริง” คุณปีติกล่าว

บรรยากาศภายในร้าน Hemlock Art Restaurant Hemlock Art Restaurant บรรยากาศภายในร้าน Hemlock Art Restaurant

ต้นทุนก้อนใหญ่ที่ร้านอาหารต้องแบกรับ

คุณไม่สามารถอยู่เฉยๆ ได้ ด้วยเหตุผลตัวเดียวเลย คือค่าเช่าที่ มันวิ่งไปตลอดเวลา แล้วตรงนี้คือรัฐบาลไทยเงียบ ไม่เคยแตะ ในขณะที่รัฐบาลต่างประเทศเขาถึงขั้นออกกฎหรืออย่างน้อยก็บีบ หรือไม่ก็รณรงค์ว่าคนที่มีฐานะที่ดี ที่ได้เปรียบคนอื่นอยู่ คุณก็ต้องลดลงมาหน่อย ในสถานการณ์แบบนี้ก็ต้องช่วยกันอย่างจริงจัง และต้องทำระดับทั้งประเทศ ต้นทุนตรงนี้มันวิ่งไปตลอด นอกเหนือจากเรื่องสินเชื่อและดอกเบี้ยที่มันวิ่งไปตลอด สองอย่างนี้ รัฐบาลทำน้อยมาก” คุณปีติอธิบายถึงปัญหาใหญ่อย่างค่าเช่าที่ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารอ่อนแรงเต็มที

นอกเหนือจากต้นทุนเรื่องค่าเช่าที่ สิ่งที่ผู้ประกอบการร้านอาหารหลายคนกังวลเมื่อต้องหันมาใช้บริการส่งอาหาร คือการเก็บค่ากำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit (GP) ของแอปพลิเคชันส่งอาหาร ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 30 – 35% ที่หลายคนมองว่า แทนที่จะเป็นช่องทางช่วยเหลือร้านอาหาร กลับกลายเป็นการขูดรีดและเอาเปรียบผู้ประกอบการอย่างมาก

“เรื่องแอปพลิเคชันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก มันเป็นเรื่องที่คนกลุ่มหนึ่งที่รวย เข้าถึงเทคโนโลยีเร็วกว่าคนอื่น อาจจะมีทุน ก็สร้างแอปฯ ขึ้นมา เมื่อคุณลงทุนสร้างแอปฯ ขึ้นมาปั๊บ ทุกคนวิ่งเข้าหา ทุกคนมาพึ่งคุณ แต่คุณชาร์จเขา 30% เท่ากับว่าคุณเป็นหุ้นส่วนกับร้านอาหารทั่วประเทศทันทีเลยนะ 30% คือเรตเกือบเท่ากับค่าเช่าที่น่ะ คุณทำแอปฯ คุณจ่ายทีเดียว ปรากฏว่าคุณเป็นหุ้นส่วนกับร้านอาหารทั้งประเทศทันที 30% เป็นไปได้อย่างไร” คุณปีติกล่าว

เซ็ตอาหารจากร้าน Folks & Flour Homemade French Bakery ที่บรรจุบรรยากาศของร้านเอาไว้Folks & Flour Homemade French Bakeryเซ็ตอาหารจากร้าน Folks & Flour Homemade French Bakery ที่บรรจุบรรยากาศของร้านเอาไว้

ทางเลือก - ทางรอด

เมื่อมาตรการของรัฐทำให้สูญเสียทั้งรายได้และบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาของร้านอาหาร เหล่าผู้ประกอบการจึงต้องพยายามปรับตัวเพื่อการอยู่รอด รวมทั้งพยายามรักษาตัวตนของร้านเอาไว้ให้ได้มากที่สุด คุณกล้าเป็นคนหนึ่งที่เลือกเส้นทางนี้ โดยนำเอาความเป็นร้านเบเกอรีของเขาใส่ลงในกล่อง และส่งให้ถึงมือของลูกค้าด้วยตัวเอง

เราออกสินค้าเซ็ตใหม่ เป็นชุดดิลิเวอรี ที่มีอาหารหลายอย่างของร้าน แล้วเราพยายามออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ตรงตามเอกลักษณ์ของร้าน พยายามใส่ความรู้สึกไปกับแพคเกจนี้ ทางร้านไปส่งเอง ลูกค้าก็ต้องรอคิวนิดหนึ่ง เพราะเรามีรถแค่คันเดียว แต่ครัวซองต์ส่งช้าหน่อยได้ มันไม่ใช่อาหารที่ต้องใช้ความเร็วในการส่ง ส่งช้าก็ไม่ได้ลดความอร่อยลง ก็อธิบายให้ลูกค้าฟัง ลูกค้าส่วนมากก็เข้าใจว่ามันต้องตามคิว ตามจังหวะ ก็พยายามจัดการให้มันดีที่สุด” คุณกล้ากล่าว

