ครม.อนุมัติงบกลาง 311 ล้านบาท แก้โควิดในเรือนจำ สร้าง รพ.สนาม 12 แห่ง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณจากงบกลาง แก้โควิดในเรือนจำ 311 ล้านบาท ซื้อชุดตรวจเพิ่ม 1 แสนชุด สร้าง รพ.สนามรองรับ 12 แห่ง ก่อสร้างและปรับปรุงห้องกักโรค 65 แห่ง และซื้ออุปกรณ์ป้องกันโรค นอกจากนี้ยังอนุมัติให้สิทธิหลักประกันสุขภาพแก่ผู้ต้องขังที่มีปัญหาสถานะบุคคลกว่า 16,000 คน
ในการประชุมคระรัญมนตรีเมื่อวันที่ 25 พ.ค. คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มีการอนุมัติงบประมาณรายการค่าใช้จ่ายในการแก้ไขป้องกันโรคโควิด ภายในเรือนจำ จากงบกลางรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นจำนวน 311,650,300 บาท สำหรับการคุมควบการระบาดภายในเรือนจำทั่วประเทศ
ภายในกรอบวงเงิน 311,650,300 บาท นี้ ครม. ลงมติให้เป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ จำนวน 5 รายการ ประกอบด้วย
1) ค่าชุดตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) แบบ RT PCR จำนวน 100,000 ชุด เป็นเงิน 80,000,000 บาท
2) ค่าก่อสร้างโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยวิกฤตในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 2 แห่ง เป็นเงิน 51,967,200 บาท
3) ค่าก่อสร้างโรงพยาบาลสนามประจำเขตกลุ่มเรือนจำและทัณฑสถาน จำนวน 10 แห่ง เป็นเงิน 92,680,000 บาท
4) ค่าก่อสร้างและปรับปรุงห้องกักกันโรคประจำเรือนจำและทัณฑสถาน จำนวน 65 แห่ง เป็นเงิน 49,835,500 บาท
5) ค่าวัสดุ อุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในเรือนจำและทัณฑสถาน เป็นเงิน 37,167,600 บาท
ทั้งนี้ การจัดหายาฟาวิพิราเวียร์สำหรับผู้ติดเชื้อนั้น ขอให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติ โดยขอรับการสนับสนุนยาดังกล่าวจากกระทรวงสาธารณสุขโดยตรงและเร่งด่วน รวมทั้งเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเท่าที่จำเป็นอย่างเหมาะสม เพื่อทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติว่าด้วย ข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดระบบบริการและระบบประกันสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังที่มีปัญหาสถานะบุคคลและต่างด้าวในเรือนจำ โดยอนุมัติหลักการให้จัดระบบหลักประกันสุขภาพ สำหรับผู้ต้องขังที่มีปัญหาทางสถานะบุคคลและต่างด้าว จำนวน 16,000 คน [จำนวนกลุ่มผู้ต้องขังดังกล่าวมีจำนวนจริง 19,506 คน ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 3,506 คน ยังมีความคลาดเคลื่อนทางทะเบียน] โดยให้มีการลงทะเบียนเพื่อเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพ พร้อมกับเสนอให้มีงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้าถึงบริการสุขภาพตามชุดสิทธิประโยชน์ ในอัตราเทียบเท่ากับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ปัจจุบันสิทธิในระบบดังกล่าวคิดค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 3,719.23 บาทต่อผู้มีสิทธิ) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ โดยให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้จัดระบบดังกล่าวไปพลางก่อน
สำหรับงบประมาณในการดำเนินการ ค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 13.71 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีต่อ ๆ ไป ขอให้ สธ. ใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ (เงินบำรุงโรงพยาบาล) เป็นลำดับแรกก่อน เพื่อช่วยลดภาระงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด หากไม่เพียงพอขอให้พิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณไปดำเนินการ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
โดยให้ ยธ. เป็นหน่วยงานหลักหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดแนวทางในการจัดระบบบริการและประกันสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังที่มีปัญหาสถานะบุคคลและต่างด้าวในระยะยาวให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรม และให้ ยธ.ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดแนวทางในการตรวจสอบและยืนยันตัวตนของผู้กระทำความผิดให้ถูกต้อง ชัดเจน รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีที่ไม่สามารถยืนยันตัวตนของผู้กระทำความผิดได้ด้วย