ผู้บริหารแบงก์ชาติ ขอเคลียร์ผ่านโหนกระแส เผยมาตรการใหม่หวังช่วยลูกหนี้ยุคโควิด
รายการโหนกระแสวันที่ 18 พ.ค. 64 "หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย" ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 เปิดใจสัมภาษณ์ "วิเรขา สันตะพันธุ์" ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีแบงก์ชาติจะมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนเรื่องหนี้สินที่เพิ่มพูน คนตกงาน แต่บ้าน-รถยังต้องผ่อนในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่อย่างไร
คุณเก๋อยู่แบงก์ชาติ กำกับดูแลเรื่องราวธนาครต่างๆ นานา ที่ปล่อยกู้ไป เรื่องบัตรเครดิต วันนี้ในฐานะอยู่แบงก์ชาติ ได้เห็นเรื่องราวภาวะหนี้สินคนไทย ที่ไม่มีเงินไปจ่าย เพราะงานก็หด เงินก็หด?
"ต้องเรียนว่าผ่านมาปีกว่าๆ เราเผชิญปัญหาโควิดแบงก์ชาติเองมีศูนย์รับเรื่องไว้ว่าเวลาประชาชนมีเรื่องเดือดร้อน เราจะมีฐานข้อมูลในการติดตาม ดิฉันเองได้มาดูแลลูกหนี้รายย่อย รวมถึงวิธีช่วยเหลือลูกหนี้ และเราได้คุยกับเจ้าหนี้ว่าปัญหาเป็นอย่างไร เราก็รับทราบว่าลูกหนี้ทุกท่านมีปัญหาอุปสรรค"
แบงก์ชาติกำกับดูแลธนาคารในประเทศไทยทั้งหมด เป็นคำสั่งหรือขอความร่วมมือ?
"จริงๆ มีการออกหนังสือ เป็นการให้ทุกแบงก์ร่วมกันทำ ใช้คำว่าปกติเราไม่ได้สั่ง เราออกหนังสือเขาต้องปฏิบัติอยู่แล้ว เป็นการกำหนดนโยบายค่ะ
เรื่องบัตรเครดิต ประชาชนแทบไม่มีเงิน ต้องไปรูดบัตรรูดอะไรกัน งานก็ร่อยหรอ น้ำไฟต้องจ่าย ค่ากินต่างๆ นานา รูดบัตรต้องมีการชำระ แล้วจะยังไงตอนนี้ ระลอกแรกมีหารลด ธรรมดาผ่อนขั้นต่ำ 10% แต่ตอนหลังแบงก์ชาติกำหนด 5% ระลอกนี้มีโอกาสลดกว่านั้นอีกมั้ย?
"อันนั้นคืออัตราขั้นต่ำ เหมือนค่างวด ให้ใช้ 10% ของยอดที่รูด ตอนหลังเราลดลงมาเหลือ 5% แต่ก็ยังสูงอยู่ เราก็บอกว่าถ้าลูกหนี้ไม่ไหว ก็ให้ระยะเวลายาวกว่านั้นอีก 5% 20 งวด อันนี้ก็ขยายให้ยาวกว่าเดิมอาจจะเป็น 48 งวด หรือ 36 งวด ลูกหนี้ก็จะจ่ายต่องวดน้อยลง ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยจะน้อยลงด้วย เหลือแค่ประมาณ 12% จะช่วยลูกหนี้ในการเบาภาระค่างวดที่ต้องจ่ายต่อเดือน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ลดค่างวดคือยืดหนี้ ยืดระยะเวลาชำระหนี้และลดดอกเบี้ยลง จากปกติ 16% เหลือ 12%"
มากกว่านั้นไม่ได้แล้ว?
"ถ้าเกินกว่านั้นเราให้สถาบันการเงินช่วยพิจารณาลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ ลูกหนี้แต่ละรายจะมีปัญหาไม่เหมือนกัน บางคนเจอภาวะที่ยังไม่หนัก บางคนอาจจะหนักหน่วง ฉะนั้นมาตรการอันใหม่ที่ออกมา เราเฉพาะเจาะจง เพราะแต่ละรายไม่เหมือนกัน ปัญหาแต่ละคนไม่เหมือนกัน"
เรื่องการผ่อนบ้าน คนไม่มีเงินผ่อนเนื่องจากงานหดจะทำยังไง?
"สิ่งแรกอยากเรียนว่าเหมือนเราเป็นไข้เราต้องเดินไปหาหมอ เจ้าหนี้ก็เหมือนหมอ สิ่งสำคัญเราติดขัดอะไรต้องติดต่อเจ้าหนี้ แล้วไปบอกอาการเขาว่าเราไม่ไหวขนาดไหน ตอนนี้เรื่องบ้าน เจ้าหนี้เขามีหลายรูปแบบ มีตั้งแต่จ่ายค่างวดให้น้อยลง สองพักชำระเงินต้น จ่ายแค่ดอกเบี้ยเท่านั้นไปเรื่อยๆ ต้นก็ค้างไว้ก่อน แต่คำว่าถัดไปต้นยังไม่ได้ลด ก็คำนวณจากเงินต้นที่เหลืออยู่ ดอกขึ้นตามเงินต้นที่ค้างอยู่ มันเป็นการช่วยบรรเทาภาระหนี้ในช่วงระยะนึง กับค่างวดที่ต้องจ่าย"
10,000 ต้น 6,000 ดอก 4,000 แบงก์ชาติขอความร่วมมือ 4,000 จ่ายไปทุกเดือนๆ 6,000 คงค้างอยู่ แต่ 6,000 ดอกจะเพิ่มอีกมั้ย?
"ไม่ได้เพิ่มแล้วค่ะ ไปตามตารางที่กำหนด แต่ถ้าเงินต้นไม่ได้ลดอะไรเลยท้ายสุดจะมีการคำนวณดอกเบี้ยจากฐานเงินต้นที่ยังคงค้างอยู่ อาจเพิ่มขึ้นเพราะเงินต้นไม่ได้ลด แต่อย่างน้อยๆ แบงก์มีมาตรการ อันแรกเราบอกว่าจ่ายแต่ดอกอย่างเดียว เงินต้นพักไว้ก่อน ค่อยมาจ่ายทีหลัง ที่พักเอาไว้ไม่เสียดอกแล้วเพราะเสียไปแล้ว หรือบางทีอาจพักทั้งต้นและดอก กรณีนี้ดอกก็ยังเดินอยู่ ซึ่งถ้าลูกหนี้มีศักยภาพ แนะนำให้จ่ายต่อเนื่อง เพราะการพักแต่ดอกเบี้ยมันก็ยังเดินอยู่ ฉะนั้นมันก็เป็นภาระต่อไปในอนาคต เพียงแต่ว่าเจ้าหนี้มีหลายรูปแบบ อย่างที่ดิฉันเรียน พักแล้วไปจ่ายงวดสุดท้าย หรือลูกหนี้จ่ายดีมาตลอดก็อาจพิจารณาลดภาระหนี้ อีกอย่างบัตรเครดิต ถ้าลูกหนี้มีบ้านอยู่ด้วย ตอนนี่เราออกมาตรการว่าสามารถเอาหนี้บัตรเครดิตมารวมกับหนี้บ้านได้ อัตราดอกเบี้ยก็จะลดลงด้วย ถ้าเอามารวมกับบ้าน จะเสียอัตราดอกเบี้ยที่ 6 %ของเงินกู้ ก็จะยิ่งลดลงไปอีก แต่ต้องมีเจ้าหนี้บ้านกับบัตรเครดิตรายเดียวกัน อันนี้จะช่วยลูกหนี้ได้เยอะมาก"
ทุกธนาคารมั้ย?
"บางธนาคารเขาไม่ได้มีบัตรเครดิต อย่างธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งไม่ได้ทำเกี่ยวกับบัตรเครดิตโดยเฉพาะ ก็จะไม่มีโปรเจกต์รวมหนี้บ้านเกิดขึ้น"
ธนาคารที่ไม่มีบัตรเครดิต เขามีนโยบายช่วยเหลือ?
"มีค่ะ มีมากกว่านั้นอีก อย่างบ้านถ้าลูกหนี้จ่ายไหวจริงๆ ถึงที่สุดแล้ว อาจเอาบ้านมาชำระหนี้ หรือบางที่เขาช่วยลูกหนี้หาคนมาซื้อบ้าน เพื่อช่วยให้ลูกหนี้ลดภาระหนี้บ้าน หรือเปลี่ยนตัวลูกหนี้ก็ได้ จริงๆ มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้หลายกลุ่มมาก"
เรื่องดอก ถ้าปรับลดมากกว่านี้ หรือพักไปสัก 3 เดือน มีโอกาสเป็นไปได้มั้ย?
"จริงๆ มาตรการการพักเงินต้นและดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละคน"
ไม่คิดดอกเลยได้มั้ย?
"สถาบันการเงินเขารับเงินฝากจากประชาชนด้วย ถ้าไม่คิดดอก จะไม่มีเงินไปชำระดอกเบี้ยให้ประชาชนที่ฝากเงินด้วย เราต้องถ่วงดุลย์สองด้าน ด้านคนกู้เงินกับคนฝากเงิน"
ธนาคารรับเงินที่ชาวบ้านฝากมาและเอาเงินก้อนนั้นมาปล่อยให้กู้ โดยธนาคารมาเก็บดอกมาให้คนที่เขาฝาก?
"ถูกค่ะ ไม่เก็บดอกจึงเป็นไปไม่ได้ มันต้องถ่วงดุลทั้งสองด้าน ด้านผู้ฝากเงินกับธนาคารและผู้ที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อออกไป สองด้านต้องบาลานซ์กัน"
เรื่องรถ ผ่อนไม่ไหวก็คืนได้นี่คือยังไง?
"จริงๆ ปกติเวลาเราต้องผ่อนรถ ต้องไปคุยกับเจ้าหนี้ เจ้าหนี้จะลดค่างวดให้ แต่ถ้าลดค่างวดแล้วแต่ไม่ไหว ก็ขอพักไว้ก่อน สัก 3 เดือน ถ้าไม่ไหวอีกเจ้าหนี้เขาก็จะมีการคุยกันหลายรอบ อาจพักหลายครั้งแต่ถ้าถึงขั้นไม่ไหวแล้วจริงๆ ก็สามารถเอารถมาคืน การคืนรถเขาก็จะเอาไปตีราคาตลาด และดูว่าภาระหนี้เท่าไหร่ ราคารถเท่าไหร่ ถ้าภาระหนี้สูงกว่าภาระรถ จะเหลือภาระหนี้คงเหลืออยู่ก้อนนึง ก็ต้องไปคุยกันว่าที่เหลือจะมาชำระกันยังไง แต่ต้องมีผลกระทบรุนแรงจริงๆไฟแนนซ์ช่วยเหลือจนไม่ไหวแล้วนะคะ เขายังมีการช่วยอยู่ คือพักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ไม่ต้องจ่าย ประมาณ 3 เดือน แล้วแต่สถานการณ์แต่ละคน แล้วมาดูกันว่าจะชำระหนี้กันยังไง แต่ถ้าจ่ายไม่ไหวอีก ค่อยเอารถมาคืน. ถ้าตีราคารถสูงกว่าหนี้ สมมุติรถ 800,000 หนี้ 700,000 ก็จะคืนเงินให้ 100,000 ถ้ารถตีราคาน้อยกว่าหนี้ ก็ต้องมาดูตารางการชำระหนี้จะเอายังไงมาเจรจากัน แต่รถก็รับคืน แต่ต้องเป็นกรณีลูกหนี้ได้รับผลกระทบหนักและเคยคุยกับเจ้าหนี้มาหลายครั้งแล้ว ไม่ใช่อยู่ดีๆ เดินมาคืนรถ อันนี้ไม่ใช่ค่ะ ต้องมีการคุยกันหลายครั้ง ผ่านการพักชำระหนี้มาแล้ว"
การพักชำระหนี้ เป็นทุกไฟแนนซ์มั้ย?
"ขึ้นอยู่กับนโยบายและลูกค้า ไม่ได้ให้ลูกค้าทุกคนนะคะ เพราะความรุนแรงแตกต่างกัน ปัญหาแต่ละคนแตกต่างกันการพักชำระหนี้แค่หยุดชั่วคราวแต่ภาระเรายังอยู่ทางที่ดีนั่งคุยกับเจ้าหนี้แล้วบอกว่าเราพอจ่ายเท่าไหร่"
"ขอพูดให้ชัดๆ ว่าการเอารถมาคืน เขาจะเอารถไปประมูลว่าตลาดให้ราคาเท่าไหร่ ก็เอามาเทียบกันกับภาระหนี้ เมื่อกี้คำว่าราคาตลาดอาจสั้นไปนิดนึง เลยขยายความนิดนึงว่าคงเอารถไปประมูลขายในตลาด ได้ราคาเท่าไหร่ แล้วค่อยมาดูกัน"
มีนโยบายช่วยผู้ประกอบการยังไงบ้าง?
"เรื่องผู้ประกอบการ SME อันแรกเรื่องเกี่ยวกับสินเชื่อที่ให้ไปใหม่เพื่อเสริมสภาพคล่อง อันนี้มีสินเชื่อเรียกว่ามาตรการฟื้นฟูที่ให้อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5 % ระยะเวลาสามารถขยายได้ถึง 10 เดือน อันนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการมีเม็ดเงินมาใช้ในธุรกิจได้ สองโครงการแก้ไขหนี้เดิม ยกตัวอย่างโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว ก็ให้เอาตัวโรงแรมเป็นตัวประกันมาชำระหนี้แล้วขอเช่าโรงแรมกลับไปบริหารจัดการ เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ผู้ประกอบการก็ยังออกอยู่นะแต่ภาระหนี้จะลดน้อยลง ไม่ต้องมีภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในอนาคต เพราะได้ชำระด้วยโรงแรมไปแล้ว ก็จะลดภาระหนี้ปัจจุบันให้ลูกค้าได้"
พูดง่ายๆ เอาโรงแรมไปเข้าแบงก์?
"ใช่ แล้วเจ้าของโรงแรมสามารถเช่ากลับได้ คล้ายๆ จำนอง แต่อันนี้เอาโรงแรมมาชำระหนี้เลย ไม่มีหนี้เหลือแล้ว แทนที่แบงก์จะรับเป็นเงินสดก็รับเป็นโรงแรมแทน เหมือนเราชำระหนี้ด้วยสินทรัพย์ประเภทอื่น เจ้าของธุรกิจก็ยังทำต่อได้ด้วยการขอเช่าโรงแรมนั้นกลับไป แล้วเจ้าของกิจการก็จ่ายค่าเช่า อัตราค่าเช่าก็จะลดลง ตอนมาซื้อคืนก็ซื้อเท่ากับราคาที่ตีโอนเลย แล้วเอาค่าเช่านั้นมาหัก"
เหมือนรีไฟแนนซ์มั้ย?
"ถ้ารีไฟแนนซ์จะเปลี่ยนเป็นแบงก์อื่น แต่อันนี้เหมือนการปิดหนี้ เหมือนคืนรถใน 5 ปีข้างหน้ามาซื้อรถนั้นกลับ ซื้อโรงแรมนั้นกลับ เป็นการช่วยผู้ประกอบการ ลดภาระหนี้เงินต้น"
สมมติมีโรงแรม แล้วไม่ไหวแล้ว ไม่มีเงิน ต้องผ่อนโน่นนี่นั่น ผมก็เอาโรงแรมไปชำระหนี้ ไปเข้าแบงก์?
"ค่ะ และบอกแบงก์ว่าขอเช่าโรงแรมกลับเพราะจะบริหารจัดการโรงแรมให้ด้วย ตอนนี้มีระยะเวลาประมาณ 5 ปี อีก 5 ปีมาซื้อโรงแรมกลับ"
ซื้อในราคาต้นทุนแล้วเสียดอกอะไรมั้ย?
"ขายไปบวกอีก 1% มีดอก 1% ซึ่งน้อยมากค่ะ"
กรณีเป็นหนี้เสีย ถูกฟ้องร้องต่อศาล บางธนาคารไม่เจรจา หากไม่มีเงินก้อนไปจ่าย?
"สิ่งแรกที่ควรทำคือเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ ตอนนี้ศาลยุติธรรม รวมถึงกรมบังคับคดี และธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมมือกัน มีมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ สามารถเข้าช่องทางนี้ได้ จะมีการเจรจาคุยกับเจ้าหนี้เลยว่าจะมีการชำระหนี้อย่างไร รวมถึงคนเป็นหนี้บัตรเครดิต ค้างชำระเกิน 90 วัน ไม่ได้ชำระหนี้เลย ถ้าเป็นหนี้เสียและอยากมีการเจรจาหนี้ เราก็มีเครดิตแก้หนี้อีก จะมีกระบวนการช่วยเหลือตั้งแต่เป็นลูกหนี้ปกติจนถึงหนี้ที่บอกว่าถึงศาลแล้ว ก็ร่วมมือกันกับศาลยุติธรรมและกรมบังคับคดี"
เวลาไปทำจริงๆ มันไม่ได้?
"เรามีศูนย์รับเรื่อง ผู้ใช้บริการสามารถร้องเรียนมาได้ 1213 รับเรื่องไว้ มีอีกช่องทางนึงผ่านเว็บไซต์ แจ้งข้อมูลไปในเว็บไซต์ จะมีการประสานงานกับเจ้าหนี้ให้"
เรื่องกู้ธนาคารออมสิน เป็นนโยบายยังไง?
"เพิ่งออกมาใหม่ เรียกว่าสินเชื้อสู้ภัยโควิด-19 จริงๆ ไม่ได้มีแต่ธนาคารออมสิน ธกส.ก็ออกมาเหมือนกัน คือให้คนละไม่เกิน 1 หมื่น ไปกู้ได้ด้วยอัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ธนาคารออมสินคนกู้ได้ก็มีอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้ประจำ แต่ธนาคารออมสินเขาจะออกมาเป็นระยะๆ แต่ทั้งหมดต้องกู้ผ่านโมบายล์แอปพลิเคชัน"
ลูกค้าในพื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัดถึงกู้ได้?
"เป็นระยะก่อนค่ะ ระยะแรกเป็นเฟสแรกให้กู้สำหรับคนเดือดร้อนมากๆ พื้นที่สีแดง เฟสสองคือวันพฤหัสบดีนี้ก็กู้ได้หมดเลย เฟสสามลูกค้าอื่นๆ อันนี้ไม่ได้ดูที่เงินเดือน แต่ต้องไม่เคยเป็นหนี้เสียค่ะ ดอก 0.35 ต่อเดือน กำหนดระยะเวลา 3 ปีค่ะ แต่ละแบงก์ไม่เหมือนกันมีวิธีชำระหลายๆ รูปแบบ ต้องเป็นคนเข้าหลักเกณฑ์และเข้าเงื่อนไข ถ้าอยู่กัน 5 คนก็กู้ได้ทั้ง 5 คนค่ะ ระหว่าง 3 ปีชำระหนี้เป็นงวดๆ แล้วแต่เงื่อนไข ประมาณ 400-500 บาทเท่านั้น พวกออมสิน ธกส. เข้าเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ เรารวมทุกสินเชื่อช่วยโควิดไว้ให้"
อัลบั้มภาพ 14 ภาพ