ด้านคุณกรั้ง ซึ่งต้องเจอกับความท้าทายยิ่งกว่า เพราะเธอไม่สามารถส่งเนื้อย่างไปให้ลูกค้าที่บ้าน โดยที่ยังคงรสชาติและคุณภาพที่สดใหม่เหมือนกับรับประทานที่ร้านได้ ดังนั้น เธอและทีมงานของร้านจึงสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ นั่นคือ “ไก่ทอด”

เราหาทางออกว่า ถ้าคนไม่ได้กินปิ้งย่าง ชาบู ถ้าคนต้องทำงานที่บ้าน มันควรจะเป็นอาหารอะไรที่เขาทานได้ทุกวัน แล้วก็ทุกเพศทุกวัย ก็โอเค เราจะทำเป็นเมนูไก่ทอด เพราะเราคิดว่ามันเป็นอาหารที่ทานได้ทุกเพศทุกวัย แล้วก็ทุกเวลาด้วย แล้วไก่ของเราก็รสชาติไม่เหมือนที่อื่น แล้วเราก็รู้สึกว่า ต่อไปในอนาคต ถ้าเรากลับมาเปิดร้านอีก ลูกค้าจะมาที่ร้านและอยากทานเมนูนี้ ก็จะมีให้ลูกค้าทานอยู่ สิ่งสำคัญก็คือ เราไม่อยากให้ลูกค้าลืมเรา” คุณกรั้งอธิบาย พร้อมเสริมว่า เครื่องมือสำคัญที่เธอใช้ในการปรับตัวครั้งนี้ คือการตลาดออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพสินค้าลงเพจ บูสต์โฆษณา และเปิดรับเพจรีวิวร้านอาหาร

“เรามองเห็นความตั้งใจของตัวเองแล้วก็หุ้นส่วนของเราอีกคน เพราะฉะนั้น ถ้าเราตั้งใจทำ เราว่ายังไงก็ไปต่อได้ เรามีสติพอ เรามีคนรอบข้างที่คอยให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือ จริงๆ เราก็มีความหวังแหละว่าถ้าเราสู้มันต้องไปต่อได้ ยังไม่อยากยอมแพ้เท่าไร” คุณกรั้งกล่าว

ไก่ทอด เมนูใหม่ในสถานการณ์โควิด-19 ที่คิดค้นโดยร้าน A5 Legacy Beef Grill & Chill A5 Legacy Beef Grill & Chill ไก่ทอด เมนูใหม่ในสถานการณ์โควิด-19 ที่คิดค้นโดยร้าน A5 Legacy Beef Grill & Chill

ตรงกันข้ามกับผู้ประกอบการรุ่นน้อง ในสมรภูมิครั้งนี้ คุณปีติกลับเลือกที่จะอยู่นิ่งๆ และคอยดูสถานการณ์

“เซฟตัวเองดีที่สุด ทำใจนิ่งๆ ปลง แล้วก็ดูสถานการณ์ไป แล้วเราก็อาจจะต้องทำใจว่าเป็นช่วงหนึ่งที่เราต้องงดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอันนี้ หรือต้องลดมันลง ใช้ชีวิตอย่างอื่น หรือไปทำความถนัดอย่างอื่นที่เราไม่มีเวลาทำ เพื่อเป็นช่องทางสำรองสำหรับในอนาคต ก็กลับมาสู่สภาพเดิมคือนิ่ง ปลง มองสถานการณ์อย่างสุขุม ใจเย็น และจะไม่บาดเจ็บอีก ไม่เอาทุนไปลงแล้วเสียเปล่า” คุณปีติกล่าว

ด้านคุณกล้าเอง แม้จะพยายามปรับตัว แต่เมื่อสถานการณ์ถึงที่สุดแล้ว เขาก็เลือกที่จะหยุด และเก็บกำลังไว้สู้ใหม่ในวันที่สถานการณ์กลับมาเป็นปกติ

“ตอนนี้ผมยังสู้ได้น่ะครับ ถ้าให้อยู่แบบนี้อีกเดือนหนึ่งผมก็คงไม่อยู่แล้ว ถ้ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ปิดร้านแน่นอนครับ เราต้องหยุดครับ เก็บกำลังไว้สู้ใหม่ในวันที่มันกลับมาเป็นเหมือนเดิม ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทุกคนทุกแบบ เขาก็ทำทุกอย่างแล้ว มันไม่มีอะไรดีขึ้นแล้ว ตอนนี้ก็คือเก็บเงินสดเอาไว้ ปิดร้านรักษาตัว ดูแลตัวเอง รอเวลาที่ทุกอย่างกลับมา แล้วเราค่อยมาเปิดใหม่ แต่หลายคนก็อาจจะกลับมาไม่ได้แล้ว นี่คือปัญหาที่มันเกิดขึ้นตอนนี้” คุณกล้าพูด

AFP 

เสียงจากร้านอาหารถึงรัฐบาล

เมื่อถามถึงมาตรการในการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร คุณกล้าและคุณปีติเห็นตรงกันว่า การให้เงินสนับสนุนน่าจะเป็นการเยียวยาที่ตอบโจทย์มากที่สุด เพียงแต่ต้องกระจายเงินดังกล่าวนี้ให้ทั่วถึงคนทุกกลุ่ม ในระยะเวลาที่นานพอที่จะสามารถผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ไม่ใช่การแจกจ่ายแบบ “ชิงโชค” เหมือนที่ผ่านมา รวมทั้งไม่ประกาศปิดเมืองโดยไม่มีการศึกษาถึงข้อดีข้อเสียและรายละเอียดต่างๆ อย่างถี่ถ้วน ขณะที่คุณกรั้งมองว่า รัฐบาลควรเข้ามาเจรจากับเจ้าของพื้นที่ เรื่องการลดค่าเช่าที่ เพื่อต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารต่อไป

นอกจากนี้ คุณปีติยังกล่าวว่า วัคซีนเป็นความหวังเดียวในสถานการณ์เศรษฐกิจที่เลวร้ายลงเช่นนี้ และก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลอีกเช่นกัน ที่จะจัดหาวัคซีนมาให้ได้เร็วที่สุด จำนวนมากที่สุด และให้ทางเลือกในการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน โดยการจัดหาวัคซีนหลายยี่ห้อเท่าที่จะเป็นไปได้

AFP 

บทเรียนจากโควิด-19

สถานการณ์โควิด-19 ไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของภาคประชาชนและภาคธุรกิจแบบหน้ามือเป็นหลังมือเท่านั้น แต่ยังถือเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของผู้ประกอบการร้านอาหารด้วย ซึ่งคุณกรั้งได้สะท้อนมุมมองของผู้ประกอบการร้านอาหารรุ่นใหม่ว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลัก มีสติตั้งรับกับปัญหาให้ไวที่สุด ไม่ควรยึดติดกับการขายสินค้าแบบเดิม ทุกอย่างสามารถพลิกแพลงได้ สิ่งสำคัญคือต้องรู้จัก เข้าใจ และอ่านใจลูกค้าให้ออกว่าพวกเขาต้องการอะไร

เช่นเดียวกับคุณกล้า ที่มองว่า การปรับตัวให้เร็วที่สุดคือทางรอดของธุรกิจร้านอาหาร

“ผมคิดว่าเราต้องทำตัวเองให้เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ใครเปลี่ยนได้เร็วกว่า คนนั้นมีโอกาสรอดมากกว่า แล้วก็อ่านสถานการณ์ให้ออก ตามข่าวตลอดเวลา ติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา ใครประเมินสถานการณ์ได้เร็วกว่า ใครไหวตัวได้เร็วกว่า คนนั้นมีโอกาสรอดมากกว่า” คุณกล้ากล่าว

ด้านคุณปีติกล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้ทำให้เขาเห็นอย่างชัดเจนถึงความยากลำบากในการทำธุรกิจในประเทศไทย

“เราอยู่ในสิ่งแวดล้อม หรืออยู่ในประเทศที่มันทำธุรกิจยาก บรรยากาศโดยรวมมันไม่เอื้อให้เกิดการทำธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง เพราะฉะนั้น จะทำอะไรต้องระวังมากๆ เป็น 2 – 3 เท่า ต้องนิ่งมากๆ ใจเย็น แต่ตอนนี้เราขออยู่ในโหมดที่นิ่งดีกว่า คือไม่โลภแล้ว ไม่ใจร้อนแล้ว ไม่กลัวว่าเดี๋ยวลาภก้อนนี้จะหายไป คิดแบบนี้น้อยลงมาก วิธีทำธุรกิจในประเทศไทยต้องเป็นแบบนี้ครับ ขอดู 2 – 3 ปีนี้ ถ้าประเทศนี้ไม่มีอะไรดีขึ้น ก็ต้องคิดใหม่หมดเลย” คุณปีติทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook