สรุปความเห็นในโลกออนไลน์ กับดราม่า “ดาราฉีดวัคซีนโควิด-19”
ขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้รับวัคซีนโควิด-19 และพร้อมที่จะกลับสู่สภาวะปกติ ประชาชนชาวไทยกลับยังคงเผชิญกับตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนหลักพันต่อวัน รวมทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีความหวังว่าวัคซีน “ม้าเต็ง” ที่รัฐบาลโฆษณาไว้จะเข้ามาช่วยกู้สถานการณ์ แต่ก็ดูเหมือนว่าความยุ่งยากจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากตัวเลือกวัคซีนที่มีอยู่น้อยเกินไป และผลข้างเคียงจากวัคซีนที่น่ากังวลไม่น้อย ประกอบกับการลงทะเบียนรับวัคซีนในแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยพร้อม ก็ยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลและสับสน จนหลายคนตัดสินใจว่าจะยังไม่รับวัคซีน จนกว่าจะมีการนำเข้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเข้ามา
“วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่เร็วที่สุด”
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นก็มีความพยายามสื่อสารและจูงใจให้ประชาชนฉีดวัคซีนกันมากขึ้น จนกระทั่งเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ศิลปินและนักแสดงชื่อดังหลายคนพากันโพสต์ภาพตนเองเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนมาฉีดวัคซีน ด้วยประโยคสุดไวรัลว่า “วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่เร็วที่สุด” ซึ่งดูเผินๆ เหมือนจะไม่มีอะไร แต่การที่ดาราเบอร์ใหญ่อย่าง เบิร์ด ธงไชย, ชมพู่ อารยา และอั้ม พัชราภา ที่น่าจะมีทุนทรัพย์มากพอที่จะเดินทางไปฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าในต่างประเทศ กลับพร้อมใจกันฉีดวัคซีนอย่าง “ซิโนแวค” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องประสิทธิภาพและผลข้างเคียง ก็ทำให้ชาวเน็ตตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเจตนาในครั้งนี้ ว่าเป็นการ “รับงาน” ประชาสัมพันธ์ให้กับรัฐบาลหรือไม่ กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ พร้อมแฮชแท็ก #ชมพู่อารยา #อั้มพัชราภา ในที่สุด
ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์กับ WorkpointTODAY เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขไม่เคยติดต่อดาราที่จะเข้ามาฉีดวัคซีนแต่อย่างใด
ท่ามกลางกระแสการตั้งคำถามดังกล่าว ก็ปรากฏว่า สุดา ชื่นบาน หรือ “แม่เม้า” นักร้องอาวุโส ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการเข้ารับวัคซีน โดยระบุว่าตนได้จองคิววัคซีนก่อน และได้รับการติดต่อจาก “คุณแหวว” ซึ่งเป็นพีอาร์ของหน่วยงานรัฐ ให้เข้ารับวัคซีนได้เร็วขึ้น และทำหน้าที่เป็นพรีเซนเตอร์เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปมาฉีดวัคซีน ตามด้วย บอม ธนิน ที่ทวีตว่าได้รับการติดต่อให้เข้ารับวัคซีนเช่นกัน แต่ตนขอสละสิทธิ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีนก่อน ยิ่งตอกย้ำให้ประชาชนเชื่อว่า การเชิญชวนของเหล่าดารานักแสดง เป็นการโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐบาล
นอกจากนี้ ความพยายามของเหล่าดารานักแสดงในการสนับสนุนให้ฉีดวัคซีนซิโนแวค ยังนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทของคนมีชื่อเสียง ในการเป็นตัวแทนของประชาชน และเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนในเรื่องการบริหารสถานการณ์โรคระบาด รวมถึงการจัดหาวัคซีนหลายยี่ห้อเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชน ทว่าที่ผ่านมา กลับมีคนดังเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เรียกร้องวัคซีนตามสิทธิในฐานะประชาชน ในขณะที่นักแสดง “ตัวแม่” ทั้งหลายไม่เคยแสดงออกทางการเมืองใดๆ แต่กลับออกมาโปรโมตวัคซีนที่มีปัญหาแทน
คนไม่พร้อมหรือวัคซีนไม่พร้อม?
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของเหล่าพรีเซนเตอร์วัคซีน แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยินดีที่จะรับวัคซีนอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอย่าง ชุมชนแออัด หรืออาชีพที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น คนขับรถโดยสาร เพียงแต่ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถรับวัคซีนได้ ไม่ว่าจะเป็นแอปฯ หมอพร้อม ที่หลายคนพยายามลงทะเบียนจองวัคซีนแล้ว แต่ไม่สามารถลงได้ เนื่องจากมีข้อความแจ้งว่า บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง จะสามารถลงทะเบียนได้ในวันที่ 31 พฤษภาคม และในบางกรณีพบว่าแอปฯ ล่ม จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า เหตุใดเหล่าคนดังจึงสามารถลงทะเบียนและรับวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและพร้อมเพรียงกัน
นอกจากนี้ ทุกวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และหาข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนแต่ละยี่ห้อได้ จึงต้องการตัวเลือกวัคซีนที่หลากหลายและเหมาะสมกับสภาพร่างกายของตัวเอง ประกอบกับวัคซีนซิโนแวค และแอสตราเซนเนกา ที่มีอยู่ตอนนี้ ก็มีปัญหาเกี่ยวกับประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อและผลข้างเคียง หลายคนจึงยังไม่ต้องการฉีดวัคซีนดังกล่าว เพราะนอกจากความเสี่ยงด้านร่างกายแล้ว ยังอาจกระทบถึงการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วยจากผลข้างเคียง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วย โดยที่รัฐยังไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยและมีมาตรการเยียวยาอย่างชัดเจน ในขณะที่ดาราและคนดังยังพอมีกำลังทรัพย์ในการเข้ารับการรักษาพยาบาลได้มากกว่า
ฉีดหรือไม่ฉีด เป็นสิทธิของทุกคน
อีกกระแสหนึ่งที่เกิดขึ้นในดราม่าครั้งนี้ คือการแสดงความคิดเห็นต่อการฉีดวัคซีนของพระเอกชื่อดังอย่าง ป้อง ณวัฒน์ โดยระบุในการสนทนาออนไลน์กับนักแสดงคนอื่นๆ ว่า การเลือกฉีดวัคซีนเป็นสิทธิของทุกคน
“ว่าคนเราทุกคนมีสิทธิในร่างกายของตัวเราเอง อันนี้เป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ พี่คิดว่านะ และเราจะเลือกฉีดอะไร เราไม่ฉีดอะไร เรามีสิทธิของเราทั้งนั้น มันเป็นเรื่องของเรา เพราะฉะนั้นแล้วแต่คนเหมือนกัน ว่าใครอยากจะฉีดไม่ฉีด"
กู้ศรัทธา ไม่ต้องให้ดาราโปรโมต
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องประชาชนไม่ยอมฉีดวัคซีนนั้น โตมร ศุขปรีชา นักเขียนและบรรณาธิการ เสนอว่า ควรกลับไปแก้ไขที่การทำงานและการสร้างความเชื่อมั่นของรัฐบาล และรัฐบาลต้องออกแบบระบบหรือกระบวนการฉีดวัคซีนให้ประชาชนคนทั่วไปมีความเสี่ยงน้อยลง รวมทั้งรับประกันว่า หากมีอาการแพ้วัคซีน จะได้รับการดูแลอย่างรอบด้าน ดังนั้น พรีเซนเตอร์ที่ดีที่สุดในกรณีนี้ คือผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วแพ้ แต่ได้รับการดูแลอย่างดี ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะมีการดูแลประชาชนอย่างเป็นระบบ
ด้านวีรพร นิติประภา นักเขียน เสนอว่า วัคซีนที่ดีคือวัคซีนที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันสูงสุด สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ และรัฐต้องชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา ในกรณีที่มีผลข้างเคียง รวมทั้งอาการแพ้หรือการเสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีน รวมทั้งรัฐยังมีหน้าที่ในการจัดหาวัคซีนให้หลากหลายตามสิทธิของประชาชน นอกจากนี้ รัฐบาลควรเลิกทำเหมือนประชาชนไม่มีความรู้ แต่ต้องสร้างความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น และทำให้ประชาชนร่วมมือให้ได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ดราม่าครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการสื่อสารของรัฐบาลที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ดังนั้น วิธีการแก้ไขปัญหานี้จึงไม่น่าใช่การนำดารามาเป็นพรีเซนเตอร์รณรงค์ แต่คือการนำข้อเท็จจริงมาสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาเลือกวัคซีนที่ตัวเองมั่นใจ และนำไปสู่การยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 ในที่สุด