ราชกิจจาฯ เผยแพร่ พ.ร.ก.กู้เงินแก้ไขวิกฤตโควิดรอบใหม่ วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้าน
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกำหนดกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคโควิด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (25 พ.ค. 64) กระทรวงการคลังมีเวลาทำสัญญากู้ได้ภายใน 30 ก.ย. 65 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท
วันนี้ (25 พ.ค.) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ความว่า
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้
โดย พ.ร.ก.กู้เงิน ดังกล่าว มีทั้งสิ้น 9 มาตรา เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งยังไม่ยุติลง
ให้กระทรวงการคลัง โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี มีอำนาจกู้เงินบาท หรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้ ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงิน หรือออกตราสารหนี้ ภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565
ทั้งนี้ ยังระบุว่า ให้การกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้เป็นการกู้เงินตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และเงินกู้ตามพระราชกำหนดนี้ จะนำไปใช้เพื่อการอื่นนอกจากการดังต่อไปนี้มิได้
(1) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
แผนงานหรือโครงการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดนี้
การกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของรัฐในการชำระหนี้คืนประกอบด้วย ในกรณีจำเป็น คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้ปรับวงเงินกู้ที่กำหนดไว้ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดนี้เพื่อการตามมาตรา 5 (1) (2) และ (3) ก็ได้ แต่เมื่อรวมวงเงินกู้ทั้งหมดต้องไม่เกิน 5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ บัญชีแนบท้าย พ.ร.ก.กู้เงิน ดังกล่าว ประกอบไปด้วย 3 แผนงาน ดังนี้
- แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท โดยมีกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานของรัฐที่ ครม.มอบหมาย เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ
- แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้วงเงิน 3 แสนล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลัง และหน่วยงานของรัฐที่ ครม.มอบหมาย เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ
- แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลัง และหน่วยงานของรัฐที่ ครม.มอบหมาย เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