รมว.ดิจิทัลฯ ท็อปฟอร์ม ไล่ลงดาบ "มือโพสต์ข่าวปลอม" รวมแล้ว 18 ราย

รมว.ดิจิทัลฯ ท็อปฟอร์ม ไล่ลงดาบ "มือโพสต์ข่าวปลอม" รวมแล้ว 18 ราย

รมว.ดิจิทัลฯ ท็อปฟอร์ม ไล่ลงดาบ "มือโพสต์ข่าวปลอม" รวมแล้ว 18 ราย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าวการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการเสนอข่าวอันไม่เป็นความจริง บิดเบือน โดย นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีกลุ่มผู้ไม่หวังดี โพสต์เสนอข่าวอันไม่เป็นความจริง เฟกนิวส์ ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือ บิดเบือนข่าวสาร สร้างความเข้าใจผิด ส่งผลให้เกิดความเสียหาย สร้างความตื่นตระหนกกับประชาชนและสังคมในวงกว้าง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการตามหมายค้นเป้าหมาย และติดตามตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้แล้ว 18 ราย แบ่งเป็น มีการดำเนินคดี 6 ราย และ ปฏิบัติการโดยอาศัยอำนาจตามข้อกำหนด (ฉบับที่1 ) ข้อ 6 ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จำนวน 12 ราย

สำหรับผู้กระทำความผิดที่อยู่ในกระบวนการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กระจายอยู่ในพื้นที่กรุงเทพ ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา โดยมีข้อมูลได้รับการตรวจสอบยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วว่า ข้อความโพสต์ของทั้ง 6 รายเป็นข่าวปลอม เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊ก สาวสกล… โพสต์ว่า “พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่วัดสังฆทาน จำนวน 300 ราย” ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Stanley… โพสต์ว่า “ศบค. ประกาศเคอร์ฟิว เวลา 23.00 – 04.00 น. พื้นที่สีแดง 18 จังหวัด”, ผู้ใช้เฟซบุ๊ก กะทิ… โพสต์ว่า “พบผลข้างเคียงรุนแรง เลือดออกในสมอง หลังจากฉีด วัคซีน Sinovac” โดยจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้โพสต์ข้อความทั้ง 6 รายข้างต้น ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 มีอัตราโทษ จำคุก ไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังได้ปฏิบัติการโดยอาศัยอำนาจตามข้อกำหนด (ฉบับที่1 ) ข้อ 6 ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อีก 12 จุด พบตัวผู้กระทำผิด 12 ราย เช่น 1.ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Thanapol… 2.ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Aom… 3.ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ธัญชนก… และ 4.ผู้ใช้เฟซบุ๊กแบงค์… โดยทั้ง 4 รายนี้ ได้โพสต์ว่า “สธ. ประกาศฉุกเฉิน ระวัง 35 พื้นที่สีแดง เสี่ยงโควิด-19″ ซึ่งทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่าเป็นข่าวปลอม และผู้ใช้ทวิตเตอร์ โพสต์ว่า”โรงพยาบาล Medpark เปิดให้ลงทะเบียน จองวัคซีน Moderna” ซึ่งทาง ศบค. แจ้งว่าเป็นข่าวปลอม เป็นต้น

สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 12 รายนี้ กระจายอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัดทั้งกรุงเทพ พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ราชบุรี อุดรธานี สกลนคร สุรินทร์ ระนอง ซึ่งผู้โพสต์ได้รับว่ากระทำผิดจริง จึงได้อาศัยอำนาจตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 1 ) ข้อ 6 ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ให้ผู้โพสต์ระงับ สั่งให้แก้ไขข่าว ผู้โพสต์จึงลบโพสต์ดังกล่าว และรับว่าจะไม่กระทำแบบนี้อีก อย่างไรก็ตาม รมว.ดีอีเอส กล่าวย้ำว่า อยากขอเตือนประชาชน ที่จะโพสต์ข้อมูลข่าวสารอันไม่เป็นความจริง หรือบิดเบือนทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เกิดความหวาดกลัว การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook