ธนาธร ลั่นหากเป็นนายกฯ จะไม่อุ้ม "การบินไทย" ชี้ประยุทธ์รู้สึกสถานะการเมืองไม่มั่นคง

ธนาธร ลั่นหากเป็นนายกฯ จะไม่อุ้ม "การบินไทย" ชี้ประยุทธ์รู้สึกสถานะการเมืองไม่มั่นคง

ธนาธร ลั่นหากเป็นนายกฯ จะไม่อุ้ม "การบินไทย" ชี้ประยุทธ์รู้สึกสถานะการเมืองไม่มั่นคง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ธนาธร" ติงแผนฟื้นฟูการบินไทย รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อุ้มโดยมีความเสี่ยง เพื่อยื้อเวลาหลีกเลี่ยงการจัดการ ย้ำต้องแก้ให้ตรงจุด

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ระบุถึงกรณีการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย หลังเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ภายใต้หัวข้อ "ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรี จะไม่ตัดสินใจอุ้มการบินไทยแบบที่คุณประยุทธ์ทำ" ผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เจ้าหนี้ของการบินไทยได้ผ่านแผนฟื้นฟูกิจการ ตามที่ผู้ทำแผนได้เสนอเรียบร้อยแล้ว

ตนอยากบันทึกไว้ในที่นี้อีกครั้งว่า ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการฉบับนี้ จะทำให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง และหากเกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต ภาษีประชาชนจะต้องถูกนำไปอุ้มการบินไทยอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"ผมเชื่อว่าการที่รัฐบาลตัดสินใจให้แผนฟื้นฟูนี้ผ่าน ทั้งที่ไม่สมเหตุสมผลทางธุรกิจ ไม่มีการปรับโครงสร้างงบการเงินอย่างมีนัยสำคัญแบบที่สากลเขาทำกัน เป็นเพราะคุณประยุทธ์ รู้สึกไม่มั่นคงกับสถานะทางการเมืองของตนเอง จึงไม่อยากเผชิญหน้าใครเพื่อผลักดันแนวทางที่ควรจะเป็น คุณประยุทธ์กลัวเสียพันธมิตรและเสียคะแนนนิยมทางการเมืองของตน ในช่วงที่ประชาชนโกรธเคืองรัฐบาลมากอยู่แล้ว"

อุ้มโดยไร้แผนรองรับ

นายธนาธร ระบุอีกว่า ไม่มีที่ไหนเขาทำกันที่บริษัทขนาดใหญ่จะผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยยังคงมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินถึงประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เหตุผลสำคัญที่เจ้าหนี้และผู้เกี่ยวข้อง สนับสนุนแผนฟื้นฟูนี้ คือความเชื่อที่ว่าหาก "การบินไทย" เกิดปัญหาอีกในอนาคต รัฐบาลจะเข้ามาอุ้มการบินไทยต่อไปเรื่อยๆ

"ความคิดเช่นนี้จะไม่ทำให้เกิดการพัฒนา หรือนวัตกรรมขึ้นในการบินไทย การบินไทยจะยังเป็นเด็กที่ไม่รู้จักโต ไม่สามารถยืนได้ด้วยตัวเองในการแข่งขันระดับโลก รอคอยการช่วยเหลือจากรัฐตลอดเวลา"

แผนฟื้นฟูฉบับนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า การบินไทยที่ปรับโครงสร้างการบริหารรีดไขมันออก ในสถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้ว จะสามารถทำกำไรก่อนภาษีได้เฉลี่ยปีละ 1.8 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566-2578 ติดกันเป็นเวลา 13 ปี ซึ่งจะทำให้บริษัทล้างยอดขาดทุนสะสมได้หมด แต่ภาวะวิกฤตอาจเกิดขึ้นได้เสมอ และเพียงมีวิกฤตใดก็ตามอีกสักครั้งในช่วง 13 ปีนี้ การบินไทย อาจต้องเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการอีกรอบ และรอบหน้า อาจต้องใช้เงินภาษีประชาชนอุ้มการบินไทยมากกว่านี้

คาดการณ์แบบโลกสวย

ประธานคณะก้าวหน้า เตือนด้วยว่า อย่าลืมการคาดการณ์ว่าการบินไทยจะกำไรติดต่อกัน 13 ปี ปีละเกือบ 2 หมื่นล้าน ทันทีที่พ้นวิกฤตโควิด ก็ออกจะมองโลกในแง่ดีเกินจริงไปมาก เพราะในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2562 ซึ่งยังไม่มีโควิด การบินไทยยังขาดทุนไปแล้ว 4.1 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 8,200 ล้านบาท การแก้ปัญหาที่แก้เพื่อซื้อเวลา หลีกเลี่ยงการจัดการที่เจ็บปวดแต่จำเป็นเช่นนี้

กลุ่มที่ได้รับประโยชน์กลุ่มสำคัญคือ กลุ่มทุนธนาคารที่ใกล้ชิดกับคณะรัฐประหาร และเคยร่วมอยู่ในโครงการทุนประชารัฐ และคนที่เสียประโยชน์มากที่สุดคือ ประชาชนผู้เสียภาษีทั่วไป ที่ต้องนำเงินที่หายากอยู่แล้วในปัจจุบันไปค้ำประกันเงินกู้ให้กับการบินไทย และเสี่ยงที่จะต้องใช้เงินอนาคต อุ้มการบินไทยต่อไปอีกเป็นสิบปี ที่สำคัญกว่านั้น การดึงการบินไทยกลับเป็นรัฐวิสาหกิจ อาจส่งผลกระทบกับเสรีภาพการเดินทางของประชาชน

"การเปิดน่านฟ้าเสรีในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ค่าตั๋วเครื่องบินถูกลง ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการเดินทางมากขึ้น นอกจาก รถทัวร์ รถไฟ และรถส่วนตัว ทำให้ประชาชนหลายล้านคนสามารถได้ขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งแรก ลดเวลาการเดินทาง ประชาชนสามารถเดินทางค้าขายติดต่อธุรกิจได้อย่างว่องไวมากขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น และค่าใช้จ่ายน้อยลง การผลักดันให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจการบิน การเปิดน่านฟ้าเสรีจึงสำคัญกว่าการปกป้องการบินไทย"

นายธนาธร ระบุทิ้งท้ายว่า สถานการณ์เดินมาไกลมากแล้ว ความเห็นของตนในวันนี้คงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่หากผมเป็นนายกรัฐมนตรี จะอธิบายให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าใจว่าการยอมรับการเจ็บปวดในระยะสั้น แก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา เพื่อผลประโยชน์ของบริษัท และของประชาชนในระยะยาว ย่อมดีกว่าการเลี่ยงเผชิญหน้ากับปัญหาเช่นนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook