จีนบริจาควัคซีน "ซิโนฟาร์ม" ให้ศรีลังกา 1.1 ล้านโดส

จีนบริจาควัคซีน "ซิโนฟาร์ม" ให้ศรีลังกา 1.1 ล้านโดส

จีนบริจาควัคซีน "ซิโนฟาร์ม" ให้ศรีลังกา 1.1 ล้านโดส
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มหาอำนาจโลกอย่างจีนเริ่มมีบทบาทมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในเอเชียท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้านของอินเดียที่ตอนนี้ประสบภาวะขาดเเคลนวัคซีน หลังสถานการณ์ในอินเดียทรุดหนักจนไม่สามารถส่งออกวัคซีนได้ตามสัญญา หนึ่งในประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือจากจีนคือศรีลังกา

โดยล่าสุด จีนได้บริจาควัคซีนต้านโควิด-19 "ซิโนฟาร์ม" ให้ศรีลังกามากถึง 1.1 ล้านโดส ทำให้รัฐบาลศรีลังกาสามารถเดินหน้าการฉีดวัคซีนต่อได้ โดยรัฐบาลศรีลังกาจะเดินหน้าซื้อวัคซีนจากจีนเพิ่ม รวมถึงวัคซีน "สปุตนิก วี" ของรัสเซียด้วย

ไม่เพียงแค่การให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีน ที่ผ่านมาจีนยังได้บริจาคสิ่งของที่จำเป็นให้กับศรีลังกา ไม่ว่าจะเป็นชุดป้องกันการติดเชื้อ PPE หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาจำนวนมาก จนทำให้หลายคนเรียกปรากฎการณ์นี้ว่าเป็น "การทูตหน้ากาก" ของจีน หรือ "Face Mask Diplomacy"

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าศรีลังกาเป็นประเทศที่ประชาชนให้ความร่วมมือกับการฉีดวัคซีนเป็นอย่างดีทุกครั้งที่เกิดโรคระบาดขึ้น การกระจายวัคซีนในครั้งนี้จึงไม่ยากนัก และผู้คนก็ไม่ลังเลใจที่จะรับวัคซีนเท่ากับหลายๆ ประเทศในภูมิภาค และแม้ว่าจะมีข้อกัลขาอยู่บ้างสำหรับคุณภาพและประสิทธิภาพของวัคซีนจากจีนและรัสเซีย แต่ด้วยการระบาดของโรคที่รุนแรงขึ้นและมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมมากขึ้น ประชาชนจึงตัดสินใจไปต่อคิวเข้ารับการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น รัฐบาลจีนยังได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับศรีลังกาเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจช่วงโรคระบาด แม้จะดูเป็นผลดีต่อประเทศและประชาชน หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าการให้ความช่วยเหลือที่ว่านี้มีแต่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับอิทธิพลจีนในภูมิภาคมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศรีลังกา เนปาล ปากีสถาน และบังกลาเทศ

กลุ่มประเทศดังกล่าวมีความสำคัญกับจีนอย่างมากในแง่ของเศรษฐกิจ เพราะนี่คือพื้นที่ที่รัฐบาลจีนต้องการพัฒนาโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ หรือ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ให้เกิดขึ้น เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งระดับโลกระหว่างเอเชียและยุโรป โดยจนถึงขณะนี้ จีนทุ่มงบประมาณ "หลายหมื่นล้านดอลลาร์" ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในศรีลังกาแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยเกิดความรู้สึกว่า "กำลังถูกขายชาติให้กับจีน" และพวกเขาไม่พอใจมากขึ้นไปอีก เมื่อท่าเรือแห่งหนึ่งที่ถูกสร้างโดยบริษัทสัญชาติจีนและกองทุน Hambantota ของจีน แต่ศรีลังกาไม่สามารถจ่ายเงินคืนได้ สุดท้ายท่าเรือแห่งนี้จึงถูกส่งมอบให้ทางการจีนอย่างเป็นทางการ ขณะที่นโยบายการสร้างเมืองใหม่ด้วยทุนจีนทางชายฝั่งโคลอมโบก็ยังดำเนินต่อไป

นี่คือส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า "String of Pearl" หรือ "สร้อยไข่มุก" ของจีนที่มีจุดประสงค์ในการปิดล้อมคู่แข่งใหญ่อย่างอินเดียด้วยการดำเนินนโยบาย "การทูต" กับประเทศเพื่อนบ้านของอินเดีย และหวังผลในการขยายแสงยานุภาพทางการค้าและการทหารผ่านท่าเรือน้ำลึก

อย่างไรก็ตาม ด้วยระดับของวิกฤตที่ "อินเดีย" กำลังเผชิญ นับเป็นการยากที่อินเดียจะลุกขึ้นมาต่อกร และนั่นกำลังเปิดโอกาสให้ "จีน" ขยายอำนาจและอิทธิพลต่อไป ขณะที่ศรีลังกาก็จำเป็นต้องพึ่งอุปกรณ์และวัคซีนจากจีนในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ทางเลือกอื่นดูเหมือนจะไม่มีความเป็นไปได้แม้แต่น้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook