ย้อนรอยกรณี “สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง” 19 พ.ค. 2553
การสลายการชุมนุมของกลุ่ม “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “กลุ่มคนเสื้อแดง” เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของไทย ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีผู้สูญเสียจากปฏิบัติการของรัฐเป็นจำนวนมากเท่านั้น แต่เหตุการณ์นี้ยังกลายเป็นบาดแผลเรื้อรังอย่างยาวนาน กลุ่มผู้ชุมนุมในเวลานั้นตกเป็นจำเลยสังคม ถูกตราหน้าว่าเป็น “พวกเผาบ้านเผาเมือง” ขณะที่ผู้สั่งการให้เกิดความรุนแรงไม่เคยต้องรับผิดชอบใดๆ
12 มีนาคม 2553 กลุ่มประชาชนสวมเสื้อสีแดงในนาม “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)” รวมตัวกันครั้งใหญ่ เพื่อเรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตย และขอให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน โดยปักหลักชุมนุมอยู่ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ก่อนจะเคลื่อนตัวไปยังแยกราชประสงค์ในวันที่ 27 มีนาคม 2553 หลังจากนั้น การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ ผู้ชุมนุมมีการใช้ยุทธศาสตร์ในการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการเทเลือดหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์และหน้าบ้านพักของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมถึงการใช้วิทยุชุมชนในการเผยแพร่ข่าวสารโจมตีรัฐบาล
10 เมษายน 2553 เกิดเหตุการณ์ “เมษาเลือด” เมื่อรัฐบาลประกาศใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 24 ราย หนึ่งในนั้นเป็นช่างภาพชาวญี่ปุ่น ทหารเสียชีวิต 5 นาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 800 คน
13 พฤษภาคม 2553 ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ยื่นคำขาดให้กลุ่มคนเสื้อแดงยุติการชุมนุม โดยใช้ปฏิบัติการ “กระชับพื้นที่” อย่างเต็มรูปแบบ บริเวณแยกราชประสงค์ โดยมีการประกาศเขตใช้กระสุนจริง พร้อมด้วยพลแม่นปืน และอาวุธสงครามอื่นๆ ต่อมาในวันเดียวกัน พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธ.แดง” หนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุม ถูกลอบยิงที่ศีรษะ และเสียชีวิต การเสียชีวิตของเสธ.แดง กลายเป็นสัญญาณเปิดฉากการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ส่งผลให้เกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารกับประชาชนอย่างต่อเนื่องนับแต่นั้นมา
18 พฤษภาคม 2553 ศอฉ. ประกาศให้ผู้ชุมนุมต้องออกจากพื้นที่แยกราชประสงค์ภายในเวลา 15.00 น.
19 พฤษภาคม 2553 เวลาเช้ามืด ทหารพร้อมรถหุ้มเกราะ กระสุนจริงและอาวุธสงครามครบมือ เข้าสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ สถานการณ์เต็มไปด้วยความสับสน มีรายงานข่าวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากการล้อมปราบและซุ่มยิง ประชาชนหลายคนหนีตายเข้าไปหลบในวัดปทุมวนาราม ซึ่งถูกประกาศไว้ก่อนหน้าว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย ทว่าภายหลังพบว่ามีผู้เสียชีวิตใน “เขตอภัยทาน” นั้น 6 คน ซึ่ง 3 ใน 6 คนนั้นเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ได้แก่ กมลเกด อัคฮาด, อัครเดช ขันแก้ว อาสาพยาบาล และมงคล เข็มทอง เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
ในวันเดียวกันนั้น แกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุมในที่สุด
นอกเหนือจากปฏิบัติการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชนต่างนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ “ชายชุดดำ” และการเผาสถานที่สำคัญต่างๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด จนนำไปสู่การเรียกกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงว่า “พวกเผาบ้านเผาเมือง” ขณะเดียวกัน ประชาชนในต่างจังหวัดต่างโกรธแค้นต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การประท้วงหน้าศาลากลางในหลายจังหวัด เช่น ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี มุกดาหาร ซึ่งบางจังหวัดมีเหตุการณ์เผาศาลากลาง และมีประชาชนถูกจับกุมตัวและดำเนินคดี
ต่อมา ในช่วงหัวค่ำของวันที่ 19 พฤษภาคม ศอฉ. ออกประกาศห้ามบุคคลใดๆ ออกนอกเคหสถานใน 23 จังหวัด เพิ่มเติมจากพื้นที่กรุงเทพฯ
23 พฤษภาคม 2553 คนดังและประชาชนทั่วไปในกรุงเทพฯ ร่วมกิจกรรม Big Cleaning Day เก็บขยะและล้างพื้นถนนบริเวณแยกราชประสงค์
10 ธันวาคม 2555 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ให้สัมภาษณ์รายการ BBC World News ทางสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ เกี่ยวกับบทบาทของเขาในช่วงการสลายการชุมนุมปี 2553 ตามด้วยประโยคอันเป็นที่จดจำว่า “...And unfortunately, some people died” หรือ “โชคไม่ดี มีคนบางส่วนตาย” อย่างไรก็ตาม แม้นายอภิสิทธิ์จะปฏิเสธว่าผู้เสียชีวิตในที่ชุมนุมเกิดจากฝีมือของทหาร แต่ก็ยอมรับว่ามีการใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุม
สำหรับความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อกรณีสลายการชุมนุมนั้น เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีคำร้องขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก โดยระบุว่า
“...ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน ยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม กับพวก ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผลแต่อย่างใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป...”
หลังจากโศกนาฏกรรมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม คนเสื้อแดงหลายคนถูกจับกุม คุมขัง และติดตาม เพื่อสร้างความหวาดกลัว รวมทั้งถูกประณามให้เป็นผู้ที่คิดร้ายต่อประเทศ หลายคนหยุดการเคลื่อนไหวทางการเมือง ขณะที่อีกหลายคนยังคงยึดมั่นตามแนวทางประชาธิปไตย จนกระทั่ง 10 ปีต่อมา คนเสื้อแดงกลับมามีบทบาทอีกครั้งในการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2563
ตัวเลขที่น่าสนใจจากการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553
- 117,923 คือจำนวนนัดของกระสุนที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการสลายการชุมนุม
- 3,000 คือจำนวนกระสุนสำหรับการซุ่มยิงที่กองทัพเบิกไป (2,120 คือกระสุนที่ใช้ และ 880 คือกระสุนที่ส่งคืน)
- 700,000,000 คืองบที่ตำรวจใช้กับกำลังพล 25,000 นาย
- 3,000,000,000 คืองบที่ทหารใช้กับกำลังพล 67,000 นาย
- 1,283 คือจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ
- 1,763 คือจำนวนผู้ที่ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมและถูกดำเนินคดี
- 94 คือจำนวนผู้เสียชีวิตจากรายงานของศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุม เม.ย. - พ.ค.53 (ศปช.)
- 92 คือจำนวนผู้เสียชีวิตจากรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
- 10 คือจำนวนเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิต
- 2 คือจำนวนสื่อมวลชนที่เสียชีวิต
- 6 คือจำนวนอาสากู้ชีพและอาสาพยาบาลที่เสียชีวิต
- 32 คือจำนวนผู้เสียชีวิตที่โดนยิงที่ศีรษะ
- 12 คืออายุของผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุด