พิสูจน์แล้วจากภูเก็ต! ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ลดการติดเชื้อได้ถึง 83.3%
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในที่ประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ว่า การควบคุมโรคโควิด 19 ในปอดอักเสบต่าง ๆ ในต่างจังหวัด ระบบสาธารณสุขสามารถค้นหาผู้ติดเชื้อ และผู้สัมผัสได้อย่างรวดเร็ว และมีการบริหารจัดการได้ดี
ตัวอย่างเช่น ที่จังหวัดเพชรบุรี สามารถสร้างโรงพยาบาลสนามได้อย่างรวดเร็ว มีการบริหารจัดการเตียงรับผู้ติดเชื้อ สำหรับเรื่องวัคซีน จะต้องฉีดเข็มแรกให้ครอบคลุม 70% ของประชากร ภายในเดือนตุลาคมนี้
สำหรับการฉีดวัคซีนที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจการท่องเที่ยวนั้น ขณะนี้ มีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 22% และได้รับเข็มแรกแล้ว 45% ของประชากรในจังหวัดภูเก็ต
จากการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวค ต่อโอกาสการติดเชื้อโควิด 19 โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ครบระยะเวลากักตัว 14 วัน ในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 1,366 ราย พบว่า กลุ่มที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคอย่างน้อย 1 เข็ม จะมีประสิทธิผลในการลดโอกาสการติดเชื้อ 73.1% ส่วนกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ลดโอกาสการติดเชื้อ 83.3%
นอกจากนี้ ได้ศึกษาในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 386 ราย (ผู้ป่วยโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต 237 ราย และผู้ป่วยโรงพยาบาลสนาม 149 ราย) พบว่า ผู้ติดเชื้อที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม จำนวน 6 ราย ทุกรายไม่พบภาวะปอดอักเสบ
ส่วนผู้ติดเชื้อหลังได้รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 31 ราย มี 4 รายที่มีภาวะปอดอักเสบ คิดเป็น 12.9% ซึ่งความชุกของการเกิดปอดอักเสบ ในกลุ่มนี้ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน รวมทั้งในเดือนพฤษภาคม 2564 (ข้อมูล ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2564) จังหวัดภูเก็ต ไม่พบผู้ป่วยโควิด 19 รายใหม่ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว
ข้อมูลการศึกษานี้ แสดงให้เห็นว่า การได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มตามแผนการฉีดวัคซีน สามารถลดการติดเชื้อได้ถึง 83% และลดความรุนแรงกรณีที่มีการติดเชื้อได้ดี สำหรับผู้ที่ฉีดเข็มเดียวยังพบติดเชื้อมีอาการรุนแรงอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก จึงยังคงต้องระมัดระวังแม้จะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ทั้งการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล