รมว.ดิจิทัลฯ ลั่นทำทุกวิถีทาง เอานักเคลื่อนไหวในต่างประเทศ กลับมาดำเนินคดี
เวลา 11:30 น. ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ( ดีอีเอส ) กล่าวถึง การป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อช่วยกันตรวจสอบและแก้ไขปัญหาในเรื่องของข่าวกรองทั้งหมด ในช่วงเดือน เม.ย. จนถึง พ.ค. ที่ผ่านมา มีข่าวเท็จออกมาค่อนข้างเยอะ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง (Verify) ทั้งหมดจำนวน 683 เรื่อง
ได้รับการตรวจสอบแล้ว 348 เรื่อง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบแล้ว 160 เรื่อง แบ่งเป็น ข่าวปลอม 121 เรื่อง ข่าวจริง 15 เรื่อง บิดเบือน 24 เรื่อง นอกจากนี้ ได้ดำเนินการปิดกั้นข้อมูลที่เข้าข่ายการกระทำความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ โดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอปิดกั้น จำนวน 16 คำร้อง 349 URLs ศาลมีคำสั่งให้ระงับแล้ว 4 คำร้อง และเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล จำนวน 12 เรื่อง 256 URLs อีกทั้ง ได้ดำเนินการแจ้งเตือนแพลตฟอร์มให้ปิดกั้นข้อมูลตามคำสั่งศาล 35 คำสั่ง
ชัยวุฒิ กล่าวต่ออีกว่า อีกหนึ่งประเด็นหลักที่ตอนนี้ กำลังหารือ และ ถกเถียงกันอยู่ คือ เรื่องของแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ก และ ทวิตเตอร์ เพราะ ยังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายไทยกับทางบริษัทเฟซบุ๊ก และ ทวิตเตอร์ ได้ เพราะ บริษัทแพลตฟอร์มเหล่านี้ อยู่ที่ต่างประเทศ การใช้ข้อกฎหมายไทยกับทางแพลตฟอร์มเหล่านี้ จึงยังเป็นปัญหาอยู่เหลือเพียงแพลตฟอร์ม เหล่านี้ ที่กำลังพยายาม หาทางให้อยู่ภายใต้กฎหมายไทย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนการนำตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่อยู่ต่างประเทศ มารับโทษที่ไทย มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ชัยวุฒิกล่าวว่า ถ้าเป็นคนไทยในต่างแดน และมีความผิดในการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ทางกระทรวงดีอีเอสจะใช้ทุกช่องทาง ประสานงานกับต่างประเทศ ทำงานให้เต็มที่เพื่อนำตัวคนผิดกลับมารับโทษ ที่ดำเนินการไม่ใช่เพราะความเกลียดแต่อย่างใด แต่ลงโทษเพราะคนคนนั้นกระทำความผิด
เมื่อถามต่อว่า มีคำสั่งปิดกลุ่ม ย้ายประเทศ ในเฟซบุ๊ค เป็นคำสั่งของกระทรวงดิจิทัลหรือไม่ ชัยวุฒิ กล่าวว่า ตนไม่ได้ปิดกั้นเรื่องนี้ คนไทยหลายคนก็รักความสวยงามในต่างประเทศ และทางรัฐบาลก็ไม่ได้ขัดข้องเรื่องของกลุ่มนี้ เพียงแต่การแชร์ข้อมูลภายในกลุ่ม ต้องอย่าเป็นข้อมูลเท็จ และอย่าจาบจ้วงสถาบัน การตั้งกลุ่มเฟซบุ๊คเพื่อแชร์ข้อมูลเป็นสิทธิของทุกคนตามหลักประชาธิปไตย สามารถทำได้แต่ต้องแชร์ในข้อมูลที่เป็นจริง